หยุดภัย! “รถรับส่งนักเรียน” 1 ชีวิต 11 บาดเจ็บรับเปิดเทอม

สภาผู้บริโภคจี้หน่วยงาน ดำเนินการยกมาตรการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ ตามมติ ครม.7 พ.ย.66 หลังพบอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเกิดขึ้นซ้ำซากกว่า 20 ครั้ง ขณะที่ล่าสุดเปิดเทอมไม่ถึงสัปดาห์เกิดอุบัติเหตุมีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บกว่า 11 คน  

เปิดเทอมได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็เกิดอุบัติเหตุรถตู้รับส่งนักเรียนชนรถยนต์ส่วนบุคคลพลิกคว่ำบริเวณตำบลซอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ทำให้นักเรียนที่โดยสารบนรถตู้ได้รับบาดเจ็บรวม 11 คน และมีนักเรียน 1 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของสภาผู้บริโภคพบว่า หลังมติคณะรัฐมนตรี วันที่7 พฤศจิกายน 2566 ที่กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนให้เป็นนโยบายระดับชาติ และมีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตามแนวทางมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนเพื่อทำให้อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย แต่ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนนับจาก 7 พฤศจิกายน 2566 – 17 พฤษภาคม 2567 มากถึง 20 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 229 คน จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนผลถึงข้อสั่งการถึงหน่วยงานของมติคณะรัฐมนตรีที่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะสถานการณ์ยังความรุนแรง

คงศักดิ์ กล่าวอีกว่า  ปัญหาความไม่ปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนยังเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะทุกฝ่ายยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังที่ชัดเจน ทำให้ปัญหาเกิดซ้ำซาก โดยส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อ ขับรถเร็ว ใช้รถผิดประเภท ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถ เช่น กรณีล่าสุดสภาพภายนอกเป็นรถตู้โดยสาร แต่ภายในถอดเบาะเดิมออกและใส่เบาะที่นั่งแบบสองแถวเข้าไปแทนเพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยของเด็กนักเรียน

“อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับในการทำตามมติวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กและนักเรียนทุกคนให้ได้จริง เพราะไม่ควรมีเด็กต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการเดินไปทางกลับจากโรงเรียนถึงบ้านอีกแล้ว”คงศักดิ์กล่าว

นายคงศักดิ์  ย้ำว่า สภาผู้บริโภคอยากเห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตอบสนองมติ ครม. ดังกล่าวอย่างทันท่วงที และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุนกับมาตรการความปลอดภัยให้สมกับที่กำหนดนโยบายรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงพัฒนาระบบ มาตรฐาน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

ขณะที่ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รีบขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว โดยนำมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประกาศให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับเด็กอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกโรงเรียนต้องมีแผนย่อยของตัวเอง และให้โรงเรียนต่าง ๆ ทำแผนร่วมกับรถรับส่งและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้กำหนดระบบติดตามประเมินผลและเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างน้อยทุก 3 เดือนจะเห็นผลในเชิงสถิติที่ต้องลดลงร้อยละ 5 ซึ่งเป็นดัชนีชี้ว่าระบบความปลอดภัยบนท้องถนนของนักเรียนดีขึ้น

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #รถโรงเรียน #รถรับส่งนักเรียน #ความปลอดภัย