เมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคเอไอ (AI) ที่มีทั้งประโยชน์มหาศาล และโทษมหันต์ สภาผู้บริโภคเสนอให้รัฐทำงานแบบบูรณาการกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลและรับมือกับเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือหลอกลวงผู้บริโภค
เอไอคือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลและสามารถทำงานคล้ายมนุษย์ ซึ่งในด้านดีจะช่วยลดเวลาในการทำงาน การวิจัย การศึกษาเสมือนมีการจ้างผู้ที่มีความรู้เข้ามาทำงานหลาย ๆ คน
“แต่ในด้านลบก็มีเพราะข้อมูลที่ได้มาจากการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการรับผิดชอบต่อสังคม และข้อมูลที่กรอกไปจะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ” สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคดิจิทัลไปสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI : Artificial Intelligence) ในรายการคุยกันเช้านี้ ออกอากาศผ่านคลื่นวิทยุครอบครัวข่าว ส.ทร. FM 106 MHz ดำเนินรายการโดย นิธินาฏ ราชนิยม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากลปี 2567
สุภิญญา ระบุว่า ปัจจุบันเอไอเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งความฉลาดในการประมวลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มาจากข้อมูลที่มนุษย์ป้อนเข้าไปจนทำให้เอไอสามารถสร้างสรรค์ข้อมูลได้หลากหลายอย่าง ด้วยช่องว่างนี้อาจทำให้มิจฉาชีพนำเอไอมาเลียนแบบบเสียง ภาพ และนำมาหลอกลวงจนผู้บริโภคคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การโทรมาหลอกลวงโดยการปลอมแปลงเสียงที่เหมือนคนรู้จักใกล้ชิด เช่นรับสายลูกสาวที่โทรมาเพื่อขอเงิน แต่กลับกลายเป็นมิจฉาชีพใช้เอไอในการเลียนแบบเสียงของลูกสาว ซึ่งการหลอกลวงที่ซับซ้อนแบบนี้ เรียกว่าดีพเฟค (Deepfake) ที่คล้ายจริงมากจนเกิดการหลงเชื่อและสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ ในวันสิทธิผู้บริโภคสากลในปี 2567 นี้ องค์กรผู้บริโภคทั่วโลกได้มีการผลักดันประเด็น ‘เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค’ ซึ่งได้มีการรณรงค์สร้างความตื่นตัว เพื่อให้รัฐบาลทุกประเทศมีนโยบายพร้อมรับมือกับเอไอให้ได้มากกว่านี้
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ภาครัฐเร่งทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลการใช้เอไอ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการทำงานแบบแยกส่วนไม่มีการบูรณาการ ทำให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคในร้องเรียนกรณีเมื่อเกิดความเสียหายกรณีเดียว แต่ต้องร้องเรียนหลาย ๆ หน่วยงาน พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้มีการสร้างกลไกความร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการกำกับดูแลและหาวิธีรับมือกับภัยเอไอ
“อาจต้องหาหน่วยงานกลางเพื่อสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลเอไอ รวมถึงการรณรงค์และทํางานเชิงป้องกันร่วมกันและยกระดับปราบปรามแบบจริงจัง เพื่อสะท้อนให้เป็นว่าหลายฝ่ายเริ่มเกิดความกังวลว่าเอไออาจเป็นภัยอันตราย” สุภิญญากล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหประชาชาติเริ่มเกิดความกังวล ทำให้หลายประเทศเริ่มเกิดกลไกการพูดคุยและหารือถึงแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ และนำมาสู่ประเด็นการรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากลในปี 2567 นี้
นอกจากนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากพูดถึงเรื่องสิทธิ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน มักเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญมากกว่าประเทศไทย ที่เห็นได้ชัดเจนคือการให้ความสำคัญกับสิทธิผู้บริโภคที่มีมากขึ้น โดยในระดับสากลได้มีการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลกและได้กำหนดให้วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภค อีกทั้งในทุกปีจะมีการกำหนดประเด็นของวันสิทธิผู้บริโภคสากลซึ่งในปีนี้ ได้มีการกำหนดประเด็นเอไอกับความรับผิดชอบและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้แล้วถึงอันตรายใกล้ตัวของเอไอ ยังเป็นการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อนําไปแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเอไอ ต่อผู้บริโภคต่อไป