สภาผู้บริโภค ชี้จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หลังรัฐเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง – แดง 20 บาทตลอดสาย พร้อมเสนอ 6 มาตรการ เพื่อให้ค่าโดยสารราคา 20 บาท ทำได้ทุกสาย
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยเริ่มนำร่องในการเก็บอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นั้น
วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทถือเป็นการส่งเสริมระบบขนส่งมวลให้ทุกคนขึ้นได้ ทุกวัน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาการใช้บริการขนส่งมวลชนของประเทศไทยที่มีอัตราต่ำมากหากเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ในอนาคตการสนับสนุนของรัฐจะลดลง หรืออาจไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณเลยหากมีผู้โดยสารเดินทางมาก โดยจากข้อมูลของกรมขนส่งทางรางพบว่า ข้อมูลวันที่ 16 ตุลาคม 2566 มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสองสายเพิ่มมากขึ้นถึง 94,446 คนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้โดยสารเพียง 50,564 คนต่อวัน (ข้อมูลวันที่ 15 ตุลาคม 2566) หรือ เพิ่มขึ้นถึง 43,882 คนต่อวัน โดยเฉพาะสายสีม่วง ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 34,003 คนต่อวัน เป็น 69,007 คนต่อวัน
ขณะที่สายสีเหลืองมีผู้โดยสารจำนวน 37,060 คนต่อวัน สีน้ำเงินมากกว่า 4 แสนคนต่อวัน หากสามารถเชื่อมต่อได้ทุกสายเชื่อว่าจะมีคนใช้บริการทั้งระบบเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน รัฐก็จะมีรายได้จาก การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร้านค้า และการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น
“รัฐบาลต้องสนับสนุนให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนทุกคนขึ้น เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การสร้างถนนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนเดินทางได้ เช่นเดียวกับการอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพื่อลดภาระค่าโดยสารและทำให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น โดยผู้บริโภคควรจะเป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ และค่าโดยสารที่ลดลงทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดการใช้น้ำมัน ลดมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” สารีกล่าว
สารี กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการอ้างกรณีที่รัฐนำเงินมาอุดหนุนรถไฟฟ้าราคา 20 บาทให้กับคนกรุงเทพฯ นั้น ปัจจุบันมีประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝงที่ใช้ชีวิตใน กทม.และปริมณฑลรวมมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่มีคนใช้รถไฟฟ้าเฉลี่ยรวมมากกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อวัน ดังนั้นนโยบายดังกล่าวจึงไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพที่ได้ประโยชน์ แต่คนทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย
นอกจากนี้จากการประมาณการณ์ผลประโยชน์ ของกระทรวงคมนาคม จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 40.40 ล้านบาทต่อเดือน (Vehicle Operating Cost Saving : VOC) 2. การประหยัดเวลาในการเดินทาง 25.26 ล้านบาทต่อเดือน (Value of Time Saving : VOT) 3. ค่าความสุข (Well – Being Index) 11.52 ล้านบาทต่อเดือน 4. การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ (Accident Cost : ACC) จำนวน 0.79 ล้านบาทต่อเดือน และ 5. การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.39 ล้านบาทต่อเดือน (CO2 Reduction)
โดยผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ เมื่อมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จะลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประเมินมูลค่าการเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเวลาในการเดินทาง ค่าความสุข และการลดความสูญเสียทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมกัน 5 ปัจจัยข้างต้น จะทำให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 79.35 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 952.23 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่ามาก
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอเพิ่มเติม 6 ข้อ เกี่ยวกับมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททั้งระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสายสีม่วง สายสีแดง และสายสีอื่นในอนาคต โดยรัฐควรต้องเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนเดินรถ ดังนี้
1. เสนอให้รัฐนำเงินกองทุนหรือภาษีที่จัดเก็บได้มาสนับสนุนเป็นการลงทุนจัดบริการขนส่งมวลชนให้กับประชาชน เช่น กองทุนเลขสวย ภาษีจากโอกาสทางนโยบาย (Opportunity Policy Tax) จากมูลค่าที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านของเอกชน ภาษีรถยนต์และภาษีน้ำมันจากคนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนนที่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน
2. ให้รัฐบาลเร่งเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีเหลืองให้คิดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อทำให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ครอบคลุมต่อการใช้บริการของประชาชน มีเป้าหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนขึ้นได้ทุกวันและมีประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน
3. พัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) เช่น รถเมล์ รถสองแถวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อส่งเสริมให้คนเข้ามาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งมวลชนพื้นที่ส่วนภูมิภาค โดยต้องทำควบคู่กันเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ราคาเป็นธรรม
4. ทบทวนแก้ไขโครงสร้างสัญญาสัมปทาน ตรวจสอบสัญญาค่าจ้างเดินรถที่อาจจะสูงเกินไป สำหรับสัญญารถไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อเจรจาขอปรับสัญญาใหม่ โดยต้องไม่นำต้นทุนในส่วนค่าโครงสร้างงานโยธาไปคิดรวมเป็นค่าโดยสารกับผู้บริโภค
5. ต้องเร่งพิจารณาแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานี เพื่อนำรายได้มาชดเชยค่าโดยสารที่รัฐบาลสนับสนุนไป โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญในการจัดทำรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ได้แก่ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการโฆษณาบนรถไฟฟ้า หรือการพัฒนาสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าร้านค้า การเชื่อมต่อกับอาคาร ห้างสรรพสินค้ากับรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ทำให้ไม่ต้องขาดทุน
6. ปรับปรุงการประมูลสายสีส้มตะวันตกโดยรัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้าง และเร่งจ้างเอกชนเดินรถสายสีส้มตะวันออก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโฆษณาเพื่อนำรายได้ลดภาระค่าโดยสารของผู้บริโภค