สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอรัฐปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) หวังแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว
กระแสปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงที่เกิดจากการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) เริ่มเป็นเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกระหึ่มกันในโลกออนไลน์ โดยมีการเปรียบเทียบบิลค่าไฟฟ้าในเดือนสิงหาคมที่แสดงการใช้ไฟฟ้าเท่ากันกับการใช้ไฟฟ้าในบิลเดือนกันยายน แต่สิ่งที่ต่างกันคือค่าเอฟที ที่ปรับขึ้นต่อหน่วย จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็น 93.43 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ราคาค่าไฟ้ฟ้าสูงขึ้นทันที จากบิลเดือนสิงหาคมที่เคยจ่ายยอดรวมอยู่ที่ 2,666.98 บาท เป็น 3,088.67 บาท ในบิลเดือนกันยายน
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าไฟในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงคลื่นลูกแรก ๆ ก่อนพายุใหญ่ ในเรื่องค่าไฟฟ้าที่กำลังจะกระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พยายามชะลอผลกระทบของการขึ้นค่าเอฟที ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ก.ก.พ.) มีมติปรับขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีมติให้ใช้งบประมาณกลางจำนวนกว่า 9,000 ล้านบาทเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน (ระหว่างเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565) ไปในวันที่ 13 กันยายน 2565 ก็ยังเป็นการบรรเทาปัญหาค่าไฟฟ้าเพียงชั่วคราวเท่านั้น รัฐบาลต้องแสดงความตั้งใจที่แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ตรงจุดโดยให้มีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ให้มีความเหมาะสม และผลักดันการใช้พลังงานทางเลือกอย่างเต็มที่
“ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเป็นเพียงจุดสูงสุดของภูเขาน้ำแข็งที่มาคู่กับราคาเชื้อเพลิงแพงเท่านั้น หากมองลงไปใต้ฐานภูเขาน้ำแข็ง เราจะพบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกิน โครงสร้างราคาไฟฟ้าและก๊าซที่ไม่เป็นธรรม การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง และการวางแผนการผลิตไฟฟ้าภายใต้แผน PDP ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น” ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ ระบุ
ผศ.ประสาท กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผน PDP ฉบับปี 2022 จึงมองว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ทบทวนแผน PDP ใหม่ โดยลดการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลงและนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นฐานประกอบการพยากรณ์ ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน โดยจัดหาพลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น
รวมถึงควรเน้นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ทั้งนี้ ควรนำข้อสั่งการและคำปรารภของรองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เรื่องการเร่งบูรณาการการทำงานเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานของประชาชน มาประกอบการดำเนินงาน
สำหรับประเด็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ผศ.ประสาท ระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินจำเป็นไปมาก ประกอบกับข้อสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่ประกันรายได้ให้กับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนด้วยเงื่อนไข ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย’ ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายค่าประกันรายได้แม้ว่าจะไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าหลายแห่งก็ตาม โดยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระส่วนนี้ผ่านค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟที
“รัฐบาลควรยุติหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่จะตั้งใหม่ทั้งในและต่างประเทศออกไปก่อน จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงแผน PDP ให้สะท้อนความต้องการไฟฟ้าที่เป็นจริง รวมถึงทบทวนสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงข้อสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมเสียก่อน” ผศ.ประสาท กล่าว
กระแสความกังวลประเด็นค่าไฟฟ้าพุ่งในโลกออนไลน์นั้น เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้บริโภคควรลุกขึ้นมาร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการปรับปรุงแผน PDP อย่างรวดเร็ว และส่งเสริมพลังงานทางเลือกอย่างจริงจังเพื่อลดความรุนแรงจากผลกระทบค่าไฟฟ้าราคาสูงต่อค่าครองชีพประชาชนเพิ่มมากขึ้น
แผน PDP เป็นแผนแม่บทที่จะกำหนดความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศว่าจะใช้วัตถุดิบจากแหล่งใด เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และจะมีความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศสูงเพียงใด ซี่งจากข้อมูลที่ผ่านมากว่าทศวรรษ รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศ กลับมีแนวโน้มที่จะพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินจริงมาโดยตลอด จนส่งผลให้ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 50 – 60 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 ไปมาก
นอกจากนี้ยังมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 50 ในการผลิตไฟฟ้า ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 16 มาจากถ่านหินนำเข้า/ลิกไนต์ ร้อยละ 14 มาจากการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในขณะที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานน้ำเพียงร้อยละ 14 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยพึ่งพาพลังงานฟอสซิลโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติสูงเกินไป ส่งผลให้เมื่อมีปัญหาวิกฤติพลังงานจากสภาวะสงครามระหว่างประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ เราจึงไม่สามารถจัดการเรื่องราคาได้