สภาผู้บริโภค เรียกร้อง ‘บีทีเอส’ ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวขัดข้อง พร้อมเสนอ คมนาคม – กทม. ตั้ง คกก. ตรวจสอบ ออกมาตรการกำกับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อเวลาประมาณ 8 โมงของวันนี้ (19 พฤษภาคม 2566) เกิดเหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว คูคต – เคหะฯ ขัดข้อง เนื่องจากบีทีเอสมีการปรับรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการจากสถานีคูคตถึงสถานีปลายทางเคหะฯ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารค้างอยู่บริเวณชานชลาของทั้ง 2 สถานีเป็นจำนวนมาก และเกิดความล่าช้าในการเดินทางประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งที่ติดอยู่บนขบวนรถไฟฟ้าที่จอดค้างอยู่บนรางระหว่างสถานีห้าแยกลาดพร้าวและหมอชิตนานกว่า 30 นาที โดยที่เครื่องปรับอากาศบนรถไฟฟ้าไม่ทำงาน จนทำให้ผู้โดยสารที่ติดค้างภายในจำเป็นต้องหาทางเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศที่อบอ้าว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภคระบุว่า เหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก โดยครั้งนี้ถือเป็นการขัดข้องที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น สวนทางกับมาตรฐานการบริการและค่าโดยสารที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ขาดการประชาสัมพันธ์ ไม่ทันต่อสถานการณ์ สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของการเสียเวลาและผลกระทบต่อจิตใจจากเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องดังกล่าว โดยคืนเงินค่าโดยสารให้แก่ผู้ใช้บริการเต็มจำนวนในทุกกรณีและอำนวยความสะดวกในทุกช่องทางเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภค และให้ใช้บริการฟรีในการเดินทางครั้งถัดไป
พร้อมออกมาตรการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นระบบและเปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ รวมถึงออกใบรับรองความล่าช้าที่เป็นความบกพร่องของรถไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคที่ต้องนำไปแสดงในกรณีเข้างานสายโดยทันทีอีกทั้งบริษัทควรมีการวางแผนการเดินรถอย่างรอบคอบและรัดกุมให้เหมาะสมกับราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่าย
และหากเกิดเหตุขัดข้องขึ้นควรมีการประกาศ แจ้งเตือนผู้บริโภคในทุกช่องทางที่เข้าถึงง่ายโดยด่วน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้ทันท่วงที ทั้งนี้ มาตรการชดเชยจะต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ต้องเคารพสิทธิของผู้บริโภคและไม่สร้างภาระให้ผู้บริโภคไม่ว่ากรณีใด
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องไปถึงกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยทันที เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค โดยออกมาตรการกำกับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์รุนแรงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก รวมทั้งใช้ปัญหาเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องครั้งนี้เป็นเหตุผลประกอบการพิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคตด้วย
สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา สามารถปรึกษา – ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่ www.tcc.or.th โทรศัพท์ 02 239 1839 อีเมล [email protected] เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ Line Official @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U