สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับคณะอาจารย์จากมหา’ลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าจากต่างประเทศ สะท้อนปัญหา – แลกเปลี่ยนมุมมองการคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละประเทศ
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับคณะอาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจากประเทศออสเตรียและญี่ปุ่น ที่เข้ามาศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงภาพรวมของบทบาทหน้าที่ รวมถึงภารกิจที่สภาผู้บริโภคกำลังขับเคลื่อนในปัจจุบัน อาทิ การผลักดันค่าเดินทางโดยรถสาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงการใช้บริการได้ การผลักดันการปรับแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้อย่างทันสถานการณ์ โดยการปรับเพิ่มสิทธิผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับสากล หรือการผลักดันให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เนื่องจากปัจจุบันเอไอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้นและมิจฉาชีพปรับรูปแบบมาหลอกลวงผู้บริโภค นอกจากนี้สภาผู้บริโภคยังได้จัดทำนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน รวมทั้งการเฝ้าระวัง เตือนภัย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน
ด้านตัวแทนจากประเทศมาเลเซีย ระบุว่า ประเทศมาเลเซียพบปัญหาคล้ายกับประเทศไทย คือ การซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือพบปัญหาเกี่ยวกับการเคลมสินค้า โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำ ๆ เป็นเพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ค.ศ. 1999 (Consumer Protection Act 1999) ในประเทศมาเลเซียยังไม่เข้มแข็งพอ ส่วนตัวแทนจากประเทศจีน ให้ความเห็นถึงประเด็นอัตราค่าโดยสารในการเดินทางด้วยรถสาธารณะของประเทศจีนที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 5 บาท ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนและทำให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงบริการสาธารณะเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง
ขณะที่ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลและเอกชนในประเทศญี่ปุ่นมีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับคนรุ่นใหม่ โดยมีการตั้งชมรมจริยธรรม รวมถึงได้จัดการแข่งขันแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการบริโภคอย่างยั่งยืนของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคนอายุน้อย ๆ ได้อย่างยั่งยืนขึ้นมาก