“ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะได้เงินคืน” ความสิ้นหวังที่แอบมีความหวัง ของเหยื่อ มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีระบบปฏิบัติการ ก่อเหตุเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ แม้มีข่าวกวาดล้าง จับกุมแต่ไม่ถึงตัวการสำคัญ “หมดหวังได้เงินคืน”
คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่คุกคาม สร้างความ เดือดร้อนให้ผู้คน สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างมหาศาล รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2565 – 2567 มียอดรวมความเสียหายจากภัยออนไลน์นี้มูลค่าสูงกว่า 59,138 ล้านบาท และปัจจุบันในแต่ละวันยังพบประชาชนถูก ฉ้อโกงตกเป็นเหยื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์การหลอกลวง ซื้อขายสินค้าไม่มีคุณภาพ สินค้าไม่ตรงปก ที่ระบาดหนัก และการหลอกลวงประชาชนทางออนไลน์ ในรูป แบบที่ทำเป็นขบวนการเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และที่สำคัญคือเมื่อหลงโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว การจะได้เงินกลับคืนมานั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
แม้รัฐบาลจะตื่นตัวและเอาจริงเอาจังในการเร่งติดตามกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด้วยการออกพระราชกําหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาภัยฉ้อโกงเงินออนไลน์นี้เป็นการเฉพาะ มีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC บูรณาการ การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการ 24 ชั่วโมง แบบ One – Stop Service เพื่อความรวดเร็ว ในการรับแจ้งเหตุ อายัด ระงับ ยับยั้งการโอนเงิน จากบัญชีเหยื่อไปสู่บัญชีม้าหรือบัญชีธนาคารของกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ลดความเสียหาย เร่งติดตามนำเงินกลับคืนให้กับเหยื่อที่ถูกฉ้อโกงและขยายผลสู่การปราบปรามกลุ่ม ขบวนการผู้กระทำผิด แต่สุดท้ายก็ยังคงตามมิจฉาชีพไม่ทัน และแทบสิ้นหวังจะได้เงินที่สูญไปกลับคืน
“แจ้งเหตุช้า” เหตุผลสำคัญ ตามเงินคืนยาก
พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้การติดตามเงินของผู้เสียหายได้เงินคืนยากหลังตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากความล่าช้าในการสกัดระงับการโอนเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ ตัวว่าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน รวมถึงความล่าช้าในขั้นตอนการแจ้งเหตุที่ผู้แจ้ง ขาดข้อมูลใช้ เวลาไล่เลียงลำดับเหตุการณ์ การตรวจสอบยืนยันพิสูจน์ตัวตนแต่ละรายรวดเร็วและล่าช้าต่างกัน ในทางกลับกันหากรู้ตัวไวแจ้งเหตุด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนโอกาสไม่สูญเสียเงินหรือได้เงินคืนก็มีสูง เนื่องจากมิจฉาชีพยังไม่ได้ โอนเงิน หรือทำธุรกรรมอื่น ๆ เพื่อปิดบังซ่อนเร้นเส้นทางการเงิน
ทั้งนี้รูปแบบของขบวนการมิจฉาชีพมักทำเป็นขบวนการข้ามชาติเพื่อ หลีกเลี่ยงการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยศูนย์บัญชาการและหัวหน้าขบวนการใหญ่และบัญชีรับเงินปลายทางจะอยู่ต่างประเทศ ขณะที่เครือข่ายที่อยู่ในประเทศมีเพียงผู้ร่วมขบวนการและบัญชีม้าที่คอยรับโอนเงิน ก่อนจะยักย้ายถ่ายโอนต่อไปยังบัญชีม้าอื่นเป็นทอด ๆ โดยมีบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องรวมอยู่ด้วยเพื่อตบตาสร้างความสับสนหน่วงเวลาในการติดตาม แกะรอยการโอนเงินของกลุ่มขบวนการ ก่อนที่จะถูกโอนถึงบัญชีสุดท้ายปลายทางที่อยู่ต่างประเทศซึ่งทั้งหมด จะใช้เวลารวดเร็วจึงยากต่อการติดตามเงินเหยื่อผู้เสียหายได้เวลาสั้น ๆ
นอกจากการโยกย้ายถ่ายเทเงินไปยังบัญชีม้า เพื่อป้องกันการตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว ยังพบพฤติกรรมการ “ฟอกเงิน” ด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม จ่ายค่าสินค้าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศหรือนำไปแลกเปลี่ยนซื้อ – ขาย เงินดิจิทัล หรือเงินสกุลคริปโต การติดตามเงินคืนจึงเป็นเรื่องที่ “ยุ่งยากและซับซ้อน” แม้จะมีการจับกุมกลุ่มร่วมขบวนการได้และขยายผลตามเส้นทางการเงินไปถึงตัวการใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ โอกาสจะได้เงินคืนยังยากมากหรือแทบไม่มีโอกาสได้เลย เพราะต้องใช้เวลา มีหลักฐาน และต้องดำเนินการให้ถึงการยึดทรัพย์ พิสูจน์ทรัพย์จึงจะเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ผู้เสียหายได้
ผู้ประกาศสาว เหยื่อมิจฉาชีพ ยังรอเงินคืน
ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เป็นหนึ่งในผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมที่ดิน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2566 โดยมิจฉาชีพอ้างว่าติดต่อเรื่องเสียภาษีทำให้หลงกลติดตั้ง และลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนตัวสแกนใบหน้าและยืนยันตัวตน ภายหลังพบว่าเงินถูกโอนออกจากบัญชีที่ผูกติดกับบัตรเครดิตและบัญชีเงินฝากรวม 3 บัญชี จึงรีบเร่งติดต่อธนาคารและแจ้งความเพื่อขออายัดบัญชีปลายทาง
จนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่ร่วมกระบวนการบัญชีม้าที่รับโอนเงินเป็นทอด ๆ ถึง 6 ราย ก่อนที่จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีสุดท้ายที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งยากต่อการติดตาม จากการจับกุมผู้กระทำผิด ทำให้ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ทรัพย์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คือให้ผู้เสียหายซึ่งมีผู้เสียหายอื่นร่วมด้วย ส่วนการชดใช้ความเสียหายจากธนาคารซึ่งเป็นผู้รับฝากเงิน ได้กำหนดการเยียวยาไว้อย่างมีเงื่อนไขสำหรับ บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทาง การเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งน้อยรายที่ธนาคารจะเยียวยาความเสียหาย
ผู้เสียหายจึงต้องฟ้องดำเนินคดีกับธนาคารเพื่อให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายจนมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีความลักษณะนี้ได้ตัดสินให้ผู้เสียหายชนะและกำหนดให้ธนาคารรับผิดชอบคืนเงินครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสียหาย แม้ผู้เสียหายจะกดลิงก์หรือติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงินเอง ศาลถือเป็นความเลินเล่อประมาทของทั้ง 2 ฝ่าย คือผู้เสียหายและธนาคารเจ้าของบัญชีที่ไม่รัดกุมทำให้เกิดช่องโหว่ให้มิจฉาชีพสามารถ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือได้เกิน 1 เครื่อง ซึ่งแนวคำพิพากษา ของศาลฎีกานี้ จึงได้วางเป็นบรรทัดฐานให้ธนาคารนั้น ๆ ต้องชดใช้เงินคืนให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคครึ่งหนึ่งของเงินที่สูญเสียไป
จับคนร้ายได้ แต่ผู้เสียหายไม่ได้เงินคืน
แม้ว่าพระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะให้อำนาจธนาคารสถาบันการเงินเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกินการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย (กสทช.) สามารถอายัดบัญชี สกัดการไหลออกของเงินเหยื่อ และสกัดกั้นการปฏิบัติการของ มิจฉาชีพจากการปราบปรามระงับสัญญาณซิมผี บัญชีม้า จนสถิติการจับกุมผู้ที่กระทำผิดเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือเหยื่อได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดตามแกะรอยเส้นทางการเงิน จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยึดทรัพย์ที่หลอกลวงไปจากผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ทำให้ติดตามเงินคืนให้ผู้เสียหายได้น้อย ตลอดจนยังไม่พบการแสดงความรับผิดชอบต่อการเยียวยาชดเชยให้แก่ผู้เสียหายจากภาครัฐและธนาคาร กลายเป็นภาระของประชาชนผู้บริโภค หากต้องการได้เงินคืนต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีให้ถึงที่สุด หรือ ต้องติดตามเจรจากับธนาคารเพื่อรับการเยียวยาชดเชย รวมถึง ผู้เสียหายบางรายต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเรียก เงินคืนจากธนาคารต่อศาล ซึ่งเป็นภาระที่ผู้เสียหายต้องจ่ายเงินเอง
ปัจจุบันนี้ผู้เสียหายได้เข้าร้องขอให้สภาผู้บริโภคช่วยเหลือร่วมฟ้องแล้วหลายราย เช่น ผู้เสีย หายรายหนึ่งถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรโทรศัพท์ทวงถามว่าไม่ได้จ่ายภาษีจากการขายสินค้า ผ่านแอปคนละครึ่งจากนั้นแจ้งให้แอดไลน์เบอร์โทร โดยใช้ชื่อ “กรมสรรพากร” และแนะนำให้กดลิงก์ที่ส่งมา ให้ทางไลน์เมื่อโอนจ่ายเงินค่าสินค้าจึงพบว่าเงินหายไปจากบัญชี 307,239 บาท จาก 4 บัญชี จึงได้เข้าขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภค ในการฟ้องคดีเรียกเงินคืนจากธนาคารและแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษกับเจ้าของบัญชีที่โอนเงินไปเพื่ออายัดบัญชีปลายทาง คดีได้ถูกส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถอายัดเงินในบัญชีจำนวน 306,619 บาท ขณะอยู่ระหว่างรอการ สืบสวนสอบสวนเส้นทางการเงินหลังได้จับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อติดตามยึดทรัพย์ และนำมาเฉลี่ยเงินที่ยึด ได้คืนเหยื่อ
ผู้เสียหายอีกรายหนึ่งที่มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน และให้โหลดแอปพลิเคชันกรมที่ดิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงดาวน์โหลดและต่อมาพบว่ามีเงินจำนวน 1,006,000 บาท หายไปจากบัญชี ธนาคารหลังจากเกิดเหตุได้แจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านและแจ้งความออนไลน์ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ออกหมายแจ้งอายัดบัญชีของมิจฉาชีพและสามารถอายัดเงินได้บางส่วนปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการดำเนินคดี ของตำรวจและธนาคารเพื่อคืนเงิน
ซูเปอร์โพล ชี้ “ธนาคารควรรับผิดชอบ” เหยื่อทุกกรณี
จะเห็นว่าความหวังในการได้เงินคืนเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องการสอดคล้อง กับผลสำรวจของซูเปอร์โพล เรื่อง “เงินถูกโจรกรรม ใครต้องรับผิด” โดยสำรวจความเห็นของประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,125 คน ระหว่างวันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผลการ พบว่าประชาชน ร้อยละ 75.4 เห็นว่าความเสียหายจากการเงินที่ถูกโจรกรรมจากกลุ่มโจรไซเบอร์ ธนาคารผู้รับฝากเงินต้องรับผิด รองลงมาคือโจรไซเบอร์ ร้อยละ 56.4 อันดับสามคือ ประชาชนเจ้าของบัญชี ร้อยละ 31.8 ธนาคารแห่งประเทศไทยร้อยละ 23.0 และอันดับสุดท้ายตำรวจ ร้อยละ 13.5 นอกจากนี้ยังต้องการเห็น การออกมาแสดงความรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายของธนาคาร ผู้รับฝากเงินต้องรับผิดชอบความเสียหายใน ทุกกรณีเพราะจากการเป็นสถาบันรับฝากเงินที่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของธนาคารร่วมกับผู้กระทำผิด
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกนโยบายให้สถาบันการเงินเพิ่มมาตรการป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ระบุว่า “กรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินให้ผู้ให้ บริการทางการเงินช่วยเหลือ และดูแลผู้ใช้บริการตามสมควรและหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าความเสียหาย ดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดหรือบกพร่องของผู้ให้บริการทางการเงินผู้ให้บริการทางการเงินต้องเยียวยา ความเสียหายอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมให้กับผู้ใช้บริการโดยเร็วซึ่งจะต้องไม่เกิน 5 วันนับแต่วันที่ผู้ให้บริการทางการเงินพิสูจน์ทราบความผิดพลาดหรือบกพร่องดังกล่าว”
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วธนาคารก็จะไม่เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายผู้เสียหายจึงมี 2 ทางเลือกที่ติดตามเงินคืนคือ หนึ่ง ฟ้องร้องดำเนินคดีกับธนาคาร เพื่อติดตามเงินคืนโดยอ้างความผิดพลาดหรือความบกพร่องเกิดจากธนาคาร หรือสอง รอขอเฉลี่ยทรัพย์ เมื่อตำรวจจับตัวมิจฉาชีพได้และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามเส้นทางการเงิน และยึดทรัพย์ของมิจฉาชีพได้ โดยนำทรัพย์ที่ยึดจากมิจฉาชีพมาเฉลี่ยให้ผู้เสียหายทุกรายตามสัดส่วนความเสีย หายซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานและจะไม่ได้รับเงินคืนเต็มจำนวนหากมีจำนวนผู้เสียหายมากแต่ติดตามเส้นทางการเงิน และยึดทรัพย์มาได้น้อยผู้เสียหายก็จะได้เงินคืนน้อยแต่ถ้ายึดทรัพย์ไม่ได้ผู้เสียหายจะไม่ได้เงินคืนเลย
สภาผู้บริโภค เร่งรัฐเพิ่มมาตรการ “คุ้มครอง – ป้องกัน – เยียวยาผู้บริโภค”
ท่ามกลางสถิติการก่อเหตุและความเสียหายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สังคมคาดหวังจะเห็นประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินในการดูแลทรัพย์สินของประชาชน ทั้งในแง่การป้องกัน คุ้มครองดูแล และการเยียวยา ซึ่งเป็นสิทธิต้องได้รับจากภาครัฐและถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ในทำนองเดียวกันสภาผู้บริโภคก็คาดหวังจะเห็นการดูแลและเยียวยาผู้บริโภคชัดเจนผ่านกลไกและหลักเกณฑ์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ตลอดจนการปรับปรุง และเปิดเผยหลักเกณฑ์ความผิดพลาดและความบกพร่องของผู้ให้ บริการทางการเงิน ตามแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินให้เท่าทันกับสถานการณ์การก่อเหตุของมิจฉาชีพ เพื่อลดความเสียหาย ลดผลกระทบ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
กมล กมลตระกูล ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเคยจัดเวทีร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยผลักดันให้สถาบันการเงินตั้งกอง ทุนหรือทำหลักประกันคุ้มครองความเสียหายในการฝากเงินกับสถาบันการเงิน กรณีเกิดภัยทุจริตทางการเงิน และกำหนดนิยามความผิดพลาดและความบกพร่องของผู้ให้บริการทางการเงิน ตามแนวนโยบายการบริหาร จัดการภัยทุจริตทางการเงินให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะบรรเทาเยียวยาผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นทันที ในระหว่างรอการตามจับกุมคนร้ายและรอการติดตามเงินคืน
จึงควรมีการบังคับใช้กฎหมายที่สถาบันการเงินต้อง รับผิดชอบเยียวยา อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความเสียหายของผู้บริโภคที่ถูกดูดเงินไปตามคำพิพากษาของศาล ฎีกา บริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องร่วมรับผิดชอบเพราะการทำธุรกรรมผ่านเครือข่าย รวมถึงเสนอให้มีการทำ ข้อตกลงหรือความร่วมมือกับประเทศต้นทางที่ก่อภัยทุจริตทางการเงิน ให้ร่วมปราบปรามและคืนเงินที่ยึดได้กลับมาที่ประเทศไทย
“การจัดทำเทคโนโลยีสกัดมิจฉาชีพและป้องกันการโอนออกจากบัญชีม้า ควรทำไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาระบบเยียวยาความเสียหาย และควบคู่ไปกับการสร้างความ เข้าใจให้ประชาชนรู้เท่าทันกลลวง รวมทั้งตระหนึกถึงสิทธิของผู้บริโภคที่มีอยู่ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและได้รับความคุ้มครองจากภัยทุจริตทางการเงินอย่างแท้จริง” ประธานอนุกรรมการด้านการเงินกล่าวทิ้งท้าย