จ่อฟ้องศาลปกครอง เร่งผู้ว่าฯ ยุติ ‘ร่างผังเมืองรวม กทม.’ ภายใน 30 วัน

ยื่นชัชชาติ ยุติ ‘ร่างผังเมืองกทม.’

ภาคประชาชน ยื่นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยุติกระบวนการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตคนกรุง เตรียมฟ้องหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการดังกล่าวภายใน 30 วัน

จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำและวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ แต่มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่รวมถึงการคัดค้านจากสภาผู้บริโภคและหน่วยงานอื่น ๆ จนทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศขยายเวลาการรับฟังความจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นั้น

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ สภาองค์กรชุมชนคลองเตย เครือข่ายผู้บริโภค 50 เขต รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 28 องค์กร/ชุมชน1  ได้ร่วมกันยื่นหนังสือ ต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ยุติกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการร่างผังเมืองดังกล่าวภายใน 30 วัน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ กทม. จะขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 แต่การขยายเวลาและเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะปัญหาเรื่อง ‘จุดเริ่มต้นของการร่างผังเมืองที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย’ ยังไม่ถูกจัดการ

“สภาผู้บริโภคติดตามเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างผังเมืองอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าร่างผังเมืองฉบับนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการจราจร การจัดการน้ำ การลดความแออัดของชุมชน รวมถึงสิทธิของคนจนที่จะมีที่อยู่อาศัยในเมือง เป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึง
ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ประชาชนต้องการให้ยุติการทำร่างผังเมืองฉบับนี้ และรอระยะเวลาอีก 2 ปีเพื่อเริ่มต้นทำผังเมืองใหม่และให้ประชาชนทั้ง 50 เขตใน กทม. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำผังเมืองอย่างแท้จริง” สารี ระบุ

ทั้งนี้ หากกรุงเทพมหานครเพิกเฉย ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค (วันสุดท้ายคือวันที่ 18 สิงหาคม 2567) และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ร่างผังเมืองฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น เป็นฉบับที่มีกระบวนการมาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งนี้ ไม่สามารถออกคำสั่งยุติการร่างผังเมืองได้ แต่จะรับความเห็นและเสียงสะท้อนในครั้งนี้ไปและนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกหลายกระบวนการ เช่น การให้ความเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ผังเมืองไม่ใช่สิ่งวิเศษมันไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง เพราะปัญหาบางอย่างเรื้อรังมานาน เพราะฉะนั้นอย่าไปรอทำผังเมืองใหม่เลย อะไรแก้ได้แก้ก่อน ส่วนสิ่งที่ยังคิดว่าไม่ดีก็สามารถไปแก้ไขในอีก 5 ปีที่มีการจัดทำร่างผังเมืองฉบับใหม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนเสนอมาในวันนี้ยังไม่สามารถรับปากได้ว่าจะทำตามข้อเสนอทั้งหมด แต่จะนำเสียงสะท้อนเข้าไปสู่กระบวนการ และรอดูร่างผังเมืองที่ออกมา นี่เป็นเพียงแค่ขั้นตอนแรก และหลังจากนี้ยังต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกมากมาย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ก้องศักดิ์ สหศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค

ขณะที่ ก้องศักดิ์ สหศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนจากหลายชุมชนที่เริ่มเข้าใจและสนใจเรื่องผังเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นที่หลักสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือมายื่นต่อผู้ว่าฯ กทม. ในวันนี้ คือขอให้ยุติกระบวนการจัดทำผังเมืองที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน และเริ่มต้นร่างผังเมือง กทม. ฉบับใหม่ ที่รับฟังความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากกระบวนการรับฟังความเห็นตาม พ.ร.บ.การผังเมือง ปี 2518 ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ก่อนร่างผังเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ที่มาร่วมยื่นหนังสือในวันนี้ ไม่มีใครได้มีส่วนร่วมก่อนเริ่มกระบวนการเลย กระบวนการที่ผ่านมาคือการนำร่างผังเมืองที่ กทม. ทำเสร็จแล้วมารับฟังความเห็นจากประชาชน

ก้องศักดิ์กล่าวอีกว่า การคัดค้านและยื่นหนังสือในวันนี้จะไม่เกิดขึ้น หาก กทม. ฟังเสียงประชาชนและนำไปปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมามีกระบวนการ ‘รับฟัง’ อย่างเดียว แต่ไม่ทำตามข้อเสนอและความคิดเห็น เมื่อประชาชนรับรู้มากขึ้น สนใจเรื่องผังเมืองมากขึ้นและพบว่าพวกเขาถูกริดรอนสิทธิ์ อีกทั้งในการรับฟังความเห็นไม่ระบุถึงผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมืองฯ จึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอให้ยุติและเริ่มจัดกระบวนการทำร่างผังเมืองใหม่ตั้งต้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย

“สิ่งที่ กทม. บอกว่า มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการทางกฎหมายมาตลอดตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นั้น เมื่อดูจากสถิติจะเห็นว่า มีคนเข้าร่วมการประชุมทั้งหมดเพียงประมาณ 21,200 คน หรือคิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 5,470,000 คน มีคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมาบอกว่ากระบวนการนี้ชอบธรรม จะผลักดันต่อ และให้ไปรอแก้ไขในกระบวนการร่างผังเมืองอีก 5 ปีข้างหน้า เรายอมรับไม่ได้ครับ” ก้องศักดิ์ระบุ

ยุติ ‘ร่างผังเมืองกทม.’

นอกจากนี้นังมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนของชุมชนต่าง ๆ ที่มาร่วมยื่นหนังสือ โดยมีปัญหาใหญ่ร่วมกันคือ กทม. ปรับเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่มีจดหมายแจ้ง และมีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่ได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากร่างผังเมืองที่ กทม. วางมาก่อนแล้ว ไม่ใช่การเปิดรับฟังความเห็นก่อนร่างตามที่กฎหายระบุ ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า กทม. ต้องยุติการดำเนินการจัดทำและว่างผังเมืองฉบับนี้

1รายชื่อองค์กร ชุมชน กลุ่มประชาชนผู้ที่คัดค้านการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)

1. สภาองค์กรของผู้บริโภค      
2. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
3. มูลนิธิดวงประทีป
4. มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา
5. มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์
6. สภาองค์กรชุมชนคลองเตย
7. สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE)
8. เครือข่ายผู้บริโภค
9. เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง
10. ประชาชนในเขตวัฒนา
11. ประชาชนชุมชน อารีย์ – ราชครู
12. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในอาคารผาสุก
13. ชุมชนเขตพญาไท
14. ชุมชนอินทามาระ 38
15. ชุมชนบริเวณบึงรับน้ำ คู้บอน
16. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยศุภราช 1 เขตพญาไท
17. ประชาชนในชุมชนซอยพหลโยธิน 37
18. ประชาชนในชุมชนซอยประดิพัทธิ์ 23
19. ชุมชนหมู่บ้านเดอะธารา รามอินทรา
20. ประชาชนในเขตภาษีเจริญ
21. ประชาชนในซอยสุขุมวิท 61
22. ประชาชนในชุมชนคลองเตย
23. ชุมชนพหลโยธินซอย 2
24. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยสวัสดี
25. หมู่บ้านศุภาลัยพระราม 2
26. ซอยสุขุมวิท 49
27. ประชาชนในเขตสุขสวัสดิ์
28. ชุมชนอนุรักษ์พญาไท

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค