สภาองค์กรผู้บริโภค ชี้ มาตรการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเอทีเอ็ม เดบิต เครดิต ก่อนฝากเงินผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ สร้างภาระให้ผู้บริโภค เสนอใช้บัตรประชาชนหรือพัฒนาระบบที่ไม่ต้องใช้บัตร ให้สอดคล้องกับสังคมยุคดิจิทัล
จากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ ออกมาตรการขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ CDM (Cash Deposit Machine) ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต ทุกครั้ง โดยจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น
วันนี้ 19 ตุลาคม 2565 กมล กมลตระกูล ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินโดยใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภค โดยเสนอให้เปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชน หรือพัฒนาระบบยืนยันตัวตนในลักษณะที่ไม่ต้องใช้บัตรแทน
ประธานอนุกรรมการด้านการเงินฯ อธิบายว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่กดเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร และไม่ได้ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตเลย นอกจากนี้ การมีบัตรหลายใบยังทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าธรรมเนียมทำบัตรประมาณ 200 – 800 บาทต่อบัตร 1 ใบ ซึ่ง ไม่สอดคล้องกับนโยบายสังคมยุคดิจิทัล อีกทั้งมาตรการดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาฟอกเงินได้จริงแต่กลายเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบผู้บริโภคส่วนใหญ่ รวมถึงธนาคารเองด้วย
“แนวคิดการออกมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อคัดแยกคนร้ายออกจากคนดี แต่ควรจะทำให้เกิดผลกระทบกับคนดีน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย ดังนั้นการออกมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ควรรับฟังความเห็นผู้บริโภคด้วย” กมล กล่าว
ประธานอนุกรรมการด้านการเงินฯ ยืนยันว่า สภาองค์กรผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และขอเสนอให้ปรับวิธียืนยันตัวผู้ฝากเงินโดยเปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะที่ไม่ต้องใช้บัตรแทน ทั้งนี้ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ ร่วมกันเร่งพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนหรือไม่ต้องใช้บัตร โดยเร็วก่อนการบังคับใช้กฎหมาย ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค
ทั้งนี้ หลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะมีการประชุมร่วมกับ ธปท. และ ปปง. เพื่อหามาตรการยืนยันตัวตนที่เหมาะสมและไม่สร้างภาระต่อผู้บริโภค ต่อไป