เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม สภาผู้บริโภคจัดเสวนา “ทางออกปัญหาอาคารสูงในซอยแคบในมุมมองของผู้บริโภค” เพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยนมุมมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหากับส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล เอกชน และผู้บริโภค ในประเด็นการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือปัญหาทางเข้าออกของอาคารไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนในอาคารและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งมีการยื่นข้อเสนอกรุงเทพมหานคร (กทม.) 7 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้กรุงเทพมหานคร เร่งรัด ติดตาม ให้มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเร็ว
2. ขอให้กรุงเทพมหานครเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เร่งดำเนินการตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เพื่อให้เกิดการดำเนินการให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และหากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 30 วัน กรุงเทพมหานครไม่ควรพิจารณาขยายระยะเวลา และควรปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเร่งดำเนินการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมายโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
3. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญในการทบทวนการใช้หรือการมีอยู่ของมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้การสร้างอาคารต้องผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานผู้มีความรับผิดชอบในการควบคุม กำกับดูแลการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และมีผู้รับผิดชอบในการอนุญาตการสร้างอาคารอย่างชัดเจน
4. ขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการรวบรวมฐานข้อมูล (Big Data) ซอยแคบและปริมาณที่อยู่อาศัยโดยรอบ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประชาชน รวมถึงภาครัฐในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ และเป็นข้อมูลสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนช่วยให้สามารถดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
5. ข้อเสนอด้านการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
5.1 ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาจัดตั้งกองทุน EIA เป็นกองทุนอิสระโดยมีคณะกรรมการจากกระบวนการสรรหาผู้เชี่ยวชาญจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการพิจารณาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
5.2 ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มและกระจายอำนาจในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมไปถึงการตรวจสอบทุกขั้นตอน
5.3 ขอให้เพิ่มกระบวนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามรายงาน EIA โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีอำนาจในการคัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายนอก
6. ขอให้ทบทวนขั้นตอนและมาตรการ การจัดการข้อร้องเรียนของกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือข้อพิพาทจากการสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บรรเทาหรือลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ขณะที่โครงการยังไม่ถูกระงับการก่อสร้างหรือถูกระงับการก่อสร้าง
7. ขอให้ทบทวนขั้นตอนและวิธีการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขออนุญาตสร้างอาคารและขอให้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนโดยให้มีการทำประชาพิจารณ์มากขึ้นในการรับฟังความเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อลดข้อพิพาทและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญมากในการพัฒนาเมือง คือ การหาแนวทางที่จะทำให้เมืองเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการไม่รุกล้ำหรือละเมิดสิทธิผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันพบว่าเมืองใหญ่หลาย ๆ เมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร กำลังพบกับปัญหาการพัฒนาเมืองที่กระทบคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ชุมชนและพลเมือง
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นสภาผู้บริโภคเห็นว่าควรต้องมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ หรือการมีมาตรการในเชิงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้างต้น แต่ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้สำเร็จด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สภาผู้บริโภคจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ประกอบไปด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ผู้บริโภคและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอาคารสูงในซอยแคบที่เป็นรูปธรรม
สารี ให้ความเห็นกรณีของตึกแอชตัน อโศก กับกรณีของตึกดิ เอทัส ซอยร่วมฤดี มีความแตกต่างกันในเชิงคําพิพากษา กรณีของดิ เอทัสถือว่ามีความผิดในการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางออกคือต้องรื้อถอนเท่านั้น แต่กรณีของแอชตัน อโศก ศาลมีคำพิพากษาให้โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยทำทุกอย่างให้ถูกต้อง สมมุติว่าโครงการสามารถซื้ออาคารเพื่อที่จะทำให้ถนนมันกว้างขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะทำให้โครงการสามารถขอรับใบอนุญาตอีกครั้งได้
“เห็นใจผู้บริโภค 500 กว่าครัวเรือน ที่ตัดสินใจซื้อโดยที่บางคนอาจจะไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีความ ส่วนบางคนอาจจะทราบ แต่ไม่ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยที่แอชตัน อโศก หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ จะขอใช้ที่ดินของรัฐหรือทรัพย์สินเป็นพื้นที่ในการหากำไร ถ้าหากโครงการอื่น ๆ เห็นว่าแอชตัน อโศกทำได้และรัฐอนุมัติให้ทำได้ ก็อาจจะเกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอีกจนทำให้ต้องมีประชาชนและคนที่ซื้อห้องได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทอนันดาต้องเร่งออกมารับผิดชอบกับกรณีที่เกิดขึ้น อีกทั้งหน่วยงานรัฐควรต้องทบทวนและพิจารณาการอนุมัติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ปัจจุบันกระทบกับประชาชนจำนวนมาก” สารีระบุเพิ่มเติม
ขณะที่ พรพรหม โอกุชิ เลขานุการอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ได้นำเสนอภาพรวมปัญหาการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมายว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายการพัฒนาเมืองหลวงตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่รัฐละเลยหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต รวมถึงการตรวจสอบที่ไม่รัดกุม จนทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมาย หรือมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เอื้อผู้ประกอบการ แต่กลับสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนหรือผู้บริโภคโดยรวมอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น อาคารโรงแรมดิเอทัส (The Aetas) ในซอยร่วมฤดี โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) โครงการคอนโดรีเจ้นท์ โฮม บางซ่อน (กำแพงบางซ่อน) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พรพรหม ระบุว่า มาตรการในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังมุ่งเน้นการทำเมืองให้มีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น เช่น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) หรือมาตรการโอนสิทธิ์การพัฒนา (Transfer Development Right: TDR) จากมาตรการข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการจะสามารถสร้างอาคารเพิ่มได้เพื่อเพิ่มมูลค่าของโครงการและสร้างผลประกอบการให้มากขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันการที่สามารถสร้างอาคารได้สูงขึ้น หมายความว่าผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารมีมากขึ้น และส่งผลตามมาเรื่องที่จอดรถยนต์ในอาคารมีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้อาจไม่มีที่จอดรถจนต้องนำออกมาจอดริมถนน ซึ่งส่งผลต่อการจราจรโดยรอบหรือการสัญจรของรถดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งอาคารที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนบริเวณใกล้เคียงอาจแย่ลงอีกด้วย
ด้าน ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยด้วยการก่อสร้างอาคารสูงต่าง ๆ เลียนแบบต่างประเทศที่มองว่าเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูง อาคารใหญ่ ๆ เป็นเมืองที่ทันสมัย ขณะที่ประเทศไม่มีการวางผังเมืองรองรับการเจริญเติบโตมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรหนาแน่น แต่ระบบสาธารณูปโภคกลับไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนประชากรได้ จึงทำให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำเสีย รวมถึงปัญหาการสร้างตึกสูงในซอยแคบ
“การจะสร้างตึกหรืออาคารต่าง ๆ ได้ รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระบุว่าจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ปัญหาที่พบคือ บริษัทมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นบังหน้า โดยที่ในรายงานที่สรุปออกมาไม่มีการรายงานว่ามีผู้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วย จากนั้นจึงยื่นเรื่องก่อสร้างจนทำให้ยังมีปัญหาอาคารสูงเต็มไปหมดทั้งเมือง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคกรุงเทพฯ ยินดีรับฟังและพร้อมร่วมงานกับทุกหน่วยงานรัฐ เอกชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วต้องมาตามแก้ภายหลัง” ปฐมพงศ์ ระบุ
ด้าน ณัฐวดี เต็งพานิชกุล ผู้แทนผู้เสียหายจากโครงการ ดิ เอทัส (The Aetas) ซอยร่วมฤดี ระบุว่า ปัญหาของโครงการดิ เอทัส เกิดจากการสร้างอาคารสูงเกินกฎหมายกำหนด และปัญหานี้ได้มีการฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2551 จนสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ในปี 2557 แต่ก็ยังพบปัญหาในส่วนของการบังคับคดีที่มีปัญหามายาวนาน จนศาลกำหนดว่าจะต้องมีการรื้อถอน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการรื้อถอนตัวอาคาร
“สถานการณ์ปัญหาตอนนี้จะเห็นว่าเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ตั้งแต่มีคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมา แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างของการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคําพิพากษาอยู่ และหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด” ณัฐวดี ระบุ
ทั้งนี้ ชัยรัตน์ แสงอรุณ ทนายความและกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งคำถามถึงกรณีของการรื้อถอนอาคารดิ เอทัส ที่ปัจจุบันยังไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลปกครองว่า ปัญหาข้างต้นเกิดจาก กทม. ละเลยหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่รื้อถอนหรือไม่ และปล่อยให้ปัญหาล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี ซึ่ง กทม. อาจมีสิทธิ์ถูกข้อหาละเมิดอำนาจศาล หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
ขณะที่ ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้แทนผู้เสียหายจากโครงการเอส-ประดิพัทธ์ เล่าถึงผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการมีความไม่โปร่งใสและไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากช่วงหลังจากโควิดเริ่มแพร่ระบาดน้อยลง มีบริษัทเข้ามาชักชวนประชาชนหลายรายที่อาศัยอยู่รอบ ๆ โครงการ ถูกบริษัทชักชวนให้เข้าไปนั่งฟังและหลอกให้ไปลงชื่อเกี่ยวกับการทำ EIA เพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวใช้ข้อมูลการทำ EIA พิจารณาให้บริษัทสามารถก่อสร้างโครงการได้
นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังถูกท้วงติงในประเด็นการบังแดด บังลมของโครงการต่อชุมชนโดยรอบ อีกทั้งอาคารสูง 8 ชั้นที่มีความสูง 23 เมตรนี้มีการก่อสร้างห่างจากหลังบ้านของประชาชนเพียง 2.2 เมตร ซึ่งกระทบความเป็นอยู่ อาทิ ผลกระทบเรื่องเสียงจากเครื่องจอดรถอัตโนมัติ ปัญหาฝุ่นควันจากการก่อสร้าง ปัญหาการไม่ได้รับแสงแดด อีกทั้งหากเกิดอัคคีภัยอาจทำให้รถดับเพลิงเข้าถึงได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากถนนแคบ
“เราเห็นจุดบกพร่องมากมาย จึงทำหนังสือคัดค้านไปที่สำนักงานเขต เพื่อให้ระงับและทำการศึกษาใหม่ แต่มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าข้อกังวลอะไรทั้งหลายที่เราท้วงติงไปมันไม่มีผล เพราะโครงการทำหนังสือชี้แจงและมีกฎหมายรองรับพร้อมที่จะสร้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องการให้การพัฒนาเมืองโดยคิดถึงคนที่อยู่อาศัยเดิมและคิดถึงคุณภาพชีวิตชุมชนด้วย ไม่ใช่คิดเพียงแค่พัฒนาเมืองอย่างเดียว ถ้าคุณภาพชีวิตเดิมของคนอยู่อาศัยเดิมที่มีอยู่มันหมดไป ใครรับผิดชอบต่อจากนี้” ทิววัฒน์ อธิบายถึงผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการอาคารสูง
ส่วน ดนุ สุวัชรา ผู้เสียหายจากโครงการแอชตัน อโศก ระบุว่า ตัดสินใจซื้อคอนโดดังกล่าวเพราะการโฆษณาของโครงการ ซึ่งประเด็นปัญหาการฟ้องร้องคดีก็ได้รับข้อมูลเพียงว่ามีคดีความอยู่ แต่โครงการไม่ได้แจ้งรายละเอียดที่เป็นนัยสำคัญของคดีที่ควรให้ข้อมูลกับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เพียงพอ ขณะที่ลูกบ้านไม่มีข้อมูลและไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ขนาดนั้น จึงทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะปกป้องตัวเองได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าปัจจุบันลูกบ้านกว่า 500 ห้องไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่ได้รับผลกระทบหลายอย่าง เช่น ด้านการเงิน ด้านจิตใจ เป็นต้น
“ก่อนหน้านี้ลูกบ้านทำเอกสารให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของโครงการลงนามรับผิดชอบหากสุดท้ายเกิดกรณีต้องถอนใบอนุญาต แต่บริษัทเพิกเฉยกับข้อเสนอของลูกบ้าน และได้ออกมาแถลงว่าลูกบ้านทราบถึงปัญหาอยู่แล้วตอนที่ตัดสินใจซื้อคอนโด เหมือนว่าเป็นการผลักภาระไปให้ลูกบ้าน และผมมองว่าเราเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอนันดาเช่นกัน และอยากฝากให้สภาผู้บริโภคเป็นคนกลางนัดหารือกับกรรมการและนิติโครงการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้” ดนุ ระบุ
นอกจากนี้ยังมีเจ้าของร่วมของโครงการแอชตัน อโศก อีกรายหนึ่งได้ให้ความเห็นถึงปัญหาที่ตามมาหากสุดท้ายมีการรื้อถอนโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง ไม่ต่างจากตอนก่อสร้าง ทั้งผลกระทบของฝุ่นที่มาจากการทุบตึก ปัญหาการขนย้าย
ด้าน สุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร และชี้แจงต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดังนี้
กรณีโครงการดิ เอทัส ซอยร่วมฤดี
ปัจจุบันสำนักงานเขตได้ผู้รับเหมาและงบประมาณแล้ว แต่การรื้อถอนล่าช้า เนื่องจากเจ้าของอาคารไม่มีการขนย้ายของภายในอาคารออกไป ทำให้สำนักงานเขตต้องเข้าไปทำบัญชี และจดบัญชีทีละชิ้น จึงทำให้เกิดความล่าช้า
“สำนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งไปแล้ว แต่ ดิ เอทัส ไปขออุทธรณ์คำสั่งจึงทำให้เกิดความล่าช้า ต่อมาเขตออกคำสั่งให้รื้อถอนเอง แต่เจ้าของอาคารก็ไม่ได้ดำเนินการตามคําสั่งจนเขตต้องออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 43 ให้ตัวเองเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งสำนักงานเขตก็เดินตามขบวนการเพื่อไม่ให้บกพร่อง เพราะถ้าเกิดขาดตกบกพร่องในแต่ละข้อหน่วยงานอาจโดนบริษัทฟ้องกลับได้” สุรัชระบุ
กรณีโครงการเอส-ประดิพัทธ์
กรณีโครงการเอส-ประดิพัทธ์ กทม. สุรัชแจ้งว่าทางสำนักงานเพิ่งรับทราบเรื่อง ในเบื้องต้นรับเรื่องไว้และจะมีการประชาสัมพันธ์เชิญสื่อมวลลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความกว้างถนน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กทม. ได้ประสานไปยังสำนักงานเขตไปแล้ว และได้แจ้งกลับมาว่ามีระยะห่าง 7 เมตร แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มวัดระยะจากจุดไหนถึงจุดไหน เพราะโดยปกติการวัดระยะห่างจะใช้แนวเขตถนนสาธารณะเป็นหลัก พื้นฐานคือรั้วถึงรั้ว นั่นคือแนวเขตที่เป็นถนนสาธารณะ ที่อาจไม่ได้วัดรวมถึงความกว้างของถนนผิวจราจร
กรณีโครงการแอชตัน อโศก
เบื้องต้น กทม.ได้ส่งหนังสือแจ้งบริษัท อนันดา ให้มายื่นใบขออนุญาตสร้างให้ถูกต้องอีกครั้ง และได้ประชุมหารือกับบริษัทแล้ว ซึ่งบริษัทได้แจ้งว่าจะไปเจรจากับสมาคมซิกข์เพื่อขอแลกที่ดินของ รฟม. และเปิดทางเข้าออกถนนอโศก รวมถึงบริษัทก็ต้องไปปรับปรุงถนน ปรับปรุงพื้นที่สีเขียวให้แล้วเสร็จถูกต้องตามแบบที่ขออนุญาต แต่เบื้องต้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 30 วัน
ทั้งนี้ ทนายความที่ได้เข้าร่วมการเสวนาให้ความเห็นถึงกรณีผู้บริโภคหรือลูกบ้านได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมายว่า ในการดำเนินคดีของลูกบ้านส่วนมากหากไม่ใช่ตัวแทนที่เข้าไปซื้อห้องและปล่อยเช่า แต่เป็นผู้บริโภคซื้อด้วยตัวเองจะเข้าข่ายคดีผู้บริโภค ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่เคยช่วยเหลือลูกความที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาในลักษณะข้างต้น ศาลจะให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำหนดเสร็จที่ล่าช้า ห้องไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในโฆษณา
อย่างไรก็ตาม ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง ได้กล่าวเสริมในประเด็นนิยามของคําว่าเขตทาง คือ การวัดจากรั้วถึงรั้ว และหากมีกระถางต้นไม้ สามารถยกออกได้ จะไม่มีปัญหา แต่หากเป็นเสาไฟที่ทำให้เขตทางแคบลงและไม่สามารถย้ายออกได้ ก็จะเกิดปัญหาทันที ขณะที่ประเด็นคูน้ำที่มีความกว้าง 6 เมตร ถนนกว้าง 4 เมตร รวมเป็น 10 เมตร และอนุมัติให้สามารถสร้างตึกสูงได้ สุดท้ายถ้าใช้หลักการรวมแบบนี้ในคํานิยามของคําว่าเขตทางได้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา
“ต้องการให้หน่วยงานกลับมาทบทวนคำว่าเขตทางทุกโครงการอีกครั้ง เนื่องที่ผ่านมาพบว่าการตีความคำว่าเขตทางตามตัวหนังสือในกฎหมายเป๊ะ ๆ ทำให้เกิดปัญหา เพราะในทางกายภาพมีความซับซ้อนยิ่งกว่า ดังนั้นหน่วยงานควรต้องลงพื้นที่และตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นเขตทางที่อาจทำให้ชุมชนได้รับความเสี่ยง ถ้าหากเกิดเพลิงไหม้และรถดับเพลิงเข้าถึงไม่ได้” ก้องศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ก้องศักดิ์ ย้ำอีกว่า การก่อสร้างอาคารสูงต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบด้วย เช่นกรณีแอชตัน อโศกนั้นถูกชุมชนโดยรอบที่ได้รับความเดือดร้อนฟ้องร้องมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง เพราะได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นที่หล่นลงมาใส่บ้าน รถ และบางรายมีปัญหาสุขภาพ แต่ตึกก็ยังก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลมีการโยนภาระหน้าที่ในการชดเชยเยียวยาไปมาระหว่างหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขี้นคือบริษัทอนันดา ดังนั้นจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโดยรอบ หรือลูกบ้านที่ซื้อห้องชุดไปแล้ว
นัท เปียแก้ว และเนติพล สกุลชาห์ ผู้แทน ธีรัจชัย พันธุมาศสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 18 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อาคารสูงไม่ควรกระจุกอยู่ในจุดเดียวกัน หากอาคารสูงเหล่านั้นกระจายตัวออกไป คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน แต่ปัจจุบันทุกอย่างถูกดึงเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ดังนั้น เมื่อปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การกระจายความเจริญควรกระจายออกไปตามด้วย
อย่างไรก็ตาม พบว่าผังเมืองปัจจุบันยังเป็นแบบเดิมและไม่เอื้อกับทุกคน จนทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนลดลง ดังนั้น นโยบายในการกำกับดูแลของสำนักงานการผังเมือง คือการสร้างเมืองใหม่ โดยต้องมีเป้าหมายเพื่อการสร้างเมืองใหม่ ไม่ได้สร้างเพื่อเอื้อนายทุน
ด้าน สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดึงเอาทรัพยากรจากที่อื่น ๆ มาทำให้เมืองเติบโต รวมถึงเอาโอกาสทุกอย่างมากองรวมไว้ที่กรุงเทพฯ และทำให้คนต้องเข้ามารวมอยู่ที่นี่ สิ่งที่ควรทำคือการกระจายความเจริญไปสู่จุดอื่นบ้างเพื่อลดความหนาแน่นของประชากรและอาคารสูงต่าง ๆ
“เราต้องดูว่ากรุงเทพรับมือไหวไหมกับการท้าทายความต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ระบบต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าตั้งรับอย่างเดียวว่าประชากรจะต้องเพิ่ม ต้องสร้างคอนโดเพิ่ม ในความเป็นจริงโครงสร้างเมืองรับไม่ไหว และกรุงเทพฯ ในปัจจุบันโตกว่านี้ไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมันแน่นไปหมด” สรณรัชฎ์ให้ความเห็นทิ้งท้าย
สรุปประเด็นที่จะต่อไปจะดำเนินการอย่างไรให้คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมสามารถอยู่ต่อได้ และหากจำเป็นต้องมีการพัฒนาผังเมืองหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาอย่างไรเพื่อให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงได้
ประเด็นที่ 1 เริ่มตั้งแต่การแก้ไขกฎหมายอาคารที่ต้องชัดเจน และไม่ให้การทำ EIA ตกเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างอาคารมากกว่าที่จะเป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยในชุมชน
ประเด็นที่ 2 คชก. ควรเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นจะต้องฟังเสียงประชาชนก่อน แล้วถหากมีเสียงคัดค้านจะต้องนำกลับมาพิจารณาและวิเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งแสดงว่ามีความเดือดร้อนและมีคนที่ไม่เห็นด้วย
ประเด็นที่ 3 เรื่องเขตทาง ปัจจุบันมีการตีความที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงหรือประชาชนที่อาศัยโดยรอบอาคารสูง หลายคนมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารสูงโดยที่ไม่สามารถที่จะทำได้ แต่สุดท้ายกลับก่อสร้างอาคารได้
ประเด็นที่ 4 เรื่องผังเมือง ที่ทุกคนต้องการอาศัยอยู่กับเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง กทม.พัฒนามากเกินควรแล้ว ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้จังหวัดอื่น ๆ ได้พัฒนาและเพื่อกระจายความหนาแน่น
โดยสรุป สภาผู้บริโภคยินดีและพร้อมฟ้องร้องผู้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และพร้อมเป็นแกนกลางเพื่อที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค