ภูเก็ตนำร่อง เมืองเป็นธรรมด้วยระบบขนส่ง

"เปลี่ยนภูเก็ต" ด้วยระบบขนส่งที่ครอบคลุม

ถ้าพูดถึง ‘เมืองเป็นธรรม’ (Just City) คุณนึกถึงอะไร?

เมืองที่ระบบขนส่งปลอดภัย มีคุณภาพ ครอบคุลม ราคาเป็นธรรม…

เมืองที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะคนเดินเท้า ปั่นจักรยาน ขับรถ หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ อยู่บ้าน อยู่คอนโด  เป็นคนจน หรือคนรวย…

เมืองที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม…

“เมืองเป็นธรรมนี้เป็นสิ่งที่สภาผู้บริโภคตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ควรขยายไปยังทุกพื้นที่ ทั้งภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ เราอยากเห็นเมืองที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ฝัน แต่เราจะช่วยกันทำให้เมืองที่เป็นธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น” นี่คือเป้าหมายที่ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมสะท้อนผ่านเวที ‘บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม’ ที่สภาผู้บริโภคจัดขึ้น ณ โรงแรมโรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ (Royal Phuket City Hotel) จ.ภูเก็ต เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การขยายเมืองเป็นธรรมไปยังทุกพื้นที่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งในที่นี้คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านระบบขนส่งสาธารณะ และมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนารถโดยสารประจำทาง เส้นทางเดินรถในชุมชนชนบท ซึ่งจะให้ระบบขนส่งมีความยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

สภาผู้บริโภค นำทีมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ศึกษาดูงานระบบขนส่งสาธารณะ

สภาผู้บริโภคปักธง ร่วมพัฒนาขนส่งภูเก็ต ยกระดับคุณภาพชีวิต

จาก ‘Car Free Day’ สู่ ‘Just City’ ชวนร่วมพัฒนาระบบขนส่ง เพื่อสร้างเมืองที่เป็นธรรม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่ง

เวทีภูเก็ตนำร่อง เมืองเป็นธรรมด้วยระบบขนส่ง : อดิศักดิ์ สายประเสริฐ

อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิชาการอิสระ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบขนส่งและพาหนะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในเมืองหลักส่วนภูมิภาคของไทย” โดยระบุว่า ปัจจุบัน การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น การจราจรติดขัด มลพิษ อุบัติเหตุ และราคาค่าโดยสารที่สูง ปัญหาหลักเกิดจากการขาดการเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งในจังหวัดต่าง ๆ และการขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในด้านงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ

 นอกจากนี้ การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบขนส่งยังไม่เต็มที่ เพราะส่วนใหญ่มีอำนาจจำกัด กล่าวคือ มีเพียงแค่การถ่ายโอนสถานีขนส่งแต่ก็ไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อํานาจการอนุญาต หรือกําหนดเส้นทางเดินรถ เป็นต้น ซึ่งทำให้การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในหลายจังหวัดล่าช้าและไม่ครอบคลุมความต้องการของประชาชน

จากการศึกษาเรื่องบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ใน 7เมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต และสงขลา พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มมีบทบาทในการพัฒนาระบบขนส่งมากขึ้น เช่น การจัดตั้งบริษัทขนส่งสาธารณะในขอนแก่น หรือการทดลองให้บริการรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ในภูเก็ต รวมไปถึงในอีกหลายจังหวัดที่มีการพัฒนาโครงสร้างสถานีขนส่งที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลายมากขึ้น

แต่ปัจจุบันยังมีอุปสรรคในด้านงบประมาณและกฎหมายที่ยังไม่รองรับการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการขนส่ง จึงต้องการการสนับสนุนและการแก้ไขกฎหมายที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วถึง

จากสองแถวสู่ EV Bus…การเปลี่ยนผ่านของการเดินทางในภูเก็ต

เวทีภูเก็ตนำร่อง เมืองเป็นธรรมด้วยระบบขนส่ง : ประสิทธิ์ โยธารัก

ทางด้าน ประสิทธิ์ โยธารักษ์ ผู้อำนวยการกองกิจการขนส่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ฉายภาพการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคของ อบจ. ภูเก็ต ในการทำเรื่องรถโดยสารสาธารณะที่ผ่านมา ว่า ในช่วงแรก อบจ. ภูเก็ตเริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการรถขนส่งประจำทาง ซึ่งประกอบด้วยทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่ง โดยมุ่งหวังให้บริการรถโดยสารสาธารณะครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้อย่างสะดวกสบาย โดยมีการเช่ารถจากผู้ประกอบการภายนอกเพื่อทดสอบเส้นทางและความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจซื้อรถเองในปี 2546 แม้ว่ากิจการนี้จะประสบปัญหาหลายด้าน เช่น การขาดทุนจากการดำเนินงานและปัญหาการบริหารจัดการ แต่ อบจ.ภูเก็ตก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้บริการประชาชนตามวัตถุประสงค์

ต่อมาช่วงปี 2546 – 2551 อบจ.ภูเก็ตต้องเผชิญกับความท้าทายจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่คุ้มค่าในการลงทุนและการขาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการกิจการที่ต้องพึ่งพาภาคเอกชนในการบริหารงานบางส่วน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการไม่ถูกยกเลิกตามคำแนะนำของ สตง. จนกระทั่งปี 2552 อบจ.ภูเก็ตได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานใหม่ โดยเปลี่ยนจากรถโดยสารสองแถวเป็นรถโดยสารขนาดเล็กและเริ่มใช้รถอีวีบัสเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดพลังงานให้กับผู้ใช้บริการ

“แม้ว่าปัจจุบันการบริการจัดการรถสาธารณะจะยังคงมีปัญหาหลายด้าน เช่น การขาดทุนที่ยังคงเกิดขึ้น แต่ อบจ.ภูเก็ตยังคงมุ่งมั่นในการปรับปรุงเส้นทางและการบริการเพื่อสนับสนุนการลดปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น” ประสิทธิ์ กล่าว

ชวนฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : เฟซบุ๊กไลฟ์ เวทีความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้เกมสัมปทาน : สร้างระบบขนส่งที่เป็นธรรมและยั่งยืน

เวทีภูเก็ตนำร่อง เมืองเป็นธรรมด้วยระบบขนส่ง : อัดชา บัวจันทร์

อัดชา บัวจันทร์ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมสะท้อนปัญหาการจัดการระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบและข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเดิมทีได้กำหนดข้อบังคับในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตไว้โดยไม่ให้ท้องถิ่นสามารถยื่นข้อเสนอในการขอรับใบอนุญาตได้

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเปิดการแข่งขันในลักษณะสัมปทาน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าโดยสารสูงขึ้นและไม่เป็นธรรมกับประชาชน อบจ.ภูเก็ตจึงได้มีการผลักดันการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการประมูลสัมปทานที่อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการกำหนดราคาค่าโดยสาร

“หลายท่านเข้าใจว่าใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นเรื่องของการสัมปทาน คือมีการประมูล แต่จริง ๆ เราไม่สามารถเปิดให้มีการแข่งขันแบบในลักษณะประมูลได้ เพราะจะไปเกี่ยวพันกับในเรื่องของอัตราค่าโดยสาร เราจึงใช้วิธีพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งออกให้กับใครก็ออกให้กับผู้ที่มีความเหมาะสมและพร้อมที่จะมาจัดการเดินรถโดยสารประจําทางให้กับผู้บริโภค”

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ โดย อบจ.ภูเก็ตยังคงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอตัวในการประกอบกิจการขนส่ง อย่างไรก็ตามในการพิจารณาใบอนุญาต อบจ.ภูเก็ตได้มีการกำหนดเกณฑ์ใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถอีวี (Electric Vehicle) ที่จะได้รับคะแนนพิเศษในการพิจารณาใบอนุญาต ทำให้การขนส่งสาธารณะมีแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

ความร่วมมือคือหัวใจของการสร้างระบบขนส่งที่ยั่งยืน

เวทีภูเก็ตนำร่อง เมืองเป็นธรรมด้วยระบบขนส่ง : สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้เมืองที่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริง การพัฒนาเมืองไม่ใช่เพียงแค่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ แต่คือการออกแบบบริการที่ตอบสนองต่อสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ การเข้าถึงจุดบริการที่สะดวก และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะร่วมกันสร้างเมืองที่ทุกคนสามารถเดินทางอย่างเท่าเทียม ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างแท้จริง