หนุนตั้ง ‘สภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งฯ’ แก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ อย่างตรงจุด

สภาผู้บริโภค จัดเวทีแลกเปลี่ยน “สภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ” ผลักดันแก้ปัญหาระบบขนส่งในกรุงเทพฯ – ตจว. หวังให้เกิดระบบขนส่งที่ปลอดภัย เป็นธรรม และตอบโจย์ผู้ใช้บริการ

วันที่ 18 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรม “สภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ
ครั้งที่ 1” เพื่อเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและภาคส่วนต่าง ๆ ในฐานะสมาชิกสภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม และเพื่อส่งเสริมให้เกิดแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โดยมีสมาชิกสภาผู้ใช้ระบบบริการขนส่งสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้แทนพรรคการเมืองเข้าร่วมกิจกรรม

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ที่หลากหลายรูปแบบต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น รถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถยนต์บริการเรียกผ่าน แอปพลิเคชัน หรือ เรือโดยสาร

ในทางกลับกันการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในส่วนภูมิภาคกลับล่าช้า เนื่องจากขาดการส่งเสริมนโยบายด้านการขนส่งสาธารณะในระดับจังหวัด มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่รองรับการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ส่งผลให้ประเทศกลายเป็นเมืองของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือคนที่ไม่ได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นผู้กำหนดอนาคต คนคิดไม่ได้ใช้บริการ คนใช้บริการกับคนให้บริการไม่มีสิทธิคิด ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดหรืออาจสร้างปัญหาเพิ่ม เช่น เรื่องการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้บริการสะดวกขึ้น กลับสร้างปัญหา เพราะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจดจำ เกิดความยุ่งยาก การที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น” บุญยืนกล่าว

สารี อ๋องสมหวัง

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงความท้าทายงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น หนึ่งในเป้าหมายประเด็นขับเคลื่อนปี 2568 โดยมีเรื่องการพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะใน 7 เมืองหลัก ประเด็นเรื่อง “ถนนสำหรับทุกคน” หรือ “Road For All” มุ่งเป้าพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะไปด้วยกัน ทำให้เกิดเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและพัฒนาร่วมกันได้ มีความเป็นธรรมกับทุกคน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคทุกจังหวัด

ทั้งนี้ การเกิดสภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนเรื่องระบบขนส่งมวลชน ซึ่งในอนาคตคาดหวังให้เกิดสภาผู้ใช้บริการระบบขนส่งฯ ในทุกจังหวัดที่มีสมาชิก เพื่อให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม เป็นธรรม และตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ผลักดันและแก้ไขปัญหาเรื่องระบบขนส่งฯ ทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งได้ร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น กรมขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงการขับเคลื่อนในต่างจังหวัด เช่นการเสนอให้จังหวัดต่าง ๆ มีการตั้งกองทุนหรือเกิดการสนับสนุนเงิน เพื่อให้มีระบบขนส่งมากขึ้น

ยกตัวอย่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่ซื้อรถมินิบัสไฟฟ้า เพื่อให้บริการนักเรียนและผู้สูงอายุในจังหวัดสามารถขึ้นได้ฟรี ทั้งนี้ ข้อเสนอในการประชุมวันนี้จะถูกนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อส่งถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบขนส่งสาธารณะต่อไป

“สิ่งหนึ่งที่อยากเกิดขึ้นคือค่าโดยสารขนส่งสาธารณะมีราคาถูก ยั่วยวนให้คนเลิกใช้รถ เงินทุนที่จะมาสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ภาษีที่ดินฯ ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) ค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ ที่นำส่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการยกเลิกทางด่วนสองชั้น (double deck) ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 3.4 หมื่นล้านบาท หากนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า หรือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะก็จะสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาระบบขนส่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้มากขึ้น สภาผู้บริโภคเชื่อว่า ประเทศเรามีงบประมาณเพียงพอ เพียงแต่จะจัดลำดับการใช้งบประมาณอย่างไร” สารี ระบุ

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงภาพรวมของการทำงานด้านระบบขนส่งสาธารณะของสภาผู้บริโภคว่า ประเด็นเรื่อง Road for All ครอบคลุมในหลายส่วน ซึ่งอยู่ในแผนงานด้านขนส่ง ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีพื้นที่ทำงาน 33 จังหวัด โดยเน้น 7 จังหวัดหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น อยุธยา ภูเก็ต สงขลา และกรุงเทพมหานคร

สำหรับแนวทางการทำงานเพื่อผลักดันให้เกิด “Road for All” มี 4 ข้อ คือ 1) ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะไปด้วยกัน ทําให้เกิด เมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิต และพัฒนาร่วมกันได้ (Just City) มีความ เป็นธรรมกับทุกคน 2) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคทุกจังหวัด (User Group) ในการพัฒนาและติดตามคุณภาพการให้บริการขนส่งสาธารณะ 3) สนับสนุนการใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟฟ้า ลดปริมาณการใช้ รถยนต์ส่วนบุคคล และ 4) สนับสนุนการดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า และการใช้พลังงาน แสงอาทิตย์

คงศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอต่อการจัดระบบบริการขนส่งสาธารณะ 1) จัดลําดับการใช้งบประมาณ มีเป้าหมายในการผลักดันให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ 2) การตั้งกองทุนจัดบริการขนส่งสาธารณะ กระจายอำนาจ งบประมาณ แนวปฏิบัติ ให้ อปท. สามารถจัดบริการในพื้นที่ได้

3) มีเป้าหมายลดโลกเดือดและอุณหภูมิที่ร้อนทั่วประเทศ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างชัดเจน 4) การสนับสนุนภาคเอกชนที่พร้อมในการจัดบริการขนส่งสาธารณะ และ 5) สนับสนุนให้แผนพลังงาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ในปี 2570

ภัณฑิล น่วมเจิม

ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคกับการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลส่วนกลางรวบอำนาจ ไม่กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น  ทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี”จัดบริการขนส่งสาธารณะโดยนั่งอยู่บน “หอคอยงาช้าง” 

ทั้งนี้ การบริการขนส่งสาธารณะควรมีการกระจายอำนาจไปยัง อปท. ให้มีอำนาจจัดการ เช่น การกำหนดเส้นทางการให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้เอง เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่า คนพื้นที่ ขณะที่ประเด็นระบบตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม เพื่อให้สามารถใช้ระบบขนส่งด้วยความสะดวก มีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผลนั้น  ฟันธงอีก 4 ปี การดำเนินนโยบายเรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น

อภิสิทธิ์ มานตรี

ด้าน อภิสิทธิ์ มานตรี ผู้ดูแลเพจรถเมล์ไทย (Rotmaethai) สะท้อนปัญหาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ปัญหาหลักคือเลขสายรถเมล์ทำให้เกิดความสับสน จากการรับฟังความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเลขสายแบบเดิม แต่เสนอเข้าไปในชั้นกรรมาธิการ 2 รอบยังไม่ได้รับการตอบรับ นอกจากนี้ ปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 269 เส้นทาง ซึ่งมีเพียง 107 เส้นทางที่ ขสมก. เดินรถเอง ส่วนอีก 158 เส้นทางให้สัมปทานเอกชนในการเดินรถ นอกจากนี้ยังเกิด 4 เส้นทางที่เป็น “ฟันหลอ” กล่าวคือมีการยกเลิกสายเดิม โดยยังไม่มีรถมาแทน

“เดือนสิงหาคมนี้จะยกเลิกการเดินรถ 14 เส้นทาง ไม่มีการประชาสัมพันธ์ เอกชนที่จะนำรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาเดินรถก็ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อลงพื้นที่สำรวจกลับพบว่า ไม่ได้มีรถเมล์เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลหลังบ้านจากบริษํทเอกชน ว่าปัจจุบัน 123 เส้นทางของเอกชน ไม่ได้เดินรถตามที่ได้สัมปทาน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ไม่ได้เข้ามาจัดการปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนประเภทรถเมล์ที่ให้บริการซึ่งส่งผลต่ออัตราค่าโดยสาร เช่น การเปลี่ยนจากรถครีมแดงเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นจาก 8 บาทเป็นเริ่มต้น 15 บาท ทั้งยังมีประเด็นเรื่องการขั้นบันไดของการเก็บค่าโดยสารที่ค่อนข้างกว้าง โดยเพิ่มขึ้น 5 บาท ทำให้ค่าโดยสารอยู่ที่ 15 20 และ 25 บาท ซึ่งกระทบต่อผู้ใช้บริการในบางระยะทาง จึงมีข้อเสนอในการปรับลดค่าโดยสารและเพิ่มความถี่ของขั้นบันไดให้ถี่มากขึ้นเพื่อความเป็นธรรมของผู้ใช้บริการ

อดิศักดิ์ สายประเสริฐ

ส่วน อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการทำงานวิจัยเรื่อง “บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในเมืองหลักส่วนภูมิภาคของไทย” และได้ร่วมทำงานในการผลักดันเรื่องฟีดเดอร์ หรือระบบขนส่งสาธารณะรอง โดยปัญหาร่วมที่พบคือถนนสายหลัก และสายรองไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ ถึงแม้ประชาชนจะสะท้อนปัญหา ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หลายครั้งไม่ได้รับการตอบสนอง อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ นายอดิศักดิ์ เสนอว่า หากต้องการผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรที่มีอำนาจในพื้นที่นั้น ๆ เช่น การผลักดันระบบขนส่งในกรุงเทพฯ หากทำงานร่วมกับ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) จะทำให้สามารถผลักดันได้อย่างรวดเร็ว และเกิดขึ้นได้จริง

อดิศักดิ์ได้เสนอให้แก้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องการเรื่องระบบขนส่ง เนื่องจากปัจจุบันไม่มีตัวแทนของประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ เชื่อว่า จะทำให้เสียงของประชาชนถูกสะท้อนออกมาได้ตรงจุด

นอกจากนี้  ในส่วนของกิจกรรม (Focus Group) ผู้เข้าร่วมประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาระบบส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอ การปฏิรูปรถเมล์ การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ที่สร้างความสับสน การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า หรือระบบฟิดเดอร์ที่ครอบคลุมการเดินทางของผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยให้สภาผู้บริโภคเป็นตัวกลางในการเชิญกลุ่มผู้ใช้และหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ เกี่ยวข้องกับงานขนส่งสาธารณะประชุมระดับนโยบายเพื่อพิจารณาหรือนําเสนอแนวทางการดําเนินการต่อไป และให้สภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริโภคควบคู่ไปกับสภาผู้บริโภค