ก่อสร้างล่าช้า บ้านไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคร้อง บ้านดีมีแต่ในโฆษณา

รวมพลังผู้บริโภค สะท้อนปัญหาอสังหาริมทรัพย์ พบปัญหาบ้านจัดสรร มากเป็นอันดับ 1 จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่าเคร่งครัด ควบคุมสัญญาให้เป็นธรรม และเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบบริษัท การออกใบอนุญาต ควบคุมการสร้างให้เป็นไปตามกฎหมาย และเร่งช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างทันท่วงที

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 สภาผู้บริโภคจัดงาน “ประชุมระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหา และร่วมกันหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อผลักดันข้อเสนอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ร้องเรียนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีกรณีปัญหาอาคารชุด ปัญหาบ้านจัดสรร ปัญหาธุรกิจขายบ้านติดจำนอง และปัญหาธุรกิจก่อสร้างบ้าน

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงสถิติเรื่องร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – เมษายน 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1,448 กรณี โดยเป็นปัญหาเกี่ยวกับบ้านจัดสรรมากที่สุด 514 กรณี และอันดับที่ 2 เป็นปัญหาเรื่องคอนโดมิเนียม

สำหรับลักษณะปัญหาในกลุ่มบ้านจัดสรร ได้แก่ การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐาน ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม และก่อสร้างล่าช้า ส่วนลักษณะปัญหาและข้อพิพาทในกลุ่มคอนโดมิเนียมนั้น มีประเด็นเรื่องการก่อสร้างล่าช้า เข้าอยู่ไม่ได้ ผิดสัญญาจอง ไม่คืนเงินจอง ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม และก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ช่วยเหลือผู้บริโภคในการดำเนินคดีด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย จำนวน 27 คดี

“ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ เป็นเรื่องที่เวลาเกิดปัญหามีคนร้องเรียนไม่มากนัก แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะกระทบต่อผู้บริโภคมากกว่า 1 คน เช่น กรณีบ้านจัดสรรที่ไม่เป็นไปตามโฆษณา คอนโดสร้างไม่เสร็จตามกำหนด หรือกรณีสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคทุกคนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในภาพรวมด้วย” โสภณระบุ

การจัดเวทีครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาของบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม กรณีบ้านติดจำนองอีซี่โฮม และการซื้อบ้านสำเร็จรูปหรือบ้านน็อกดาวน์ โดยภาพรวมของเวทีมีการสะท้อนปัญหาทั้งเรื่อง สัญญาไม่เป็นธรรม สร้างอสังหาที่ไม่เป็นไปตามแบบ สร้างเสร็จไม่ตามกำหนด บริษัททิ้งงาน รวมถึงความไม่สุจริตของผู้ประกอบการ และกระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จนกระทั้งปล่อยให้เกิดการก่อสร้างทั้งที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียง ร้องเรียน และฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและออกใบอนุญาตให้กับบริษัท การอนุญาตให้ก่อสร้าง การกำกับดูแลสัญญาให้เป็นธรรม รวมถึงควรมีแนวทางและหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่อติดตามผลและเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่ควรจะได้รับ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเรื่องการกำหนดบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย

ตัวแทนผู้บริโภคจากกลุ่มปัญหาบ้านจัดสรร ได้นำเสนอปัญหาซึ่งมีทั้งสัญญาไม่เป็นธรรม รายละเอียดในข้อสัญญาไม่ครบถ้วน มีการปกปิดข้อมูล เช่น ไม่ระบุวัสดุที่นำมาใช้ นอกจากนี้ยังพบ การสร้างไม่เป็นไปตามแบบ ไม่มีหน่วยงานลงตรวจสอบตามที่ได้รับอนุญาต รวมถึงการออกใบอนุญาตไม่มีระเบียบที่ชัดเจน และเมื่อเกิดปัญหาหลังสร้างบ้านเสร็จกลับไม่มีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลโดยเฉพาะ

สำหรับข้อเสนอแนะ เน้นไปที่การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและออกใบอนุญาตให้กับบริษัท การอนุญาตให้ก่อสร้าง รวมถึงควรมีแนวทางและหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่อติดตามผลและเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่ควรจะได้รับ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเรื่องการกำหนดบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย

ส่วนกรณีบ้านน็อกดาวน์ ตัวแทนผู้เสียหายให้ความเห็นว่า สื่อโซเขียลค่อนข้างมีอิทธิพล เนื่องจากส่วนตัวได้เห็นโฆษณาบ้านน็อกดาวน์แล้วเกิดความสนใจ แต่ก่อนตัดสินใจซื้อได้ลงพื้นที่ดูสถานประกอบการแล้ว จึงตัดสินใจทำสัญญา แต่ก็ยังประสบปัญหา จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และเสนอให้มีสมาคมผู้ที่ทำบ้านน็อกดาวน์โดยให้เอกชนดูแลกำกับกันเอง แต่หน่วยงานภาครัฐต้องมีเกณฑ์กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของผู้ประกอบการบ้านน็อกดาวน์ว่าควรจะเป็นอย่างไร และมีการจัดลำดับหรือให้คะแนนผู้ประกอบการเพื่อประกอบการตัดสินใจ

“เวลาผู้บริโภคเจอปัญหาแล้วโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลจะเจอปัญหาบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ผู้บริโภคที่เสียหายบางคนจึงเลือกที่จะเงียบ ทั้งนี้ต้องการให้สภาผู้บริโภคช่วยให้ความมั่นใจกับผู้บริโภค ว่าเมื่อเจอปัญหาควรจะมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็น โดยไม่ต้องไปกลัวเรื่องกฎหมายอาญา นอกจากนี้ เสนอให้เปิดศูนย์รับฝากค่างวดเมื่อทำงานเสร็จจึงรับเงินทีหลัง เพื่อเป็นการสร้างสิ่งยึดเหนียวให้กับผู้บริโภค” ตัวแทนผู้เสียหายกรณีบ้านน็อกดาวน์ ระบุ

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมนั้น กรณีร้องเรียนเป็นกรณีทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเสร็จสิ้นแล้ว แต่หลังจากนั้นพบว่าไม่สามารถกู้สินเชื่อกับธนาคารได้ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายให้กับทางโครงการ โครงการจึงใช้เหตุนี้ในการยกเลิกสัญญา แล้วไม่คืนเงินจองทั้งหมด ที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนำมาสู่ข้อเสนอว่าควรมีการควบคุมสัญญา และควรมีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนหากเจอกรณีไม่สามารถกู้สินเชื่อได้ จะมีเงื่อนไขการคืนเงินจองอย่างไร เพื่อไม่ให้ทางผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้ทำสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้

ส่วนตัวแทนผู้เสียหายจากกรณีบ้านติดจำนอง สะท้อนปัญหาว่า เมื่อผู้บริโภคประมูลซื้อบ้านดังกล่าวและสัญญาเข้าอยู่อาศัยแล้ว กลับพบว่ามีหมายศาลที่ระบุว่าเป็นการฟ้องขับไล่ เนื่องจากทางบริษัทที่รับทรัพย์มาขายทอดตลาดไม่ได้แก้ไขปัญหากับธนาคาร และอาจไม่ได้จัดการในเรื่องของจํานองกับกรมบังคับคดีให้เรียบร้อยก่อน ปัญหาจึงมาตกอยู่กับผู้บริโภคที่ประมูลได้

สำหรับข้อเสนอแนะนั้น กลุ่มผู้เสียหายต้องการให้มีกฎหมายในการควบคุมว่าบริษัทที่รับซื้อทรัพย์จากกรมบังคับคดี ไปขาย ต้องได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์ หรือติดตามว่าทรัพย์ดังกล่าวได้ถอนหนี้หรือภาระจํานองโดยสมบูรณ์แล้ว รวมทั้งเสนอให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมธุรกิจในลักษณะนี้เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอไปถึงธนาคารและกรมบังคับคดี โดยระบุว่า ธนาคารควรแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าถึงลักษณะของธุรกรรมว่าควรจะเป็นอย่างไรสถานะเป็นอย่างไร ซื้อขายต่อได้หรือไม่ ส่วนกรมบังคับคดีควรมีมาตรการหลังจากขายเข้าตลาดทรัพย์ไปแล้ว ต้องมีกำหนดระยะเวลาว่าต้องมาถอนทรัพย์นี้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เนื่องจากความเสียหายมักเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีการไถ่ถอน

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 จะมีงานสัมมนาเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย” จัดโดยคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสภาผู้บริโภคได้รับเชิญไปร่วมเสวนา และแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหา เพื่อสะท้อนปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค