สภาผู้บริโภคจัดประกวดคลิปสร้างสรรค์ในโครงการ “ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค” ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยองค์กรสมาชิกในภาคอีสานสร้างผลงานสุดประทับใจ คว้าแชมป์การผลิตสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยยอดผู้รับชมคลิปถล่มทลายหลักล้านครั้ง! ความสำเร็จนี้ตอกย้ำความสามารถของท้องถิ่นในการผลิตเนื้อหาที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคเท่าทันข้อมูลยุคใหม่ต่อไป
หลังจากสภาผู้บริโภคเดินหน้าเพิ่มทักษะการสื่อสารเพื่อเตือนภัยให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ แก่องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยครบทั้ง 5 ภูมิภาคแล้ว จึงได้
จัดประกวดระดับประเทศ ภายใต้โครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) ด้วยการโพสต์คลิปวีดีโอของทีมผู้ชนะระดับภูมิภาค ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยคลิปที่มียอดผู้ชมมากที่สุดภายในระยะเวลา 14 วันนับตั้งแต่วันแรกที่เผยแพร่ จะเป็นผู้ชนะระดับประเทศ
วันที่ 18 ธันวาคม สภาผู้บริโภคจัดงานประกาศรางวัลผู้ชนะ ‘คลิปวิดีโอสร้างสรรค์ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ ระดับประเทศ ภายใต้โครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) โดยนำคลิปวิดีโอของทีมผู้ชนะจากทั้ง 5 ภูมิภาค จากโครงการ ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค แข่งขันโดยวัดผลจากจำนวนผู้เข้าชมภายในระยะเวลา 14 วัน นับจากวันที่คลิปถูกเผยแพร่
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภัยออนไลน์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา ไม่ว่าจะเป็นการกดคลิก การแชร์ข้อมูล หรือการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ซึ่งความสะดวกสบายที่คนเราคุ้นเคยกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่มิจฉาชีพอาศัยในการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค โดยจากสถิติในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตทางการเงินออนไลน์สูงถึง 75,000 ล้านบาท หรือต่อครั้งที่มีจำนวนเฉลี่ยมากถึงวันละ 77 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นจากปีก่อนอย่างน่าตกใจ
“ในฐานะองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค ที่มีหน้าที่ร่วมกันสร้างการตระหนักรู้ในวงกว้างเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยใช้สื่อและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันภัยออนไลน์ เพื่อปกป้องคนไทยจากการถูกหลอกลวง ขอฝากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม สร้างสังคมที่ทุกคนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ และร่วมกันคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจและมีความปลอดภัย” สารี ระบุ
ขณะที่ ดร.อิศริยา สายสนั่น ผู้จัดทำโครงการในนามบริษัทเกียรติระพี จำกัด กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ หลังจากที่ได้ร่วมอบรมกับองค์กรสมาชิกทั้ง 5 ภูมิภาค ได้เห็นผลงานของทุกทีม ที่แม้จะมีเวลาในการอบรมและผลิตคลิปสั้นเพียงแค่ 2 วัน และใช้อุปกรณ์อย่างเดียวคือโทรศัพท์มือถือ แต่ผลงานที่ออกมามีความน่าประทับใจมาก และเมื่อได้รับรู้เสียงตอบรับจากยอดวิวที่สูงแตะหลักล้านก็ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคล้วนแล้วแต่มีความรู้ ความสามารถที่จะเป็นนักสื่อสารที่ดี ซึ่งหลังจากนี้จะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้องค์กรสมาชิกผลิตสื่อดี ๆ ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
นอกจากนี้ในการจัดประกวดยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการฯ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตสื่อจากตัวแทนจาก 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันตกและภาคกลาง, ภาคใต้, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกและกรุงเทพ รวมถึงการรับชมคลิปของผู้เข้าร่วมประกวดและประกาศผลผู้ชนะระดับประเทศ 3 อันดับ พร้อมมอบรางวัล โดยรางวัลที่ 1 จำนวนเงิน 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล, รางวัลที่ 2 จำนวนเงิน 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร, และรางวัลที่ 3 จำนวนเงิน 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยมีรายนามทีมผู้ชนะ ดังนี้ รางวัลที่ 1 ทีม ‘ตึ่งโป๊ะโปรดักชั่น’ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยอดผู้ชมคลิป 1,162,960 ครั้ง (https://vt.tiktok.com/ZS6LCFrE8/) รางวัลที่ 2 ทีม ‘5 อ.’ จากภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ยอดผู้ชมคลิป 511,000 ครั้ง (https://vt.tiktok.com/ZS6LCMdJj/) รางวัลที่ 3 ทีม ‘แก๊สเด้ง’ จากภาคใต้ ยอดผู้ชมคลิป 102,100 ครั้ง (https://vt.tiktok.com/ZS6LCA1Ha/) และสามารถรับชมคลิปจากภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคเหนือซึ่งฝากผลงานไว้อย่างน่าประทับใจเช่นเดียวกัน ( https://vt.tiktok.com/ZS6LCrCpD/ และ https://vt.tiktok.com/ZS6LCmd5N/ )
ด้าน ชินบัญชร์ จันทฤาชา ตัวแทนทีม ตึ่งโป๊ะโปรดักชั่น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ กล่าวขอบคุณเวทีปักหมุดสร้างสื่อที่ช่วยต่อยอดให้องค์กรที่ต้องการผลิตสื่อ แต่ที่ผ่านมายังขาดประสบการณ์ในการผลิตสื่อ ซึ่งเมื่อได้เห็นแนวทางในการสร้างสื่อแบบมืออาชีพ และการสร้างคอนเทนต์ที่ทันสถานการณ์ในปัจจุบัน จากที่เดิมใช้เพียง Canva ก็ได้เรียนรู้โปรแกรมอื่น ๆ โดยเฉพาะการตัดต่อผ่าน Capcut และอีกหลายโปรแกรมที่จะเอื้อต่อการผลิตสื่อ นอกจากนี้ยังได้ไอเดียวางแผนการทำงานอย่างมีระบบจากวิทยากรมืออาชีพ ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการผลิตสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ส่วนสายใจ แสงมาน ตัวแทนทีม 5 อ. ที่ได้รับรางวัลที่ 2 ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวไม่เคยเล่น TikTok เพราะเคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกทำให้มีกำแพงในใจ แต่เมื่อได้มาอบรมกับสมาชิกคนอื่นและได้มาเจอวิทยากรที่เก่ง มีมนุษยสัมพันธ์ สื่อสารเก่ง ชัดเจน ทำให้เริ่มเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ในอนาคตต้องการให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในลักษณนะนี้อีก เนื่องจากเป็นประโยชน์กับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
“ประชาชนผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าคอนเทนต์ที่สภาผู้บริโภคได้เผยแพร่ออกไป จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องได้รับการวิเคราะห์ คัดกรองแล้วว่าเป็นคอนเทนต์ที่ดี และมีประสิทธิภาพแน่นอนค่ะ” สายใจ ระบุ
ขณะที่ อารียา มามะ ตัวแทนทีม แก๊สเด้ง ที่ได้รับรางวัลที่ 3 เปิดเผยว่า นอกเหนือจากรางวัลที่ได้รับที่ทำให้พวกเราในทีมมีกำลังใจในการทำงานแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการได้แนวทางดีๆ ในการผลิตคลิปคุ้มครองผู้บริโภคจากวิทยากรที่มาอบรม หากจะผลิตคลิปสั้น ควรนำเสนอแบบกระชับได้ใจความ สื่อสารง่าย เผยแพร่ได้หลากหลายช่องทาง ร่วมถึงการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มี เช่น การใช้ตัวแสดงเพียงไม่กี่คน แต่เลือกให้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ ก็สามารถสื่อสารดึงดูดใจให้คนติดตามได้ไม่ยาก หลังจากนี้จะนำเทคนิคนี้ไปผลิตคลิปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคเดินหน้าพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล การสื่อสารผ่านสื่อคลิปวิดีโอแบบสั้น ผ่านการอบรมเชิงปฎิบัติการภายใต้โครงการ “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้แก่องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยทั้ง 5 ภูมิภาค ทั้งภาคตะวันตกและภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออกและกรุงเทพ เพื่อให้องค์กรสมาชิกสามารถผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ สื่อสารเนื้อหาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคมีข้อมูล รู้สิทธิ และสามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองและคนรอบตัวได้อีกด้วย