“มีข้อมูลจากงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติ หากสามารถเตือนภัยได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะลดความเสียหายได้ทันที 30% และถ้ามีระบบเตือนภัยควบคู่กับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การจัดการในภาวะฉุกเฉินจะทําให้ความเสียหายลดลงไปมากกว่า 50%”
นับตั้งแต่น้ำท่วม ปี 2554 ผ่านมา 13 ปี ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติอีกหลายครั้ง ทั้งน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก กราดยิง ฯลฯ และแต่ละเหตุการณ์สร้างความสูญเสียต่อชีวิตรวมถึงทรัพย์สินของประชาชนจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อลองสกัดข้อมูลและมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหา เราจะพบว่า ‘การเตือนภัยก่อนเกิดเหตุ’ และแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ ‘รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบและทันท่วงที’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสียหายและความสูญเสียเหล่านี้ได้
แต่แล้วเรากลับพบว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริง แม้กระทั่งการกราดยิงในห้างกลางกรุงอย่างพารากอน กลับพบเพียงการเตือนภัยกันเองผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และข้อมูลจากสำนักข่าว ไม่มีใครได้รับข้อความเตือนภัยจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย
10 ปี ผ่านไป ‘ระบบแจ้งเตือนภัย’ ยังไม่เกิด
ในงานเสวนา ‘ผลักดันระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย กรณีตัวอย่างน้ำท่วม’ จัดโดยสภาผู้บริโภค สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เล่าว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องมายาวนานกว่า 10 ปีให้มีการทําระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเอสเอ็มเอสเตือนภัยในพื้นที่ สภาผู้บริโภค เคยทําข้อเรียกร้องในเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัย ‘ไทยอเลิร์ท (Thai Alert) ส่งไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แม้จะเห็นความคืบหน้าอยู่บ้างแต่ก็มีข้ออุปสรรคค่อนข้างมาก ปัญหาใหญ่คือการไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก การทำงานแบบแยกส่วน ‘ต่างคนต่างทำ’ จึงมีข้อมูลจำนวนมากที่ส่งไปหาประชาชนทำให้เกิดความสับสน และยังมีประชาชนบางส่วนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านั้นด้วย
“น้ำท่วมล่าสุดเราจะเห็นว่าภาคประชาชนมีการลุกขึ้นมาเตือนกันเอง ส่งข้อมูลต่อกันทางสื่อออนไลน์ ข้อดีเข้าถึงคนได้เร็ว แต่ข้อเสียในสถานการณ์ที่รุนแรง ถ้าไม่มีการรวมศูนย์ที่ชัดเจนก็อาจจะทําให้เกิดความสับสน ข้อมูลจริงข้อมูลเท็จ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะแนวทางของรัฐบาลไม่จริงจังกับเรื่องนี้ใช่หรือไม่ ทุกหน่วยงานมีข้อจำกัด มีปัญหาการทำงานแบบไซโล (ทำงานเป็นแท่ง) ไม่ได้บูรณาการกัน”
สุภิญญา ยังสะท้อนเปรียบเทียบการส่งเอสเอ็มเอสเตือนกับเวลาเป็นเอสเอ็มเอสจากมิจฉาชีพ ส่งไวส่งเร็ว แต่ว่าเป็นการเตือนภัย ส่งช้า และมีการพูดเรื่องต้นทุนว่าใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ
ทั้งนี้ กสทช. ชุดปัจจุบันก็อาจจะขาดเจตจำนงทางการมือง (Political will) ที่จะทําเรื่องนี้ จึงไม่เห็นความพยายามจะผลักดันนโยบายสาธารณะหรือความกระตือรือร้นในการทำตามข้อเสนอแนะของภาคประชาชน
“ทุกวันนี้ การเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ กับ กสทช. เหมือนร้องชนกําแพง “เหมือนเขาไม่ได้ยิน ไม่นำไปปฏิบัติ” แต่เมื่อไปเรียกร้องกับฝ่ายบริหารฝ่ายบริหาร สุดท้ายก็ต้องวนกลับมาที่องค์กรอิสระ อะไรที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมหรือ กสทช. จึงเรียกได้ว่า ‘ไปไหนไม่ได้’ ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่รวมถึงข้อเสนอในการป้องกันมิจฉาชีพ การทําระบบคอลเลอร์ไอดีเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ด้วย”
ยิ่งระบบเตือนภัยแย่ ยิ่งสูญเสียมาก
อาภา หน่อตา ศูนย์สิทธิผู้บริโภค อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สะท้อนถึงปัญหาที่ต้องเผชิญในช่วงน้ำท่วมว่า ปี 2567 อำเภอแม่สายน้ำท่วมไปแล้ว 8 ครั้ง และท่วมครั้งสุดท้ายระดับน้ำสูงมากและกระแสน้ำเชี่ยวทำให้มีปัญหาเรื่องโคลน และทรัพย์สินเสียหาย
เธอสะท้อนให้เห็นถึงระบบการเตือนภัยในพื้นที่ มาจากแหล่งข่าวจากในไลน์ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่เนื่องจากคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สายส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ บางคนไม่เข้าถึงข้อมูลที่แจ้งเตือน และมีอุปสรรคเรื่องภาษา ขณะเดียวกันแม้บางหมู่บ้านมีการประกาศเสียงตามสาย แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกจุด ทุกหมู่บ้าน
“ปกติในไลน์และเสียงตามสายจะมีเตือนเป็นระยะ แต่ละหมู่บ้านประกาศของใครของมัน แต่ไม่มีการแจ้งเตือนว่าท่วม ท่วมแค่ไหน ชาวบ้านจะช่วยกันพูดปากต่อปาก ปีนี้เก็บของสูงมากกว่าปกติ แต่ก็ยังท่วมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และท่วมเร็วมาก เนื่องจากทางน้ำเปลี่ยน ทำให้การประกาศเสียงตามสายไม่ทันท่วงที เพิ่งประกาศหลังจากท่วมแล้ว ในขณะที่กลุ่มไลน์มีข้อมูลจำนวนมากที่ประชาชนเตือนกันเอง จนไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จ” นางสาวอาภา ชี้ให้เห็นถึงปัญหา และว่า หากมีการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที และให้ข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งการเตือนวันเวลา ปริมาณน้ำ และแนวปฏิบัติ ก็จะทำให้ประชาชนสามารถป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้
เช่นเดียวกับ สมชาย นิยมราช ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตวังทองหลาง ในฐานะประชาชนและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของเขตวังทองหลาง เล่าย้อนไปช่วงเหตุน้ำท่วมปี 2554 แม้จะทราบเบื้องต้นว่าจะมีการผันน้ำลงคลองต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ และสิ้นสุดที่คลองแสนแสบ แต่ไม่มีข้อมูลจากรัฐบาลในเรื่องปริมาณน้ำ ความแรงของน้ำ และความสูงหากเกิดน้ำท่วม มีแต่ข้อมูลที่ภาคประชาชนที่ประสานกันทางไลน์ทำให้พอจะกะเกณฑ์ได้อยู่บ้าง ซึ่งสะท้อนว่าการบริหารจัดการน้ำจากภาครัฐและกทม. ยังไม่มีระบบในการประสานงานเท่าที่ควร นอกจากปริมาณน้ำแล้ว ยังพบปัญหาเรื่องขยะ สิ่งของที่กั้นขวางทางน้ำที่จะดูดลงอุโมงค์ยักษ์บริเวณเขตวังทองหลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ
หลังน้ำท่วมปี 2554 ภาคประชาชนทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ นำเครื่องมือที่ทําด้วยท่อพีวีซีทดลองติดตามท่าเรือคมนาคมในคลองแสนแสบทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสังเกตและรู้ตัวเมื่อต้องอพยพ ขณะที่กทม. ก็มีการสร้างแนวเขื่อนเสริมเพื่อป้องกันน้ำที่จะมาจากหลาย ๆ ด้าน และติดตั้งระบบการสูบน้ำแบบไฟฟ้าบริเวณริมคลองทั้งหมด ทำให้สามารถสูบน้ำจากในเมืองเข้าสู่คลองแสนแสบทำได้รวดเร็ว แต่ปัญหางในช่วงคลองแสนแสบมีปริมาณน้ำมาก
สมชาย มองว่า สํานักระบายน้ำก็ยังห่วงการเดินเรือ ไม่ปล่อยน้ำลงคลองแสนแสบเต็มที่ ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดเหนือกทม.รวมถึงคนกทม. ต้องอยู่กับน้ำท่วมในระยะเวลาที่นานขึ้นเนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว
จัดการภัยพิบัติ ควรดึงกองทัพเข้ามาร่วม
ด้านสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา แสดงความเห็นว่า หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แต่ไม่มั่นใจว่าปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ในสถานะอะไร ทำไมจึงแทบไม่มีบทบาทในภัยพิบัติครั้งนี้ เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เตือนภัยคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งหลังจากที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากก็เริ่มมีการส่งเอสเอ็มเอสเพื่อเตือนภัย แต่เป็นการส่งเอสเอ็มเอส
แบบปกติที่ล่าช้า
“เมื่อฟังคำชี้แจงของ ปภ. ทำให้ทราบว่า ปภ. ได้คุยกับผู้ให้บริการค่ายมือถือ และ กสทช. มีการเรียกประชุมเรื่องนี้แล้ว ซึ่งระบบเซลส์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) คาดว่าจะใช้งานได้ประมาณต้นปี 2568”
สมบัติ ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เชียงราย กองทัพไทยมีบทบาทสูงมากโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่คิดว่าเป็นกลไกสําคัญตั้งแต่แม่สายเกิดน้ำท่วมวันแรก และเป็นผู้ที่ประสานหน่วยซีล เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพอากาศเข้ามาช่วยในการฟื้นฟูช่วยเหลือจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่ากองทัพจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ อีกทั้งอาจจะมีวิธีการเตือนภัยในรูปแบบอื่น ๆ
“เรื่องการจัดการภัยพิบัติควรดึงกองทัพเข้ามาเป็นหนึ่งในองค์กรหลัก เพื่อพูดคุยว่าบทบาทในการช่วยเหลือและดูแลภาพรวมของการจัดการภัยพิบัติต้องอยู่ที่ใคร”
ขณะที่รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า เมื่อดูระบบการบัญชาการเหตุการณ์และการบูรณาการในช่วงน้ำท่วมจะพบปัญหาคือ ‘คนที่มีอํานาจเตือนไม่มีข้อมูล คนที่มีข้อมูลไม่มีอํานาจเตือน’ และเมื่อมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในทางปฏิบัติทำงานได้ยาก เพราะแต่ละหน่วยงานมีเจ้ากระทรวงซึ่งสังกัดคนละพรรคการเมือง มีกฎหมายเป็นของตัวเอง เมื่อต้องเตือนภัยก็มีข้อมูลของตัวเองและต่างคนต่างเผยแพร่ จนบางครั้งเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
ในต่างประเทศจะใช้ระบบเตือนภัยแบบเอ็นทูเอ็น (End to End) ประกอบด้วย 4 องค์กรประกอบ คือ 1.การให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของภัยพิบัติกับชุมชน 2. เฝ้าระวังและเตือนภัย 3. การสื่อสารและกระจายข่าวก่อนและเมื่อเกิดภัยพิบัติ และ 4. ประเมินความสามารถในการตอบสนองของชุมชน แต่ปัจจุบันการเตือนภัยของประเทศไทยมีเพียงการเฝ้าระวังและเตือนภัยเท่านั้น และไม่ได้มีการออกแบบแผนการจัดการของชุมชนต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทใหญ่
“เรามีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปี 2564 – 2570 ที่เขียนครอบคลุมภารกิจในการจัดการภัยบัติ แต่ขาดการปฏิบัติตามแผน กรณีเชียงรายมีการซ้อมแผนอพยพอุทกภัยล่าสุดปี 2555 เมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงจึงวุ่นวายเนื่องจากทุกคนลืมไปหมดแล้ว” รศ.ดร.เสรี ระบุทิ้งท้าย และคาดการณ์ว่า มีโอกาสเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกในปี 2573 ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 5 – 6 ปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเติมเต็มและพัฒนาระบบการเตือนภัย
ข้อเสนอจากเวทีเสวนา ‘ผลักดันระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย กรณีตัวอย่างน้ำท่วม’ จัดโดยสภาผู้บริโภค
จัดการอย่างเป็นระบบ – สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน : แนวทางสู่ความสำเร็จการจัดการภัยพิบัติ
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติฯ แนะนำว่าหากต้องการประสบความสำเร็จในการจัดการภัยพิบัติต้องจัดการอย่างเป็นระบบและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน แยกระหว่างระบบเตือนภัยส่วนกลางกับของชุมชน ทำให้ชุมชนมีระบบเตือนภัยของตัวเอง เพราะคนในชุมชนจะมีข้อมูลเรื่องกลุ่มเปราะบาง รวมถึงเส้นทางอพยพในพื้นที่ ในทางกลับกันสิ่งที่ชุมชนต้องการคือองค์ความรู้ งบประมาณ และบุคคลากร ซึ่งส่วนกลางต้องเข้าไปสนับสนุนให้เข้มแข็ง
“การเตือนภัย มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ถ้าสามารถเตือนภัยได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะลดความเสียหายได้ทันที 30% และถ้ามีระบบเตือนภัยควบคู่กับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การจัดการในภาวะฉุกเฉินจะทําให้ความเสียหายลดลงไปมากกว่า 50% ขณะนี้รัฐบอกว่าเป็นอํานาจชุมชนแต่ไม่ได้ให้งบประมาณ ไม่ได้ส่งคน”
ทั้งหมดเกิดจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของระบบราชการที่ไม่มีการทำงานอย่างบูรณาการ จึงเป็นสาเหตุที่เสนอให้สร้างทำเกิดการบูรณาการในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการ หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะมีบทบาทเป็นประธานในหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่
ภาวะคับขัน ต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะ – มีข้อมูลที่ถูกต้อง
ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เสนอแนวทางการแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ
1. คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนในจุดที่มีการตรวจวัดที่ใกล้กับชุมชน ซึ่งเครื่องมีเหล่านี้มีอยู่แล้วแต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ฝนตกหนักจะได้สังเกตและเฝ้าระวังได้ นอกจากนี้ควรมีสัญญาณหรือการแจ้งเตือนเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวและรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องอพยพ
2. หาวิธีสื่อสารกับคนในชุมชนที่ใช้งานได้ในสภาวะที่ไฟดับหรือโทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ เนื่องจากช่วงที่ฝนตกหนักอาจทำให้ไฟดับและการใช้ไฟสำรองก็อาจอยู่ได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
3. ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ ให้มีเรื่องเกี่ยวกับชุมชนที่อาศัย ซึ่งต้องพูดถึง ความสูงต่ำของพื้นที่ สิ่งก่อสร้างที่อยู่บริเวณนั้น ๆ ‘ทำให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เรียนสนุก ใช้งานได้จริง’
“ต้องแยกกันระหว่าง น้ำหลากกับน้ำเอ่อ กรณีน้ำหลากต้องสังเกตจากเป็นปริมาณน้ำฝน แต่กรณีน้ำท่วมเอ่อของบริเวณที่อยู่ใกล้แม่น้ำต้องดูปริมาณน้ำในแม่น้ำ ตัวอย่างที่อุบลราชธานี อําเภอวารินชําราบ มีเหตุการณ์น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เขาจะมีเครื่องมีวัดระดับน้ำชาวบ้านจะรู้ว่าจะต้องดูเสาต้นไหน ระดับน้ำที่เท่าไหร่ แต่ละส่วนของแม่น้ำอาจต้องดูขีดที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องความสูงต่ำของพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน”
ศูนย์สิทธิผู้บริโภค อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มี 3 ข้อเสนอในการจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ
1. ขอให้มีระบบเตือนภัยจากส่วนกลาง อาจเป็นเสียงสัญญาณที่แตกต่างกันทำให้รู้ว่าท่วมไม่มาก หรือจะท่วมหนักมาก คล้ายกับการเตือนภัยเรื่องสึนามิ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนที่อยู่ตามถนน หรือหมู่บ้าน
2. ให้มีหน่วยงานเฉพาะที่จะรับมือเรื่องฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือเร่งด่วน
3. ข้อมูลที่ประกาศต้องมาจากแหล่งเดียวที่น่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
4. หลังจากเกิดภัยพิบัติและประชาชนได้รับความเสียหาย ควรมีหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องอาคารบ้านเรือนและในแง่ของจิตใจด้วย
พร้อมกันนี้ สนับสนุนให้มีการปลูกฝังความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ของชุมชน ปรับเปลี่ยนและออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ ให้เยาวชนเห็นปัญหาในพื้นที่ และปลูกฝังให้เกิดความรักชุมชน นอกจากนี้ควรสร้างความตระหนักรู้ให้ชาวบ้าน ในเรื่องการวางผังเมืองของพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำด้วย
ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตวังทองหลาง มีข้อเสนอเรื่องการเตือนภัยอย่างทันท่วงทีโดยใช้เครื่องมืองต่าง ๆ เช่น เตือนผ่านเอสเอ็มเอสหรือไลน์ และเมื่อเกิดน้ำท่วม หรือน้ำทะเลหนุน ขอให้เร่งผลักดันน้ำให้เร็วที่สุด ยกเลิกการเดินเรือทั้งหมดแล้วเร่งผลักดันน้ำให้ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกทะเลให้มากที่สุด
เจตจำนงทางการเมือง และการสนับสนุนจากรัฐเป็นเรื่องสำคัญ
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศฯ เสนอให้มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนสาธารณภัยระดับชาติ รวมทั้งกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น ออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย สภาผู้บริโภคเสนอเรื่องThai Alert ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยที่สามารถเตือนได้ในโดยเฉพาะในเหตุฉุกเฉินอย่างทันท่วงที โดยอาจจะไม่ได้ใช้แค่กรณีเกิดภัยพิบัติหรือน้ำท่วมเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาจเป็นไปในรูปแบบของการส่งเอสเอ็มเอสไปในมือถือของทุกคนที่อยู่บริเวณที่เกิดภัยขึ้น โดยไม่เลือกเครือข่าย รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย
จุดแข็งของประเทศไทยคือมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมาก สามารถช่วยเหลือกันได้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ แต่ในบางเรื่องภาคประชาสังคมไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เช่น การตัดสินใจว่าต้องเตือนภัยน้ำท่วมความรุนแรงระดับไหน อย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพัฒนาระบบเหล่านี้