วันที่ 18 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภค จัดเสวนาหัวข้อ “ผลักดันระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย กรณีตัวอย่างน้ำท่วม” ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สภาองค์กรของผู้บริโภค” โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา อาภา หน่อตา ศูนย์สิทธิผู้บริโภค อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย และสมชาย นิยมราช ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตวังทองหลาง ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 ร่วมเสวนาด้วย
อาภา หน่อตา ศูนย์สิทธิผู้บริโภค อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อำเภอแม่สาย อยู่ติดกับแม่น้ำซึ่งอยู่บริเวณพรมแดนไทย – เมียนมา ในเดือนสิงหาคนถึงกันยายน ของทุกปี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ปีก่อนๆ ไม่หนักเท่าปีนี้ที่ท่วมถึง 8 ครั้ง และครั้งสุดท้ายกระแสน้ำก็เชี่ยวมากบวกกับมีดินโคลนถล่มด้วย
ในขณะที่การเตือนภัย จะมีการแจ้งข่าวจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่คนใน อ.แม่สาย ไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้น ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีข้อจำกัดด้านภาษา ส่วนการประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านบางพื้นที่มีและบางที่ไม่มี หรือประกาศแล้วแต่ไม่ทันกับสถานการณ์
นอกจากนั้นยังมีการตั้งกลุ่มไลน์ของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ คอยแจ้งสถานการณ์ต่างๆ เช่น ระดับน้ำ ฝนตก ซึ่งก็จะมีข้อมูลเป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลชุดใด หรือแม้แต่การแจ้งเตือนว่าเกิดน้ำท่วมแน่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะท่วมสูงแค่ไหน บางคนเก็บของขึ้นที่สูงแล้วก็ยังไม่พ้น
“น้ำขึ้นเร็วมาก ครึ่งชั่วโมงท่วมเข้าไปเลย ยกของขึ้นสูงไม่พอ และที่วางไม่แข็งแรง ปกติบ้านชาวบ้านส่วนมากก็เป็นเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์ทั้งนั้น เมื่อเอาของมีค่ายกขึ้นวาง เช่น คอมพิวเตอร์ ก็ละลายไปกับน้ำ มันก็ยวบลงไป คือถ้าเตือนภัยให้รู้ว่าจะแรงหรือค่อย จะลดความเสียหายได้มากกว่านี้” อาภา กล่าว
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ในการฟื้นฟูพื้นที่ อำเภอแม่สาย หลักๆ คือการเคลื่อนย้ายดินโคลนออกไป ต้องอาศัยทั้งกำลังคนและเครื่องจักร โดยในพื้นที่สาธารณะ ดินโคลนส่วนใหญ่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ยังเหลือตามซอกในอาคารบ้านเรือนซึ่งมีความยากพอสมควร ขณะที่อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ แม้จะดูบางตาลงไป แต่ยังคงทำงานกันในบางพื้นที่ที่อยู่ช่วงท้ายๆ ตามแผนของทางราชการ
ในส่วนของการเคลื่อนย้ายดินโคลนออก ประมาณวันที่ 21 ตุลาคม 2567 จะถอนกำลังในส่วนนี้ เหลือบางหน่วยรั้งท้ายไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนล้างทำความสะอาดบ้าน โดยสรุปคือสิ้นเดือนตุลาคม 2567 ภาครัฐน่าจะปิดโครงการ ส่งไม้ต่อให้กับท้องถิ่นเก็บรายละเอียด ซึ่งยังมีโจทย์ยากอยู่ที่เรื่องของท่อระบายน้ำ
เพราะโครงสร้างอยู่ใต้ดิน เปิดได้ก็เพียงฝาท่อ ต้องไปหาวิธีการว่าทำอย่างไรจะนำดินโคลนที่อยู่ในท่อออกมา ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งรถดูดโคลนขึ้นมาช่วย พบว่าได้ผลค่อนข้างดี
แต่วิธีการนี้จำเป็นต้องมีเครื่องจักรเฉพาะทางและต้องใช้เวลาอย่างมาก ขณะนี้กำลังหาทางว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้รับเหมาท้องถิ่นเข้ามารับงานนี้ได้ เพราะท่อระบายน้ำมีระยะทางยาวพอสมควร ส่วนเรื่องระบบสื่อสารเตือนภัย หน่วยงานที่น่าชื่นชม คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จัดการตัดระบบไฟฟ้าได้ทันก่อนจะเกิดน้ำท่วมทุกครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในพื้นที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในขณะที่ จังหวัดเชียงใหม่ มีร้องเรียนอยู่บ้างเรื่องไฟรั่ว
ทั้งนี้ ภายหลังเหตุคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 ประเทศไทยมีการก่อตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คือมีระบบอยู่แล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ในสถานะใด เพราะภัยพิบัติรอบนี้แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แม้จะแจ้งเตือนด้วยการส่งเอสเอ็มเอสแต่เป็นการส่งในระบบปกติทำให้เกิดปัญหาข้อมูลเดินทางล่าช้า
จากที่ได้ฟัง ปภ. ชี้แจง และพูดคุยกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เข้าใจว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกประชุมแล้ว เข้าใจว่าระบบส่งข้อความแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcast จะใช้การได้ในต้นปี 2568 หมายความว่าไม่ใช่ความเข้าใจผิดทางเทคโนโลยี แต่ไม่ได้ถูกออกแบบไว้
ขณะที่กองทัพไทยถือว่ามีบทบาทสูง โดยเริ่มปฏิบัติงานใน อ.แม่สาย ตั้งแต่ช่วงแรกที่น้ำท่วม โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นกลไกสำคัญในการประสานหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพเรือ หรือหน่วยซีล (SEAL) และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งกองทัพมีความสนใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ จึงเห็นว่าหากในอนาคตจะพูดคุยเรื่องการเตือนภัย ก็อาจต้องดึงกองทัพเข้ามาร่วมด้วย เพื่อดูว่าบทบาทนี้ควรจะอยู่ที่ใคร
“จริง ๆ ถ้าผมเทียบเรื่องพื้นฐานเลย คือการที่คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนได้ และต้องเป็นปริมาณน้ำฝน ณ จุดที่ตรวจวัดที่ใกล้กับชุมชน ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆ เครื่องนี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรจะเข้าถึงได้ ทำอย่างไรประชาชนจะรู้ว่าเวลาฝนตกหนักๆ ควรที่จะมอนิเตอร์หรือมี SMS เช่น ถ้าฝนยังไม่มากเราก็อาจจะมอนิเตอร์ ทำไมฝนตกหนักที่ภูเขาหลังบ้าน ก็มีความหวั่นใจว่าน้ำจะมาแรงหรือเปล่า ขอดูปริมาณน้ำฝนหน่อยได้ไหมว่ากี่มิลลิเมตรแล้ว” ผอ.มูลนิธิกระจกเงา กล่าว
สมชาย นิยมราช ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตวังทองหลาง กล่าวว่า ย้อนไปในปี 2554 ที่กรุงเทพฯ เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ในฐานะภาคประชาชนที่มีบ้านติดกับน้ำ และใกล้กับอุโมงค์ผันน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกทะเลตามลำดับ ประชาชนไม่ทราบปริมาณน้ำในคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว อันเป็นเส้นทางหลักในการผลักดันน้ำ มีแต่ประชาชนประสานงานกันเอง อาศัยความเป็นเครือข่าย แจ้งเตือนกันเองว่าน้ำมีปริมาณ ความแรงและความสูงเท่าใด
อย่างบ้านของตนคือจุดชี้วัด หากน้ำลงอุโมงค์ไม่ทันบ้านตนก็กลายเป็นทะเล ซึ่งคลองเหล่านี้เชื่อมกับหลายเขต เช่น คลองลาดพร้าวรับมวลน้ำมาจากเขตดอนเมือง ผ่านมาที่เขตจตุจักรถึงเขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง
ส่วนคลองแสนแสบก็รับน้ำจาก จ.ปทุมธานี ผ่านเขตหนองจอก เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ มาถึงอุโมงค์ยักษ์ที่พระราม 9 แต่น้ำจาก 2 คลองดังกล่าวที่จะลงอุโมงค์มีอุปสรรคคือ ขยะและสิ่งของที่ลอยมากับน้ำ ปิดกั้นระบบดูดน้ำลงอุโมงค์ ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำภาครัฐยังไม่มีระบบประสานงานเท่าที่ควร
เพราะกรุงเทพฯ มีคลองเชื่อมกันจำนวนมาก น้ำก็ไหลมาลงรวมกันที่คลองใหญ่ๆ อย่างคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และแม้พื้นที่ที่น้ำท่วมแล้วก็ยังไม่มีแผนอพยพ ปล่อยให้บ้านเรือนและรถยนต์ของประชาชนเสียหาย ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่บูรณาการงานร่วมกัน หากน้ำจะท่วมก็น่าจะมีการส่งสัญญาณ เช่น ส่งข้อความทาง SMS หรือทางไลน์ มีการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน ที่ผ่านมาภาคประชาชนในการทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่น้ำเครื่องมือมาติดตั้งบริเวณท่าเรือตามแนวคลองแสนแสบ บอกให้ประชาชนช่วยกันดู หากระดับน้ำสูงจนถึงเครื่องแจ้งเตือนก็ให้เตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงหรืออพยพ ซึ่งก็ใช้ได้ผล
“น้ำจากข้างบนที่จะสูบออกต้องผ่านคลองย่อยมา คลองย่อยก็ต้องดูว่าคลองแสนแสบมีปริมาณสูงหรือเปล่า ถ้าทั้งคลองย่อยและคลองแสนแสบมีปริมาณน้ำสูงก็ไม่สามารถสูบออกได้เต็มที่ ทำให้เกิดการท่วมขังภายใน แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนไม่ทราบเลยว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่อาจารย์หลายๆ ท่านบอกว่าการเตือนภัย แจ้งเตือน และทำงานบูรณาการร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” สมชาย กล่าว
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบเตือนภัย คำถามแรกคือใครจะเป็นคนเตือน เพราะคนที่มีอำนาจเตือนไม่มีข้อมูล แต่คนที่มีข้อมูลก็ไม่มีอำนาจเตือน โดยหน่วยงานที่มีอำนาจเตือนคือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี ฯลฯ
โดยการปฏิบัติภารกิจให้ได้ผลอย่างมืออาชีพ จะประกอบด้วย 4 ภารกิจหลัก คือ 1.ระบบเตือนภัย หรือการเตรียมการป้องกันและรับมือผลกระทบ 2.การเตรียมแผนป้องกัน เช่น แผนการตอบโต้ แผนการอพยพ 3.การปฏิบัติตามแผนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น การอพยพ การค้นหาและช่วยชีวิต และ 4.การฟื้นฟู
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวง แต่ความท้าทายคือผู้บริหารกระทรวงก็มาจากหลากหลายพรรคการเมือง จึงยากที่จะสั่งการกันได้ ตามกลไกจึงต้องมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายมาดูแล
ความยากอีกประการหนึ่งคือแต่ละกระทรวงก็มีภารกิจและกฎหมายของตนเอง หลายหน่วยงานก็มีศูนย์เตือนภัย ทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้นต่างคนก็ต่างประกาศ แล้วประชาชนจะต้องฟังหน่วยงานใด ข้อมูลที่แตกต่างกันก็ทำให้ประชาชนสับสน
อีกทั้งตามหลักสากล การเตือนภัยจะเป็นระบบ End to End หมายความว่าที่ทำอยู่ไม่ใช่เพียงติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนแล้วจะจบ แต่ต้องไล่ตั้งแต่ 1.ให้ข้อมูลความเสี่ยงกับชุมชน (Disaster Risk Knowledge) 2.มีเครื่องมือในการสื่อสารและส่งผ่าน (Dissemination & Communication) 3.ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือน (Monitoring & Warning Service) และ 4.การตอบสนองของชุมชน (Response Capability) จะเห็นว่าในประเทศไทยทำเพียงภารกิจที่ 3 เท่านั้น แต่จะให้ครบทุกภารกิจ ชุมชนต้องเข้มแข็ง ต้องมีระบบเตือนภัยของชุมชน และจริงๆ ประเทศไทยก็มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 เป็นแผนแม่บทและครอบคลุมทั้ง 4 ภารกิจ แต่ขาดการปฏิบัติตามแผน
“ความหมายคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามภารกิจของตัวเองหรือไม่? อย่างไร? ชุมชนมีแผนปฏิบัติการที่ปฏิบัติตามนั้นหรือไม่? ทำไมเราเห็นภาพประชาชนไปอยู่บนหลังคา ทำไมเราเห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถหรือผู้เสียชีวิต แสดงว่ามันมีช่องว่างอยู่ ข้อมูลที่ส่งไปไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน บทเรียนของเราครั้งนี้ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมชุมชนไม่ตอบสนอง ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก” รศ.ดร.เสรี กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำทั้งระดับชาติและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เช่น ต้องออกแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสภาผู้บริโภคเสนอเรื่องระบบไทยอเลิร์ต (Thai Alert) เป็นระบบเตือนภัยในเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และใช้ได้มากกว่าเรื่องภัยพิบัติ แต่รวมถึงเหตุอาชญากรรมรุนแรงในกรณีพื้นที่เฉพาะ
เช่น ใจกลางกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด โดยระบบนี้ไม่จำเป็นต้องกวาดทั้งประเทศ แต่ส่งคำเตือนไปยังโทรศัพท์ของแต่ละคน ซึ่งในทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่เอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์จะกังวลด้านต้นทุน นอกจากนั้นยังไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ แม้จะมีหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วก็ตาม
หน่วยงานภาครัฐก็ต้องไปสรุปบทเรียน และมีแนวโน้มที่จะต้องเตรียมพร้อมไว้ทั้งปีเนื่องจากวิกฤติโลกร้อนทำให้ภัยพิบัติคาดการณ์ได้ยาก รวมถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐยังขาดการบูรณาการ ขณะที่จุดแข็งของประเทศไทยคือภาคประชาสังคมเข้มแข็ง หลายเรื่องสามารถช่วยเหลือกันเองได้ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เช่น ระดับการแจ้งเตือน
ทั้งนี้ ระบบ Thai Alert ที่เป็นการส่งเอสเอ็มเอสเตือนภัย ตนเห็นว่า กสทช. ควรผลักดันร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แล้วประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยในแต่ละเรื่อง เช่น ตำรวจ หน่วยงานด้านอุทกภัย ต้องวางระบบไว้ว่าสุดท้ายใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ โดย กสทช. อาจออกประกาศอีกฉบับก็ได้ อย่างที่ก่อนหน้านี้เคยออกประกาศให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องต้องแจ้งเตือนตามที่รัฐร้องขอโดยไม่มีข้ออ้างเรื่องธุรกิจ ซึ่งเกิดมาจากเหตุการณ์ที่รัฐแจ้งเตือนสึนามิแต่ช่องต่างๆ ยังคงออกอากาศรายการปกติ
แม้ปัจจุบันคนจะดูโทรทัศน์น้อยลง แต่เรื่องที่ต้องการความจริงจังระดับชาติ ยังมีสิ่งที่เรียกว่าตัววิ่งหรือรวมการเฉพาะกิจ โดยสามารถประกาศรวมการเฉพาะกิจเพื่อเตือนภัยก่อน บอกให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายใครรับผิดชอบ หรือสร้างเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาสักเพจหนึ่ง ตั้งเป็นเพจทางการให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ ขณะที่ระดับพื้นที่ก็ต้องวางระบบให้สอดรับกัน เช่น หน่วยงานระดับชาติประกาศเตือน ระดับพื้นที่ก็ต้องออกแบบระบบแจ้งเตือนให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง
อีกทั้งด้วยความที่ยุคนี้ข่าวลวงมีจำนวนมาก มีการรณรงค์กันเยอะให้ตรวจสอบให้แน่ใจแล้วค่อยส่งต่อ ทำให้แม้จะเป็นเรื่องจริงคนก็อาจไม่เชื่อและไม่อพยพตามคำเตือน มองว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น่าจะเป็นเจ้าภาพในส่วนนี้ เพราะไปทำเรื่องอื่น เช่น การเมือง คนก็มีคำถาม จึงน่าจะไปมุ่งเน้นทำเรื่องสุขภาพหรือภัยพิบัติเป็นหลัก ให้ประชาชนที่สงสัยข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันสามารถสามารถตรวจสอบได้
“หากทำงานบูรณาการกันอย่างนี้ ก็จะมีจุดรวมที่ประชาชนงง ๆ อยู่ ส่งมาทางไลน์ไม่รู้จะไปเช็กที่ไหน เข้าไปเพจศูนย์ต้านข่าวลวงแล้วกัน หรือจะเป็นเพจใหม่ก็ได้ที่รัฐบาลตั้งมาให้สามารถเช็คข่าวเรื่องภัยพิบัติได้ทุกกรณี แล้วก็สามารถประมวลข้อมูลเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเอาไปใช้อะไรต่อไปด้วย ซึ่งต้องใช้นวัตกรรม เรื่อง AI เรื่อง Machine Learning Chatbot อะไรที่พูดกันเอามาช่วยเสริมตรงนี้ เพื่อที่จะช่วยกรองข้อมูล วิเคราะห์และอัปเดตข้อมูลกับประชาชน ควรจะต้องมีศูนย์อำนวยความสะดวกแบบนี้” สุภิญญา กล่าว