จี้ กสทช. ลาออก ไร้ความสามารถดูแลผู้บริโภค เปิดทางบริษัทมือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ควบรวมกิจการ ผู้บริโภคกระเป๋าฉีก ค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพแย่ลง

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีทอล์ก ทู แอ็กชัน ระดมความเห็นนักวิชาการ พรรคการเมือง ตรวจสอบ กสทช. ปล่อยควบรวมกิจการมือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ชี้ทุนได้ประโยชน์ แต่ผู้บริโภคประชาชนได้รับผลกระทบมาก เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่ขัดกฎหมายหลายข้อ แนะยกเลิกการควบรวมและ กสทช. ควรลาออก เหตุไร้ประสิทธิภาพคุ้มครองผู้บริโภคและ กสทช. ควรลาออก

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมเวที  “ทอล์ก ทู แอ็กชัน (Talk 2 Action) ในหัวข้อ “การตรวจสอบ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตบ้าน ทำได้? เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจสอบ การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม โดยมี บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นประธานกล่าวเปิดงาน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับ ผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนความเห็นบนเวที Talk 2 Action เพื่อนำความเห็นประกอบเป็นข้อมูลออกมาตรการ และบังคับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กลไกตรวจสอบของรัฐสภา

จากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการควบรวมกิจการของทรู – ดีแทค เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 และมติเห็นชอบให้ AWN ในเครือ AIS กับ 3BB ควบรวมกิจการกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ตามลำดับ สภาผู้บริโภคเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่สะท้อนผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ  และมีการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นโดยข้อร้องเรียนส่วนใหญ่คือคุณภาพบริการต่ำลงแต่ค่าบริการขยับสูงขึ้น และมีข้อสงสัยว่าปัญหาเหล่านี้เป็นมาจากการที่ กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมหรือไม่

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ควรมีการตั้งคำถามว่าควรมีการอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ ที่ผ่านมาประเทศไทยยอมให้มีการควบรวมกิจการธุรกิจขนาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งอาจเกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้ การควบรวมกิจการนั้นมีทั้งเกิดประโยชน์และเกิดความเสี่ยง แต่การเกิดประโยชน์และความเสี่ยงนั้นจะต้องได้ดุลกัน รัฐบาลหรือองค์กรกำกับดูแลจะยอมให้เกิดการควบรวมได้ต่อเมื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะตกกับผู้บริโภค การควบรวมกิจการต่างๆ ควรจะเกิดขึ้นต่อเมื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมนั้นมากกว่าความเสี่ยงที่ตกกับสังคมและผู้บริโภค ประโยชน์อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการสองรายควบรวมกันทำให้เกิดความประหยัด มีการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้กำไรของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นดีขึ้น แต่ทั้งนี้การควบรวมโดยเฉพาะในกิจการที่มีการกระจุกตัวอยู่สูงหรือมีโครงสร้างกึ่งผูกขาด มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในรูปของราคาที่สูงขึ้น คุณภาพของบริการที่แย่ลง ดังนั้นหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐจะต้องพิจารณาว่า กรณีที่เกิดความเสี่ยงสูงจะต้องห้ามการควบรวม หรือถ้าปล่อยให้มีการควบรวมจะต้องมีเงื่อนไขที่เข้มงวด อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการที่เกิดการควบรวมแล้วมาเอาเปรียบผู้บริโภคได้

ในกรณีของอินเทอร์เน็ตบ้าน พบว่าโครงสร้างของตลาดก่อนการควบรวมมีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่เพียง 4 รายเท่านั้น คือ AIS มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14 3BB มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30 TRUE ร้อยละ 37 และที่เหลือเป็นของ NT การควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตของ AIS และ 3BB ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะทำให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดนี้ เมื่อเทียบกับเกณฑ์ต่างประเทศที่ใช้ในสหัรฐอเมริกา จะพบว่า กรณีการควบรวมของ AIS กับ 3BB นี้ทำให้เกิดความเสี่ยงค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าอยู่ในสัญญาณอันตราย เพราะว่าก่อนการควบรวมดัชนี HHI หรือดัชนีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว และเมื่อมีการควบรวมเกิดขึ้นดัชนี้ก็จะยิ่งกระจุกตัวเพิ่มขึ้น

แม้กรณีนี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ำกว่ากรณีการควบรวมระหว่าง TRUE กับ DTAC เพราะกรณีนั้นทำให้เกิดผู้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงสองรายคือ TRUE-DTAC กับ AIS เท่านั้น ส่วนกรณีนี้ยังเหลือผู้ประกอบการมากกว่านั้น คือยังเหลือบริษัท NT หรือเดิมทีคือ ทศท.และ กสท. อยู่ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ยังมีอยู่ตรงที่ หากมีการขายข้ามตลาดหรือ Cross-Selling ระหว่างตลาดโทรศัพท์มือถือและตลาดอินเทอร์เน็ต ผู้บริโภคอาจมีความเสี่ยงจากการเจอกับตลาดที่ผูกขาดเกิดขึ้นได้ ความหมายคือหากมีการขายข้ามตลาด บริษัท NT ซึ่งไม่มีบริการโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภครู้จักมากพอก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้กับ AIS หรือ 3BB หรือแม้กระทั่ง TRUE ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจะต้องออกจากตลาดไปหากรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจแห่งนี้อีกต่อไป ดังนั้นการจะดูว่าตลาดนี้มีความเสี่ยงมากเพียงใดจึงมากกว่าการวิเคราะห์โครงสร้างเพียงตลาดเดียวเท่านั้น จะต้องดูการขายข้ามตลาดด้วย

จะว่าไปแล้วผู้ประกอบการที่มีการควบรวมกันคือ AIS กับ 3BB  ก็มุ่งหวังที่จะสร้างรายได้จากการขายข้ามตลาด นั่นคือการเอาอินเทอร์เน็ตบ้านไปขายให้แก่ผู้ใช้บริการของ AIS ที่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้านของ AIS หรือ 3BB และอีกกรณีหนึ่งคือเอาผู้ใช้บริการของ 3BB ที่ยังไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือของ AIS ให้เป็นสมาชิก เป็นผู้ใช้บริการของทั้งสองราย เอกสารที่เปิดเผยต่อนักลงทุนของบริษัทได้ชี้แจงว่า นี้เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดรายได้ใหญ่ของบริษัทหลังการควบรวม นั่นก็คือการเพิ่มรายได้ต่อผู้ใช้แต่ละราย  ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน ขั้นตอนต่อมาคือการขายข้ามตลาด และการขายให้ผู้บริโภคซื้อบริการที่มีแพ็คเกจที่มีราคาสูงขึ้น และหลังจากนั้นจะต่อยอดไปสู่ Beyond Broadband จึงเกิดความเสี่ยงว่าหากมีการควบรวมกรณีนี้เดินหน้าต่อไปแล้ว สุดท้ายตลาดโทรศัพท์มือถือของเมืองไทยซึ่งเข้าสู่ตลาดเหลือผู้เล่นสองราย สุดท้ายก็อาจจะพาให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านมีโครงสร้างที่คล้ายกันและเกิดปัญหากับผู้บริโภคได้

สุดท้ายเราจึงต้องพิจารณาว่า เราควรจะปล่อยให้มีการควบรวมกรณีนี้หรือไม่ โดยหลักแล้วในต่างประเทศหากมีความเสี่ยงสูง หน่วยงานกำกับดูแลมีทางเลือกสองทาง คือการห้ามควบรวมไปเลยหรือให้ควบรวมแต่มีเงื่อนไขที่ให้ผู้ให้บริการทำตามที่องค์กรกำกับดูแลกำหนด ปัญหาของประเทศไทย คือ กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวม เช่นให้มีการควบรวมของ TRUE กับ DTAC แล้วกำหนดเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ แต่ปรากฏว่าการกำหนดเงื่อนไขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงเลย เพราะผู้ประกอบการเมื่อควบรวมกันแล้วก็อาจดำเนินการอะไรบางอย่างโดยที่ กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลได้ หรือละเลยที่จะกำกับดูแล อย่างเช่น กรณีการควบรวมของ TRUE กับ DTAC จะเห็นว่าเมื่อมีการควบรวมแล้ว แพคเกจราคาถูกของ TRUE บางแพคเกจได้ถูกยกเลิกไป จะเห็นว่าก่อนการควบรวมมีแพคเกจ 299 บาท แต่หลังการควบรวมได้หายไป เช่นเดียวกับแพคเกจ 399 บาทของ DTAC ซึ่งแต่เดิมคือแพคเกจราคา 349 บาท แปลว่าราคาที่สูงกว่าถูกเพิ่มขึ้นมา เหมือนกับกรณีของ AIS แพคเกจราคา 399 บาท แต่เดิมคือแพคเกจราคา 349 บาท เป็นต้น

การที่ กสทช. กำหนดเงื่อนไขว่าอัตราค่าบริการของผู้ประกอบการหลังการควบรวมจะต้องไม่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างนี้ซึ่งเป็นข้อมูลของ 101 PUB ชี้ให้เห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขของ กสทช. อาจไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของ กสทช. ตนจึงมีความเชื่อว่าเราไม่ควรปล่อยให้มีการควบรวมของ AIS กับ 3BB ได้เพราะเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงสูงและคงไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขและปฏิบัติเป็นจริงได้อย่างที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น หนทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคคือระงับการควบรวมนี้ไว้ก่อนจนกว่า กสทช. จะมีความสามารถในการกำกับดูแลเงื่อนไขที่ตัวเองกำหนดขึ้นเองให้เป็นจริงให้ได้

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์​ คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นด้านกฎหมายว่า  การปล่อยให้ AIS และ 3BB ควบรวมกิจการได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จะโดยเจตนาของ กสทช. ที่เห็นว่าเมื่อปล่อยให้ TRUE กับ DTAC ควบรวมกันได้ก็ต้องปล่อยให้ AIS และ 3BB ควบรวมกันได้บ้าง จะได้เป็นการปฏิบัติที่เสมอกันหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าเรื่องใหญ่คือการเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งการใช้ประโยชน์ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต้องมาก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ดังนั้นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่จะต้องป้องกันการแสวงประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินจำเป็น นี้เป็นภารกิจของ กสทช.

เรื่องคลื่นความถี่แม้จะอยู่ในอากาศแต่เป็นหลักเดียวกันคือเราต้องเอาทรัพยากรนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนได้อย่างแท้จริง ในเมื่อมีหลักเกณฑ์มีกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว กสทช.จึงต้องเป็นผู้กำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ถ้าจะมีการควบรวมก็ต้องมีมาตรการดูแล หนึ่ง ถ้ามีความเสี่ยงต้องไม่ให้มีการควบรวม สองถ้าความเสี่ยงไม่มากก็ให้ตั้งเงื่อนไขที่เหมาะสม การที่ภาคธุรกิจต้องการกำไรเป้าหมายของการควบรวมคือ การทำกำไรให้มากขึ้น และกำไรมากขึ้นจะมาจากไหนก็ต้องมาจากกระเป๋าเงินของผู้บริโภค สิ่งที่จะมีความสมดุลย์คือ ทุนได้ใช้ทรัพยากรมากขึ้น ได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ต้นทุนต่อหน่วยที่ขายลดลง การควบรวมแบบนี้ประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภคได้

เมื่อครั้งที่ TRUE กับ DTAC ควบรวมกัน กสทช. เห็นว่าตนไม่มีอำนาจจึงมีมติรับทราบ ซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาการควบรวมของ AIS กับ 3BB ที่ กสทช. เห็นว่าตนมีอำนาจ และอนุญาตให้ควบรวมได้ การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. จึงมีปัญหาในทางกฎหมายแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การที่ กสทช. มีมติอนุญาตให้ AIS กับ 3BB ควบรวมกันได้ สันนิษฐานว่า เพราะเมื่อยอมให้  TRUE กับ DTAC ควบรวมกันไปแล้ว ในคราวนี้จึงให้ AIS กับ 3BB ควบรวมกันได้บ้าง เรื่องนี้สังคมต้องตามดูกันต่อ

ตอนที่ กสทช. มีมติรับทราบการควบรวม TRUE กับ DTAC โดยมีเงื่อนไขให้ลดค่าบริการเฉลี่ยร้อยละ 12 ผ่านการควบรวมไป 8 เดือนมาตรการนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น และ กสทช. ได้ตามติดตามดูเรื่องนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือไม่ กสทช. ได้ทำหน้าที่ของตนหรือไม่ และการควบรวมคราวนี้ก็มีมาตรการหลายอย่างออกมาที่อ้างว่าจะไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ แต่หากมาตรการที่ออกมาไม่มีการควบคุมเหมือนคราวที่แล้ว กสทช. จะว่าอย่างไร คำถามคือ ถ้า กสทช. ไม่ทำหน้าที่ ประชาชน ผู้บริโภคจะทำอะไรได้บ้าง

หากสังคม นักวิชาการ ผู้บริโภคทักท้วงแล้วทั้งในข้อกฎหมายและการกำหนดมาตรการเงื่อนไขที่ กสทช. ไม่ทำอะไร อาจจะเข้าข่ายปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ได้

ปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ประชาชนกำลังประสบปัญหาจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้หลังการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ค่าบริการสูงขึ้นแต่คุณภาพและบริการที่ได้รับลดลง ทั้งๆที่ กสทช.ได้ออกมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะที่ผู้ให้บริการจะต้องปรับราคาลงร้อยละ 12 ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อ กสทช. ให้ใช้อำนาจในการประกาศราคาค่าบริการกลางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งราคากลางนี้มาจากฐานข้อมูลต้นทุนค่าบริการที่ผู้ให้บริการต้องเสนอให้ กสทช. พิจารณาตรวจสอบอยู่แล้ว เชื่อว่าการใช้วิธีให้ กสทช. ประกาศราคากลางจะทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และค่าอินเทอร์เน็ตถูกลงได้ หาก กสทช. ไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ประชาชนผู้ใช้บริการอาจร้องเรียนฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ด้าน ประพฤติ ฉัตรประภาชัย ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอในมุมของกฎหมายด้วย อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งในมาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ มาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ และในมาตรา 27(11) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตราการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมาตรการนี้รวมถึงการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ผ่านมาด้วย แต่ปรากฏว่า กสทช. กลับมีมติรับทราบแทนซึ่งตนเห็นว่า กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ มีดาบแล้วไม่ฟัน จากกฎหมายที่มีอยู่จึงเห็นได้ว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการขจัดและลดการผูกขาด ซึ่งตนพร้อมสนับสนุนสภาผู้บริโภคในการแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง และผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกมิติ

ชาญวิทย์ โวหาร ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (กตป.) ได้กล่าวถึงบทเรียนจากผลการศึกษาที่ กตป. ได้ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ซึ่งนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นผลจากการที่ กสทช. ได้มีมติการประชุม(นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดยมีมติรับทราบการควบรวมกิจการและออกมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะ ซึ่งพบว่ามาตรการที่ผู้ให้บริการต้องลดราคาร้อยละ 12 หลังการควบรวมนั้น มีการใช้วิธีคำนวณค่าบริการของโปรโมชั่นต่างๆ แบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากหลายโปรโมชั่น มีผู้ให้บริการรายหนึ่งแจ้งว่าค่าบริการโดยเฉลี่ยแล้วลดลงถึงร้อยละ 15 ด้วยวิธีการคิดคำนวณลักษณะนี้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีผู้บริโภคทราบเลยว่ามีบริการโปรโมชั่นไหนที่ได้ลดราคาให้ผู้บริโภคแล้วบ้าง รวมถึงแพ็กเกจเพื่อผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่ามีโปรโมชั่นใดที่มีการลดราคาค่าบริการลงอย่างชัดเจน หรือที่มีการบอกว่าหลังการควบรวมไปแล้วจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากการควบรวม ณ วันนี้ ยังไม่เห็นผลการศึกษาจาก กสทช.เลย

ส่วนเรื่องการควบรวมในกิจการอินเทอร์เน็ตของบริษัทในเครือ AIS กับบริษัท 3BB กสทช. มีการประกาศกำหนดมาตรการเงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่แตกต่างไปจากมาตรการและเงื่อนไขในกรณีการควบรวมทรูและดีแทค การบังคับใช้อย่างแท้จริงไม่ปรากฏให้เห็น มีเพียงตัวอักษรที่อยู่ในประกาศเท่านั้น การออกประกาศโดยที่ไม่มีการกำกับติดตามตรวจสอบจึงถือเป็นการออกประกาศที่ไร้ประโยชน์ ผู้บริโภคเหมือนถูกหลอก เนื่องจากโปรโมชั่นมีการกำหนดวันหมดอายุ และเมื่อต่อโปรโมชั่นใหม่ราคาจะสูงขึ้นแต่ปริมาณการใช้งานที่เป็นหน่วยกิกะไบต์จะลดลง หรือตามเงื่อนไขที่ประกาศว่าผู้ให้บริการจะต้องมีกาประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ว่า ผู้ให้บริการได้มีการควบรวมกิจการแล้วและส่งผลให้การรับบริการเกิดผลในทางบวกอะไรบ้าง แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่ได้รับการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้แต่อย่างใด

สิ่งที่ประชาชนสะท้อนกลับมาในการศึกษาคือ หาก กสทช. เห็นว่าตนไม่มีอำนาจในการดูแลป้องกันการผูกขาด ก็ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ กสทช. มีอำนาจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการผูกขาด ขาดความมั่นใจในการได้รับบริการที่ดีขึ้นหลังการควบรวม และในกรณีที่เกิดปัญหาข้อสงสัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตบ้าน ปรากฏว่า กสทช. ไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตว่าตรงตามประกาศของ กสทช. หรือไม่อย่างไร เวลาจะตรวจสอบจะต้องเชิญบริษัทและผู้ร้องเรียนมาดำเนินการร่วมกัน สะท้อนให้เห็นว่า กสทช. จาดเครื่องมือมีปัญหาในการตรวจสอบด้วยเครื่องมือของ กสทช.เอง

ดังนั้น การติดตามผลกระทบจากการควบรวมกิจการบริการอินเทอร์เน็ตบ้านจะต้องมีการติดตามตรวจสอบ โดยต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการให้รอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่เป็นมุมมองในด้านของผู้ประกอบการเท่านั้น

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ กสทช. ได้เปิดทางให้มีการควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่นับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกิจการของเอกชน แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะก่อนและหลังการควบรวมแต่ กสทช. ก็ขาดประสิทธิภาพในการติดตามกำกับดูแลจนส่งผลให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคในหลายลักษณะ อาทิ สัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์คุณภาพลดลง ขณะที่ค่าบริการกลับสูงขึ้น จึงมีข้อเสนอต่อ กสทช. คือ ให้ทบทวนการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตบ้าน ให้เร่งรัดผู้ให้บริการต้องลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการควบรวมที่ กสทช. กำหนดขึ้นเอง ขอให้เปิดเผยรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม และให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง และให้มีการกำกับรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการให้ประชาชนได้รับไม่ให้ต่ำไปกว่าเดิม

สุภิญญา ยังได้มีข้อเสนอนโยบายด้านการแข่งขัน คือ รัฐบาลควรพัฒนาส่งเสริมและยกระดับการแข่งขันของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ NT โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านงบประมาณ  ส่งเสริมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย หรือ MVNO ให้มีการเพิ่มหน่วยธุรกิจ เพิ่มระบบการให้บริการ ให้มีกำหนดราคาขายส่งต่ำกว่าราคาขายปลีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ส่งเสริมบริการไวไฟและอินเทอร์เน็ตสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงขอให้มีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค และ กสทช.หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้พิจารณามอบหมายให้ TDRI และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงและสุดท้ายคือ เสนอให้ กสทช. เร่งจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมแสดงความเห็นและยืนยันว่า การที่ กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมทั้ง 2 กรณี ตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมาย จำกัดทางเลือกของผู้บริโภคซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทยประกาศสิทธิของผู้บริโภคมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ มีสิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการขักจูงใจที่ไม่เป็นธรรม แต่สิ่งที่ กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมทั้งสองครั้งนี้เป็นการจำกัดสิทธิของผู้บริโภค และเป็นการกระทำที่มีความไม่คงเส้นคงวาของ กสทช. สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากการทำหน้าที่ของ กสทช. และจากการตรวจสอบของ กตป. ก็เห็นผลชัดเจนว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วกับผู้บริโภค ผลกระทบที่เราต้องจ่ายค่าบริการโทรคมนาคมที่แพง ซึ่งปัจจุบันโทรคมนาคมเป็นทุกอย่างในชีวิตของประชาชน โทรคมนาคมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ระบบเศรษฐกิจ เป็นพื้นฐานทุกอย่างของประชาชน ดังนั้นเมื่อการทำหน้าที่ของ กสทช.ที่มีปัญหาเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ประชาสังคม กลุ่มผู้บริโภคต่างๆ คงไว้วางใจไม่ได้

ที่สำคัญจากข้อมูลของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ทีดีอาร์ไอ เห็นปัญหาได้ชัดเจนมากว่า การควบรวมกรณีแรกของ TRUE และ DTAC ต้องบอกว่ามีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วยเลยร้อยละ100 ที่จะให้มีการควบรวมกิจการ หรือแม้กระทั่งคณะอนุกรรมการ 4 คณะที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการควบรวม รวมถึงงานวิชาการในประเทศ ต่างประเทศ ต่างก็บอกว่าจะเกิดปัญหาหากมีการควบรวม และหาก กสทช. ไม่ทำอะไรตามมาตรการเงื่อนไขที่ตัวเองกำหนดจริง ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ทำ ก็จะเกิดผลกระทบกับผู้บริโภคถึงร้อยละ 242 คือถ้าเคยจ่ายอยู่ 200 บาทก็จะต้องจ่ายเพิ่มเป็นถึง 500 บาทเลยทีเดียว และในกรณีสุดท้ายซึ่ง กสทช.มองอย่างแยกส่วน หลายคนอาจคิดในช่วงแรกว่า AIS ใหญ่ จึงอยากให้ TRUE กับ DTAC รวมตัวกันเพื่อที่จะแข่งกับ AIS แต่ขณะนี้มีการแบ่งงเหมือนกัน แต่เป็นการแบ่งกินหัวของผู้บริโภค คือทั้งสองเจ้ามีส่วนแบ่งตลาดเกือบถึงร้อยละ 50 จึงทำให้เกิดลักษณะที่ไม่ต้องแข่งขันกัน เพราะพอเพียงที่จะทำกำไรได้จากการมีอยู่ของเจ้าใหญ่เพียง 2 เจ้า ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดได้

การควบรวมกรณีที่สองของ AIS กับ 3BB กสทช. ไม่ได้มองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากปล่อยให้มีการควบรวมและนำไปสู่การผูกขาดจากกรณีแรก และคิดไปว่าการให้ AIS กับ 3BB ควบรวมกิจการกันจะทำให้เกิดการแข่งขันในกิจการอินเทอร์เน็ต โดยมองว่า NT หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติซึ่งมีสัดส่วนตลาดอยู่ร้อยละ 17 จะสามารถแข่งขันกับ AIS กับ 3BB ได้ แต่การที่ AIS กับ 3BB จะประหยัดเงินได้จากการควบรวมกิจการประมาณ 13,000 ล้านบาท ก็สามารถที่จะนำไปลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น และจะทำให้ส่วนแบ่งพื้นที่ตลาดของ NT ลดน้อยถอยลง ส่วน NT เองก็ไม่ได้มีความเป็นอิสระที่จะบริหารกิจการของตัวเอง รวมถึงเรื่องการส่งเสริมการขาย ประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมีข้อจำกัดมาก ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกมาก

สารีได้เสนอสี่เรื่องที่สำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้น ประเด็นที่หนึ่งคือ การทำให้มีผู้ประกอบรายที่สามในกิจการโทรคมนาคมโดยเร็วที่สุด โดยต้องเร่งเปิดเสรีในกิจการโทรคมนาคม เพราะจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าการที่มีการทำอะไรเลย จะมีรายที่สามเกิดขึ้นต้องใช้เวลาอีก 10 ปี การปล่อยให้ผู้บริโภคถูกรุมกินโต๊ะไปอีก 10 ปี เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ระยะเวลาการเปิดเสรีจึงควรลดลง

ประเด็นที่สอง ขอให้ กสทช. ลาออกเพราะการไร้ความสามารถและประสิทธิภาพของ กสทช. ในการกำกับดูแล จากกรณีการกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะหลังการควบรวมของ TRUE กับ DTAC ที่ต้องลดค่าบริการร้อยละ 12 ให้กับผู้บริโภค แต่ กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลให้เกิดขึ้นได้ มีการยุบรวมเสาสัญญาณ กลายเป็นเสาดัมมี่ไม่มีอุปกรณ์สัญญาณ จึงเป็นคำถามถึงเรื่องประสิทธิภาพในการใช้บริการที่ลดลง แต่ กสทช. ก็ไม่ได้ทำอะไร ความไร้ความสามารถของ กสทช. เหล่านี้นับเป็นประเด็นสำคัญ ที่บอกว่า กสทช. ไร้ความสามารถนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะแม้แต่การประชุมร่วมกันของ กสทช.เองยังทำไม่ได้ ฝั่งหนึ่งมาประชุม อีกฝั่งหนึ่งไม่เข้าประชุม ฝั่งหนึ่งมาประชุมอีกฝั่งหนึ่งประธานสั่งปิดการประชุม การลงมติไม่สามารถที่จะทำได้เลย ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องดำเนินการกับ กสทช. ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอไปแล้วคือ การขอให้ กสทช.ลาออก  หาก กสทช. ไม่ยอมลาออกก็ต้องขอให้วุฒิสภา และ ปปช. ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.

ประเด็นที่สาม คือกรณีที่ กสทช. เปิดทางให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมทั้งสองกรณีนั้น จะเห็นถึงการดำเนินการของ กสทช. ที่มีความแตกต่างกัน มีการใช้อำนาจบ้างไม่ใช้อำนาจบ้าง และกรณีหลังที่ยอมให้มีการควบรวมกันโดยไม่ได้มองบริบทปัญหาจากการควบรวมในกรณีแรก สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงจะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีของการควบรวม AIS กับ 3BB ด้วยเช่นกัน ในระยะเวลา 90 วัน หรือภายใน 6 กุมภาพันธ์ 2567 และยื่นคุ้มครองชั่วคราวในกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง TRUE – DTAC

ประเด็นที่สี่ คือ สภาผู้บริโภคยืนยันการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค