เสียงจาก “เยาวชน-นักการเมือง” ขอร่วมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

จากบทสนทนาระหว่างเยาวชนและนักการเมืองว่าด้วย ‘การศึกษาที่ควรจะเป็น’ พบว่าพวกเขาอยากเห็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเปิดโอกาสให้ เยาวชน – นักศึกษา เข้าร่วมออกแบบ ขณะที่นักการเมืองระบุ พ.ร.บ. การศึกษาต้องให้สิทธิผู้เรียน และสถานศึกษาในการออกแบบการเรียนรู้

แม้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่กำลังจะเข้ารับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดอ่อน ของการจัดการศึกษาที่เป็นแผนแม่บทของชาติ

ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคเปิดพื้นที่สาธารณะ ฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชน – นักการเมือง อยากเห็น พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติอย่างไร  ผ่านเวทีเสวนา บทสนทนาระหว่างเยาวชนและนักการเมืองว่าด้วยการศึกษาที่ควรจะเป็น

บทสนทนาแรก เป็นเสียงของเยาวชน นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่เริ่มการสนทนาด้วย ข้อมูลถึงเสียงสะท้อนของเยาวชนผ่านการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนทางออนไลน์ อายุระหว่าง 10 – 25 ปี จำนวน 3.5 หมื่นคน โดยมีเสียงสะท้อนในเรื่องของการศึกษาเรื่องแรกคือการเข้าถึงทุน หรือกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ มีนักเรียนเข้ากู้ยืมถึง 7.6 แสนคนและมีผู้ตอบแบบสอบถาม กว่าร้อยละ 75 บอกว่าสามารถเข้าถึงกองทุนกู้ยืมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีประมาณร้อยละ 19 ที่บอกว่าไม่แน่ใจและอีกร้อยละ 5.1 ไม่เห็นด้วยว่ามีการเข้าถึงเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

ส่วนคำถามว่าหลักสูตรในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันหรือไม่ มีเด็กเยาวชนร้อยละ 51.7 ที่บอกว่าหลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุว่าไม่แน่ใจ และอีกประมาณร้อยละ 11.8 บอกว่าหลักสูตรปัจจุบันยังไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนและตลาดแรงงาน

สำหรับประเด็นเรื่องหลักสูตรในปัจจุบันช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ซึ่งประมาณร้อยละ 59.9 เห็นด้วยว่าช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นขณะที่ร้อยละ 33.3 บอกว่าไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 7.3 บอกว่า หลักสูตรในปัจจุบันไม่ช่วยเรื่องทักษะที่จำเป็น 

นดา บอกว่า เมื่อสอบถามว่า สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเด็กและเยาวชนร้อยละ 67 บอกว่า สถานศึกษาเป็นมิตร แต่มีอีกร้อยละกว่า 26 ไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 7  สะท้อนว่า โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือกลุ่มความหลากลายทางเพศ หรือ LGBT ซึ่งข้อมูลสะท้อนว่ากลุ่มดังกล่าว ยังเห็นว่าสถานศึกษายังไม่ปลอดภัยกับผู้หลากหลายทางเพศจึงอยากให้มีการส่งเสริมเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

นดา กล่าวย้ำว่า จากข้อมูลการสำรวจทั้งหมดสะท้อนว่าเยาวชนอยากเห็นใน พ.ร.บ.การศึกษา คือเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเด็กที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธ์  หรือกลุ่มที่ไร้สัญชาติ และการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา

นอกจากนี้ให้มีการเปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วม ในการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม และสิทธิเสรีภาพในการศึกษา เพราะปัจจุบัน เด็กเยาวชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบจัดการศึกษาและออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมและตอบโจทย์ จึงอยากให้ทุกโรงเรียนเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เสนอปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการ การสอน และกฎระเบียบการศึกษา และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ ให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยให้เป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน ออกแบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน หรือเข้าไปร่วมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่

“อยากให้กระทรวงศึกษาฯ ทบทวนประเมินผลนักเรียนที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนานักเรียน  เพราะแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันทำให้หลักสูตรและการประเมินผลอาจจะไม่ตอบโจทย์การศึกษาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน” นดากล่าว

เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากเห็นการจัดการศึกษาโดยนักเรียนและนักศึกษามีสิทธิในการกำหนดตัวเอง เพราะที่ผ่านมา การศึกษาเป็นเรื่องที่ทำให้นักเรียนทำตามสิ่งที่คนอื่นออกแบบให้ทำ แต่ไม่ได้ไม่สิทธิเลือกเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือภาพการศึกษาของไทย

อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“กระบวนการศึกษาไม่ได้ทำให้เราออกแบบตัวเองว่า เราอยากเป็นใคร  เราอยากสนใจการเรียนแบบไหน แต่เรามีกล่องให้เลือกแค่ วิทย์ คณิต ศิลป์ ภาษา เราถูกกำหนดไปเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม  แต่เราไม่มีสิทธิกำหนดตัวเอง ผมจึงอยากให้การศึกษาทำให้เราสามารถออกแบบตัวเองได้และการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้สิทธิในการกำหนดตัวเองว่า โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นได้มากน้อยแค่ไหน และนำไปใช้ด้วย การศึกษาไทยจึงต่องเปลี่ยนวิธีคิด ระบบ ระเบียบใหม่ ”อภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนความเห็นของนักการเมืองอย่าง พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล  กล่าวว่า เราจะเข้าใจการศึกษาได้ดีมากถ้ามองในมุมในผู้บริโภค เพราะ ความจริงแล้วการบริการศึกษาถือเป็นสวัสดิการเรื่องแรกที่เราได้รับจากรัฐ  แต่ถ้า พ.ร.บ.การศึกษาเดิม ปี2542 ก็ใช้มานานกว่า 20 ปีจึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยพรรคก้าวไกลได้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ที่กำลังจะเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร

พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล

โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของพรรคก้าวไกลยึดเอาโครงของ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 เป็นสารตั้งต้น และให้ความสำคัญ 3 หัวข้อ  คือ 1. เรื่อง สิทธิ คือ สิทธิผู้เรียน  สิทธิการเรียนรู้  สิทธิการเรียนในสถานที่ปลอดภัย  2. เรื่องโครงสร้างการศึกษาที่ต้องอกแบบด้วยความไว้วางใจให้มีการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาออกแบบการเรียน มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นเหมาะสม และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เช่นที่ ฟินแลนด์ ได้กระจายอำนาจให้นักเรียนผ่าน สภานักเรียนที่ยึดโยงกับนักเรียนมากขึ้น  3 .การยกระดับการจัดการทั้งหลักสูตร มีกลไกทบทวนหลักสูตร  ขณะที่เรื่องของ งบประมาณ อาจจะไม่ได้พิจารณาตามกรอบงบประมาณรายหัว แต่จะคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

ขณะที่ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามออกแบบการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนแบบ ทวิภาคี และกำลังพิจารณาเปลี่ยนวิธีคิดการจัดการเรียนการสอนแบบสถาบันปัญญาภิวัฒน์ คือ เรียนวิชาการไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ ทำข้อตกลงกับเอกชนหลายแห่งเพื่อผลิตการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

“กระทรวงศึกษาธิการประกาศเรื่องธนาคารหน่วยกิตเพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาต่าง ๆ นำองค์ความรู้ที่หลากหลายเข้ามาเพิ่มเติมในการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สิริพงศ์กล่าว

ด้าน เทอดชาติ ชัยพงษ์ คณะกรรมาธิการการศึกษาจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกภาคส่วนเห็นปัญหาตรงกัน และเห็นว่าการศึกษาชาติ เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาโดยต้องให้ความสำคัญ โดยเสนอ 7 ประเด็นหลักที่ต้องพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษาไทย  

คือ 1. สิทธิหน้าที่ เสมอภาค เช่นเรื่องอาหารกลางวัน 2. คุณภาพ 3. ระบบบริหารจัดการ มาติดโครงสร้างอำนาจในการจัดการ คือเราต้องทำให้จัดการเรียนรู้ 4. ทรัพยากร เทคโนโลยี เรียนรู้ใหม่ภายใต้เครื่องมือใหม่ งบประมาณต้องจัดการใหม่ 5. หลักสูตรการเรียนการสอนเท่าทันการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 6. การทีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นภาคประชาชน และ 7. ครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียน หรือจัดการเรียนรู้เพราะความรู้มีมากมายและหลากหลายในโลกอินเตอร์เน็ต

“ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พอ เพราะโลกเปลี่ยน การเรียนรู้ วิธีคิด วิถีชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำมุมมองและปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน เพื่อให้เห็นภาพร่วมกันและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เราเห็นภาพเด็กแบกเป้ใบใหญ่และหนัก ซึ่งกิดจากหลายปัจจัย ทั้งหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ วิธีสอน เครื่องมือในการรียนรู้ แต่เราก็ยังไม่เปลี่ยน ไม่แก้ปัญหา” เทอดชาติกล่าว

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #การศึกษา #นักเรียน