เร่งรัฐผลักดันเลมอน ลอว์ (Lemon Law) หวังคุ้มครองผู้บริโภค – ยกระดับสินค้า

สภาผู้บริโภค เร่งรัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ “เลมอน ลอว์” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพสินค้าในประเทศ

จากกรณีวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือ “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้มีการประชุมพิจารณาเนื้อหาร่างกฎหมายครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 โดยได้เชิญสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เข้าร่วมให้ความเห็นด้วย นั้น

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) นิสรา แก้วสุข ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมให้ความเห็นกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นครั้งที่ 2 โดยจากการเข้าร่วมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … ทั้ง 2 ครั้ง สภาผู้บริโภคเห็นชอบและสนับสนุนหลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวและได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นประเภทของสินค้าที่กฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครอง การเพิ่มช่องทางการบอกเลิกสัญญาผ่านทางระบบออนไลน์ รวมถึงการขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมองว่ารัฐบาลควรเร่งผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ผลักดันพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และควรผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวให้สำเร็จภายในรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อให้กระบวนการการออกกฎหมายไม่ล่าช้าและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองโดยเร็ว

สำหรับเส้นทางการผลักดันเลมอน ลอว์ในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2553 – 2558 ที่สถานการณ์ปัญหาการชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยเฉพาะกรณีรถยนต์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและได้รับความสนใจจากสาธารณะมากขึ้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์รับผิดชอบแก้ไขซ่อมแซมให้รถยนต์ใช้งานได้ตามปกติ แม้บริษัทฯ จะซ่อมตามที่แจ้งหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อนำรถยนต์มาใช้งานยังพบอาการผิดปกติเหมือนเดิม

ผู้บริโภคจึงเข้าไปร้องเรียน จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนำรถยนต์ที่เกิดปัญหาไปการทดสอบ และพบว่ารถยนต์มีปัญหาจริง เมื่อบริษัทฯ ทราบจึงรับซื้อรถคืนเพียง 3 คัน จากทั้งหมด 12 คัน ดังนั้น ผู้เสียหายที่เหลือจึงฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรม กรณีผู้บริโภคฟ้องบริษัทรถยนต์กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สิทธิซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า หรือขอลดราคาสินค้าได้ กรณีได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง

ขณะที่เดิมมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดสำหรับสินค้าชำรุดบกพร่องอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังมีปัญหาหลายส่วนในการพิจารณาคดี เช่น การกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ไม่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อที่ยังคลุมเครือ หรือคำว่า “ความชำรุดบกพร่อง” ยังไม่มีการนิยาม และที่สำคัญคือผู้บริโภคที่ใช้สิทธิฟ้องคดีเองมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อรถกับไฟแนนซ์จึงไม่สามารถเรียกร้องกับบริษัทรถได้โดยตรง และมักเกิดข้อสงสัยในความเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ทำให้การพิสูจน์ความชำรุดบกพร่องทำได้ยาก

ต่อมาในปี 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากฎหมายที่ให้ความคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภคเมื่อได้รับสินค้าชำรุด จนสุดท้ายออกมาเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า และหลังจากถูกแช่แข็งมานาน กฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการปัดฝุ่น และถูกนำเข้าที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2665 ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว และเรื่องได้ถูกส่งมาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบขัดเกลาเนื้อหาของร่างกฎหมายอีกครั้ง ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป


Lemon Law คืออะไร

“เลมอน ลอว์” (Lemon Law) ที่แปลตรงๆได้ว่า “กฎหมายมะนาว” นั้น คำนี้ มาจากการเปรียบเทียบปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเวลาซื้อสินค้ามาใหม่ แล้วพอนำมาใช้งานกลับชำรุดเสียใช้การไม่ได้ ไม่สมราคา ถามไถ่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบก็ยากเย็นแสนเข็ญ นั้นเหมือนกับผลมะนาว ที่ดูจากเปลือกภายนอกสีสดใสสวยงามชวนน่ากิน แต่พอฝานเนื้อในออกมาชิมแล้วต้องเบ้ปาก เพราะความเปรี้ยวของมันนั่นเอง ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นแนวหน้ากลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนที่มีการออกกฎหมายชื่อ “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) เมื่อเดือนกันยายน 2555 โดยกฎหมายลักษณะนี้ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ที่มีบทลงโทษ แต่เป็นกฎหมายที่ใช้ในทางแพ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ร่วมป้องกันไม่ให้สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อ เป็นเหมือนมะนาวนั่นเอง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค