สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงพลังงาน ระงับและพิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่า Ft พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์ เพื่อสนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้า
จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ เมื่อนำค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกที่ 3.76 บาทต่อหน่วย จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าโดยรวมมากถึง 4 บาทต่อหน่วยนั้น
วันนี้ (21 มีนาคม 2565) รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สอบ. พร้อมกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกเดินทางไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นข้อเสนอต่อสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.กระทรวงพลังงานให้ระงับและพิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่า Ft รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์ เพื่อสนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้า ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ และดำเนินนโยบายด้านพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาล
สำหรับข้อเสนอที่ สอบ. ยื่นต่อ รมว.กระทรวงพลังงาน มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้ยับยั้งและทบทวนการคิดค่า Ft ใหม่โดยด่วน โดยให้ดำเนินดังนี้
1.1 ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4.00 บาทต่อหน่วย ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่ากับโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ประมาณ 8,860 ล้านบาทต่อปี
1.2 ปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้อยู่ที่ร้อยละ 1.75 ซึ่งใกล้เคียงกับเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
1.3 ควรกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อไว้ที่ 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดค่าประสิทธิภาพที่ร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ถึง 587 ล้านบาทต่อปี
1.4 ให้ปรับโครงสร้างราคา Pool Gas ใหม่ โดยนำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ราคา Pool Gas ลดลง และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี
2. ขอให้สนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยขอให้ดำเนินการดังนี้
2.1 จากเดิมกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ให้เปลี่ยนเป็นระบบเน็ตมิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย เพื่อไม่ให้การไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเป็นภาระในการเปลี่ยนหรือเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้า
2.2 ให้ขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 ปี เป็น 20 – 25 ปี หรือตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
2.3 ให้จัดหาแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง
3. ขอให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ออกไป และการดำเนินการเพื่อการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงด้วย
4. การดำเนินนโยบายด้านพลังงานและการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ขอให้ตระหนักถึงความมีธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด และต้องไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
รสนา ระบุว่า คณะอนุกรรมการด้านพลังงานฯ สอบ.ติดตามศึกษาสถานการณ์ปัญหาราคาพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของประเทศ ไม่ได้มีปัจจัยจากภาวะสงครามหรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นแต่เพียงที่หน่วยงานด้านพลังงานกล่าวอ้างเท่านั้น
รสนา กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ประชาชนต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพง มาจากปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ปัจจัยแรก คือ การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ทำให้เกิดปัญหาการสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น หรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ เห็นได้จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,136.4 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2562 – 2564 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หมายความว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น
ปัจจัยต่อมา คือ ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or Pay) ประมาณการว่าที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย โดยคาดว่าค่าภาระไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
ปัจจัยที่ 3 คือ การที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้มีการผ่องถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแทน ตามประมาณการค่า Ft ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 ค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4 บาทต่อหน่วย มีปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อมากถึง 18,014 ล้านหน่วย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 73,261 ล้านบาท นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้งหมด โดยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมด 155 โรง มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากถึง 76 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 6,200 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของกำลังผลิตไฟฟ้า SPPs ทั้งหมด ขณะที่โรงไฟฟ้า SPPs พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ 74 โรง แต่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันเพียง 2,868.4 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 30 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกลุ่ม SPPs เท่านั้น
ปัจจัยที่ 4 คือ ประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทย ที่มีราคาต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา Pool Gas หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากประเทศเมียนมา และ LNG ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการ และค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่มีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้น ที่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ ที่ไม่ต้องไปรวมในราคา Pool Gas จึงเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำ และไม่มีการร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับประชาชน
และปัจจัยสุดท้าย คือ รัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลยังรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาวเข้ามาอีก 2 โรง คือ เขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบาง มีอัตราค่าไฟฟ้า 2.8432 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบง อัตราค่าไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของ กฟผ. ที่ 2.56863 บาทต่อหน่วย ซึ่งอาจมองได้ว่า ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายให้กับ 2 เขื่อนนี้จะเป็นภาระค่า Ft ของประชาชนในประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงการเขื่อนทั้ง 2 และเขื่อนอื่น ๆ ยังมีปัญหาการร้องเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการอยู่อาศัยของประชาชนไทย และลาวตามมาอีกด้วย
ทั้งนี้ อัตราค่า Ft ที่จะเรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วยดังกล่าว ยังมิใช่อัตราค่า Ft ทั้งหมดที่จะถูกเรียกเก็บ เพราะผลการคำนวณค่า Ft ที่ กกพ.พิจารณาไว้แล้วมีค่าอยู่ที่ 129.91 สตางค์ต่อหน่วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thairath.co.th/business/economics/2344407) โดยคาดว่าจะมีการทยอยนำไปปรับขึ้นค่า Ft ต่อไปอีกในอนาคต