‘ศรีสวัสดิ์’ ตอบรับข้อเสนอ ติดประกาศ ‘กู้แล้วต้องได้คู่สัญญา ไม่บังคับทำประกันพ่วง’ แจ้งผู้บริโภค พร้อมแก้ปัญหาผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้านสภาผู้บริโภคย้ำหากพบปัญหาร้องเรียนได้
จากการที่ สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการใช้บริการสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ทำสัญญาไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งการไม่มอบเอกสารคู่สัญญา เสนอขายประกันพ่วงโดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ ให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม และฟ้องคดีเรียกชดใช้เงินตามสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ผู้บริหารของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าพบอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค เลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกู้สินเชื่อของบริษัทศรีสวัสดิ์ นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้ติดตามความคืบหน้าและได้รับข้อมูลจากผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานใหญ่บริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า ปัจจุบันบริษัท ฯ ได้ติดประกาศที่หน้าสำนักงานทุกสาขาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่า เมื่อทำสัญญาเงินกู้แล้วสามารถรับคู่สัญญาได้ และไม่มีการบังคับซื้อประกันพ่วงกับการทำสัญญาเงินกู้
สำหรับการประสานความร่วมมือในการเจรจาไกล่เกลี่ยเจรจาและช่วยเหลือผู้บริโภค หลังจากการหารือร่วมกันสภาผู้บริโภคได้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ต่อให้ศรีสวัสดิ์ โดยกรณีที่มีคำพิพากษาและมีคำบังคับคดีนั้น ได้รับการช่วยเหลือสำเร็จแล้วหลายกรณี เช่น คืนโฉนดที่ดิน โดยไม่ต้องถูกบังคับการขายตลาด ส่วนกรณีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือด้านคดี โดยจัดหาทนายเข้าต่อสู้ในคดี รวมทั้งการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล และกรณีที่มีการผิดสัญญาแต่ยังไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ อยู่ระหว่างมีการเจรจาแต่ยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคตามสัญญา
รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองฯ กล่าวอีกว่าสำหรับประเด็นเรื่องการได้รับคู่สัญญานั้น ผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมขอกู้ยืมกับบริษัทศรีสวัสดิ์ สามารถใช้สิทธิในการขอคู่สัญญาตามสิทธิผู้บริโภคเรื่อง “สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา” และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อบริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2545 ข้อ3(8) ซึ่งบริษัทฯ ต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานทันที่ที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา
กรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับสัญญาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือประกาศของบริษัทฯ รวมทั้งกรณีที่พบว่าเอกสารสัญญาที่ได้รับเป็น ‘ตั๋วสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้’ แทนสัญญาเงินกู้ ซึ่งถือเป็นนิติกรรมอำพราง และผิดเจตนาในการเข้าทำสัญญากู้ยืมสามารถร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคได้ที่เบอร์ 1502 ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. หรือผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ tcc.or.th ไลน์ออฟิเชียล @tccthailand หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค
“ถ้าดูข้อมูลเรื่องร้องเรียนหลังจากการพูดคุยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ยังพบเรื่องร้องเรียนที่เกิดปัญหาขึ้นจากสัญญาเดิมก่อนหน้าการเข้าพบพูดกับทางสภาผู้บริโภคกับผู้บริหารบริษัทฯ แต่ยังไม่พบผู้เสียหายรายใหม่ที่เกิดปัญหาหลังจากบริษัทฯ ออกประกาศ ซึ่งสภาผู้บริโภคจะติดตามการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องชื่นชมบริษัทศรีสวัสดิ์ที่มีการปรับตัวตามข้อเสนอของสภาผู้บริโภคในเรื่องการส่งมอบสัญญาเงินกู้ การไม่บังคับทำประกันภัย และหวังว่าบริษัทฯ จะดำเนินการปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายให้มีความยั่งยืน เพื่อเป็นธุรกิจเงินกู้ที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคอย่างแท้จริง” ภัทรกร กล่าวทิ้งท้าย