ทุบแก๊งมิจฉาชีพให้อยู่หมัด เสนอตั้งศูนย์ฉุกเฉิน คุมโอนเงิน ตปท. ส่งดำเนินคดีถึงที่สุด

ภายในเพียงแค่หนึ่งปี (2565) มิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและผู้บริโภคกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท สภาผู้บริโภค จัดเวทีระดมความคิดและขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ พร้อมชง 8 ข้อเสนอ “แก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน” ยกระดับความเข้มข้นมาตรการป้องกันและการลงโทษมิจฉาชีพ

จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกโอนเงิน รวมถึงสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของบางธนาคาร เช่น กรณีที่ผู้บริโภคโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารอายัดเงิน แต่ธนาคารกลับปฏิเสธและขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค นั้น

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สภาผู้บริโภคจึงจัดเวทีความร่วมมือ “แก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน” ขึ้น เพื่อหาแนวปฏิบัติ แนวทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาความร่วมมือในการจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน ระหว่างสภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สมาคมธนาคารไทย และ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
สำหรับภาพรวมข้อเสนอแนะจากในเวทีที่มีต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีทั้งหมด 8 ข้อ ดังนี้

  1. เสนอให้กระทรวงดีอีจัดตั้งศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.)
  2. ขอให้กระทรวงดีอีแต่งตั้งผู้แทนผู้บริโภคอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
  3. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการปฏิบัติการของธนาคารให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. หากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ธนาคารควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
  4. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องควบคุมหลักเกณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศให้มีจำนวนเงินขั้นต่ำ
  5. เสนอเรื่องการป้องกันจากการเปิดบัญชีออนไลน์ รวมถึงการเปิดบัญชีธนาคารผ่านร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเปิดบัญชีง่ายทำให้มีบัญชีม้าเยอะ
  6. ขอให้ กสทช. ควบคุมและจำกัดการเปิดใช้ซิมโทรศัพท์มือถือ ต่อ 1 หมายเลขบัตรประชาชน
  7. ขอให้สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สร้างกลไกการแจ้งเตือนเมื่อผู้บริโภคโอนเงินไปยังบัญชีมิจฉาชีพที่มีการแจ้งระงับไว้แล้ว (บัญชีม้า) และ
  8. ตำรวจต้องดำเนินคดีกับมิจฉาชีพที่ถูกจับกุมจากกรณีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นตัวอย่าง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเห็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคของธนาคารต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การที่มีการขึ้นคำเตือนให้ผู้บริโภคตรวจสอบว่ากำลังโอนเงินให้มิจฉาชีพหรือโอนเงินผิดบัญชีหรือเปล่า ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนในการออกมาตรการป้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องแนวปฏิบัติที่ไม่ตรงกันซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอยากใช้เวทีนี้พัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน

“เราจัดการบัญชีม้าได้เยอะขึ้น มีบทลงโทษที่เข้มข้นขึ้นกับคนที่เปิดบัญชีม้า แต่ส่วนที่อาจจะยังไม่เห็นมากนักก็คือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งดูเหมือนความหวังที่จะได้เงินคืนจะค่อนข้างเลือนรางมาก หวังว่าเวทีนี้จะทำให้ทุกหน่วยงานได้มาร่วมกันออกแบบ และหามาตรการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยามากขึ้น” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ


ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ปัญหาเรื่องภัยทุจริตทางการเงินธนาคารเป็นปัญหาที่มีขนาดความเสียค่อนข้างมาก อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ในปี 2565 มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพิ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ อีกทั้งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงดังกล่าว เช่น สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทประกันภัยที่ออกมาแจ้งเตือนว่าจะงดการส่งลิงก์ผ่านช่งทางเอสเอ็มเอส นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเบอร์ฉุกเฉินสำหรับติดต่อเรื่องการอายัดบัตรหรืออายัดบัญชีได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเว็บไซต์ออนไลน์ www.thaipoliceonline.com สำหรับการแจ้งความออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการรับเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคพบเมื่อต้องการร้องเรียนหรือแจ้งความกรณีถูกหลอกโอนเงิน ได้แก่ 1) เบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารติดต่อค่อนข้างยาก 2) ระบบรับแจ้งความออนไลน์ ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้บริการผ่านมือถือได้ หากปรับปรุงให้ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้จะสะดวกต่อผู้ใช้บริการมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคเคยแจ้งปัญหากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไปแล้ว 3) การดำเนินงานผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ยังมีความล่าช้า บางรายกว่าจะเรียกไปสอบปากคำใช้เวลา 3 ถึง 5 วัน

4) ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก. เนื่องจากในกฎหมายระบุว่าธนาคารสามารถอายัดบัญชีได้ทันทีเป็นการชั่วคราว โดยไม่ต้องถามหาใบแจ้งความจากผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงเมื่อผู้บริโภคโทรศัพท์หรือเดินไปแจ้งที่ธนาคาร กลับถูกปฏิเสธและให้ไปแจ้งความกับตำรวจก่อน และ 5) ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือหรือชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบว่าในประเทศอังกฤษ ธนาคารจะมีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่ากรณีใดที่ธนาคารจะต้องชดเชยเงินหรือเยียวยาผู้บริโภค ดังนั้น จึงมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันหาหารือกันว่าควรจะต้องมีมาตรการที่ชดเชย เยียวยาให้ผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร และควรจะมีการหลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา


จักรกริศน์ เหล่าจันอัน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. ดำเนินการหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ แบ่งเป็นสามส่วน

ส่วนแรก คือ การออกชุดมาตรการขั้นต่ำที่สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการ โดยปัจจุบันมีมาตรการบางส่วนที่ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้วได้แก่ 1) ห้ามสถาบันการเงินในการส่งลิงก์ทุกประเภทที่เป็นเอสเอ็มเอส อีเมลต่างๆ และงดส่งข้อมูลสำคัญถึงประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงปิดกั้นเอสเอ็มเอสหรือคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างเป็นธนาคารไปหลอกลวงประชาชน 2) จำกัดการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) สามารถทำได้เพียง 1 เครื่องต่อ 1 บัญชีธนาคารเท่านั้น

3) ธนาคารต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบนโมบายแบงกิ้งให้ทันสมัย เท่าทันรูปแบบหลอกลวงอยู่เสมอ และ 4) มาตรการเรื่องการตรวจจับติดตามบัญชีและธุรกรรมที่น่าสงสัย โดย ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขว่า สถาบันการเงินจะต้องมีการตรวจจับติดตามพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติที่เกิดขึ้น และมีมาตรการในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่กำหนดว่าต้องรับส่งข้อมูลกันอย่างไร ต้องส่งไปที่ตำรวจและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างไร

ส่วนที่สอง คือ ระบบตรวจจับติดตามพฤติกรรมเข้าข่ายผิดปกติเพื่อระงับการธุรกรรมทันทีที่ตรวจพบ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 6 ของ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

และส่วนที่สาม คือการตอบสนองและรับมืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดปัญหา โดยธนาคารต้องมีช่องทางให้ติดต่อโดยเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมงโดยเป็นช่องทางที่แยกจากคอลเซ็นเตอร์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อมีคดีเกิดขึ้นต้องมีการส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ ให้กับธนาคารที่อยู่ในเส้นทางทั้งหมด รวมถึงตำรวจ เพื่อให้สามารถระงับปัญชีและจัดการปัญหาได้โดยเร็ว และในกรณีที่พบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากความบกพร่องของธนาคาร ธนาคารจะต้องเยียวยาแก้ไขให้กับผู้เสียหายโดยเร่งด่วนตามมาตรการของ ธปท. ซึ่งส่วนนี้ได้มีการพูดคุยกับธนาคารเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท. ติดตามความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้อยู่ เพื่อตรวจสอบว่าธนาคารปฏิบัติได้ครบถ้วนเพียงใด


ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต สมาคมธนาคารไทย ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ลักษณะการดำเนินการของทุกธนาคารในปัจจุบัน คือ เมื่อมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาที่เบอร์ฉุกเฉินของธนาคาร ธนาคารจะระงับบัญชีไว้เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความกับตำรวจและนำหลักฐานใบแจ้งความมายืนยันกับธนาคารภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อข้อมูลระหว่างธนาคาร เพื่อให้สามารถระงับบัญชีได้เป็นทอด ๆ อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ตำรวจด้วย ซึ่งตำรวจจะมีการสืบสวนสอบสวนภายใน 7 วันถ้าภายใน 7 วันหากพบการกระทำความผิดจริงก็จะส่งหมายอายัดให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งธนาคารก็จะสามารถอายัดบัญชีดังกล่าวได้อย่างถาวร แต่หากตำรวจไม่ส่งหมายอายัดภายใน 7 วัน ธนาคารก็ต้องยกเลิกการระงับบัญชี ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 ของพ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ

ส่วนกรณีของมาตรา 6 ที่กำหนดว่าหากมีเหตุอันต้องสงสัยธนาคารสามารถแจ้งหรือว่าอายัดชั่วคราวได้ แต่ในการปฏิบัติจริงธนาคารต้องมีความสงสัยมากในระดับหนึ่ง จึงจะสามารถอายัดหรือระงับบัญชีลูกค้าชั่วคราวได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะมีปัญหาอื่นตามมา ซึ่งทุกธนาคารตระหนักในเรื่องนี้ดี ปัจจุบันจึงมีการพูดคุยถึงเรื่องกฎเกณฑ์ และแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องการระงับบัญชีในลักษณะดังกล่าว

ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงผู้บริโภคว่าหากได้รับเอสเอ็มเอสหรือข้อความในโซเชียลมีเดียที่มีลิงก์แปลก ๆ จากหมายเลขหรือคนที่ไม่รู้จัก ไม่ควรกดลิงก์ดังกล่าว และที่สำคัญคือห้ามโหลดหรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ได้อยู่ในเพลย์สโตร์ (Play Store) หรือแอปสโตร์ (App Store) โดยเด็ดขาด เพราะการติดตั้งแอปฯ เหล่านั้นจะทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของเราได้ทั้งหมด และมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เล่าถึงแนวทางการจัดการปัญหาของ กสทช. ในปัจจุบัน โดย กสทช. ได้ออกมาตรการว่าบัตรประชาชน 1 ใบห้ามลงทะเบียนซิมเกินกว่า 5 เลขหมาย สำหรับผู้ที่ถือครองซิมมากกว่า 5 เลขหมายตั้งแต่ในอดีต ต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมดโดยต้องไปแสดงตัวตนที่ศูนย์บริการภายในระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีกรณีผู้ที่ถือครองซิมมากกว่า 100 หมายเลข ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300,000 รายชื่อ ก็ต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมดโดยต้องไปแสดงตัวตนที่ศูนย์บริการภายในระยะเวลา 30 วัน และต้องชี้แจงว่าเอาซิมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่ออะไร


ส่วนการจัดการเรื่องเอสเอ็มเอสหลอกลวง สุทธิศักดิ์อธิบายว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรับส่ง SMS เกือบ 20 ราย ไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการค่านมือถือ 4 ค่าย ดังนั้นมาตรการที่ กสทช. ใช้ทำทุกวันนี้คือ ก่อนที่ผู้ให้บริการจะส่งเอสเอ็มเอสต้องลงทะเบียนชื่อผู้ส่ง (Sender Name) ก่อน อย่างไรก็ตาม ปกติผู้ให้บริการค่ายมือถือจะไม่มีสิทธิเข้าไปดูข้อความลูกค้า จึงไม่สามารถทราบได้ว่าข้อความใดที่เป็นเอสเอ็มเอสหลอกลวง ดูดเงิน หรือผิดกฎหมาย ดังนั้น การจะปิดกั้นการส่งเอสเอ็มเอสของผู้ส่งรายหนึ่ง ๆ ได้ จำเป็นต้องมีคนร้องเรียนมาก่อน เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจึงจะไปตรวจสอบ และระงับการส่งเอสเอ็มเอสจากผู้ส่งรายดังกล่าวในทุกเครือข่ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจจะมีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากข้อความที่ถูกส่งไปก่อนจะมีการปิดกั้น


ดร.กิตติกร จันทร์กระจ่าง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตและประพฤติมิชอบ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) กล่าวว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอาศัยหลักจิตวิทยาในการโน้มน้าวใจคน วิธีที่จะป้องกันปัญหาคือการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ดังนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสมาคม อินฟลูเอนเซอร์ และนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนประชาชน ทั้งนี้ บทบาทของกระทรวงฯ ในเรื่องการป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลัก ๆ เป็นการทำความร่วมมือกับเอ็ตด้า โดยเน้นไปที่การให้ความรู้กับประชาชนว่าจะรู้เท่าทันภัยธุรกรรมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าวอย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีการผลักดันและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเตือนภัยประชาชนอย่างต่อเนื่อง


พ.ต.อ.พิบูลสุขญ์ รติเวโรจน์กุล ผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า  ปัจจุบัน พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ส่งผลให้การร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการเห็นชอบทางกฎหมายแล้ว เนื่องจากเมื่อก่อนมีการร้องทุกข์เพียงสองช่องทาง คือ 1. ร้องทุกข์ทางวาจา หรือไปที่สถานีตำรวจ 2. ร้องทุกข์ด้วยการทำหนังสือถึงหน่วยงาน การร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์แนะนำให้ทำผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์เพื่อลดข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูล


พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) กล่าวว่า หากเรื่องมาถึงดีเอสไอ แปลว่าเป็นปลายทางและต้องเป็นคดีพิเศษโดย 2 ประเภท เป็นคดีที่อธิการบดีอนุมัติว่าเป็นคดีพิเศษทันที กับ คดีที่ต้องรอประมวลผล โดยไม่สามารถดำเนินการได้ก่อน ในอนาคตดีเอสไออาจสามารถสอบสวนเองได้ โดยให้ผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ที่ดีเอสไอหรือร้องทุกข์ที่พนักงานสอบสวนตามปกติ ต้องต้องเข้าเกรณฑ์ความเสียหาย ทั้งจำนวนผู้เสียหาย และจำนวนเงินที่เข้าเกณฑ์ให้โอนมาคดีพิเศษได้ สำหรับการป้องกัน ณ ปัจจุบัน ดีเอสไอ ได้มีการเผยแพร่การเตือนภัยผ่านทางเพจ และเว็บไซต์ เพราะหากไม่มีการระงับบัญชีคนร้ายก็ยังสามารถไปหลอกรายอื่นแล้วยังใช้บัญชีเดิมได้อยู่ ถ้าระงับได้รวดเร็วขึ้น ปัญหาก็จะน้อยลง


กมลสิทธิ์ วงศ์บุตรน้อย จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่า ปี 2565 ปปง. มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ในการยับยั้งช่องทางในการทำธุรการที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด จำกัดช่องทางทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นำรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด นำรายชื่อของบัญชีม้าให้ระงับการทำธุรกรรม เกณฑ์ดังกล่าวเป็นการนำรายชื่อของบุคคลไม่ว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือถูกรายงานเข้ามา ส่งรายชื่อไปที่ ปปง. แล้วส่งต่อสถาบันทางการเงินเพื่อระงับการทำธุรกรรม โดยผู้ถูกกล่าวหามีเวลา 3 วัน ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากมี 1 บัญชีที่ถูกระงับ บัญชีอื่น ๆ ที่เป็นชื่อของบุคคลเดียวกันก็จะถูกระงับไปด้วย นั่นแปลว่าจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ยังสามารถไปที่เคาน์เตอร์ของธนาคารได้

ทั้งนี้ หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ส่วนที่ ปปง. เข้าไปเกี่ยวข้อง คือการใช้ข้อมูลในมาตรา 4 และการดำเนินการตามมาตรา 6 เรื่องการปรับแก้หรือสร้างเงื่อนไขในการโอนเงิน อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ใช้บริการปกติด้วย


ประภารัตน์ ไชยยศ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า (ETDA) ระบุว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า การติดตามผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายออนไลน์ การได้เงินคืนหรือคืนสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างไรก็ตาม กระทรงดีอีมองว่าหากทำงานในเชิงรับจะทำให้จัดการปัญหาได้ไม่ทันท่วงที ปัจจุบันจึงมีการทำงานเชิงรุกควบคู่ไปด้วย โดยการให้ความรู้ ทำสื่อประชาสัมพันธ์เข้าใจง่าย เช่น วีดิโอ อินโฟกราฟิก ทุกสัปดาห์สื่อสารกับประชาชน ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่แต่ละจังหวัดเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายคือข้าราชการเพื่อส่งต่อข้อมูลต่อไปยังประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาที่พบจากการทำงานข้อมูลเพื่อสื่อสารกับคนในวงกว้างคือ ผู้อ่านหรือผู้รับสารไม่รู้ ไม่เข้าใจ ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารต้องง่าย เข้าใจได้

นอกจากนี้ ในอนาคตกำลังจะมีพระราชกฤษฎีกาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ซึ่งกำหนดให้แพลตฟอร์ม รวมถึงแพลตฟอร์มที่โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางหลักที่เกิดปัญหา ก็ต้องเข้ามาจดแจ้งกับเอ็ตด้า นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุเรื่องการรับเรื่องร้องเรียน การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย จึงมองว่าถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ก็จะทำให้สถานการณ์เรื่องการหลอกลวงและปัญหาเรื่องการซื้อขายออนไลน์ดีขึ้นด้วย


รัฐณัฏฐวรรณ จิราพงษ์ ผู้แทนสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ระบุว่า ทุกเดือนสมาคมฯ ต้องรายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบว่าแต่ละธนาคารทำตามมาตรการที่ ธปท. ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ โดยหลัก ๆ จะเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 6 และมาตรา 7 ของ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ รวมถึงการมีศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพซึ่งสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งหากเกิดความเสียหายจากการถูกหลอกโอนเงิน หรืออาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่น ๆ สามารถโทรแจ้งและระงับบัญชีได้ในทันที โดยธนาคารจะส่งข้อมูลบัญชีปลายทางไปที่ธนาคารถัดไปซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีสายด่วนสำหรับประสานข้อมูลกันอยู่แล้ว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค