จากปัญหาราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้ม ที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนในช่วงที่ผ่านมาก สภาผู้บริโภคโดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรเอกชนอีก 8 องค์กร จัดเวทีแถลงข่าว #ค่าไฟต้องแฟร์ : ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลใหม่จำนวน 5 ข้อ คือ
(1) หยุดการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ จนกว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ในระดับมาตรฐานสากลคือไม่เกินร้อยละ 15 โดยที่ปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 50 – 60 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
(2) เร่งเดินหน้านโยบายติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านด้วยระบบ Net-metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า
(3) เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อร่าง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่น ๆ ที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่
(4) พัฒนาระบบซื้อ – ขายส่งไฟฟ้า ที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีการเจรจาทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมที่ลงนามไปแล้ว เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP หรือ CP) ภาระไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-Pay) และอัตรากำไร (IRR) ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่สูงเกินควร เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมภาคต่อธุรกิจและภาคประชาชน
(5) ให้นำต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยทั้งหมดที่มีราคาถูกกว่าก๊าซนำเข้า มาคิดร่วมในต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 7/2566 มีข้อคิดเห็นว่า การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควรมีข้อเสนอในเรื่องราคาน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้ม และแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะโลกร้อนรวมอยู่ด้วย ทั้งเรื่องการแก้ไขราคาหน้าโรงกลั่นที่ต้องไม่บวกค่าพรีเมียม การกำหนดเพดานราคาไบโอดีเซลและเอทานอลที่ไม่ควรสูงเกินกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูป การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราที่เหมาะสม การกำกับดูแลค่าการตลาดให้มีความเป็นธรรมทั้งกับผู้ค้าน้ำมันรายเล็กและผู้ใช้น้ำมัน และให้นัดหมายการเข้าพบ รมว.พลังงานเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องทั้งหมดให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2566