สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องความโปร่งใส ในกระบวนการพิจารณาการขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปทุกยี่ห้อเมื่อเร็วนี้ ว่าต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าการผลิตสินค้ามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจริงหรือไม่ โดยไม่ใช่การขึ้นราคาเพื่อเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ
หากพิจารณาจากเหตุผลที่ผู้ประกอบการอ้างถึง ในการขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในครั้งนี้ จะพบเป็นการอ้างอิงถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลนี้ขัดแย้งกับความจริงที่ว่า ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และอื่น ๆ ต่างเป็นรายการที่อยู่ในบัญชีรายการสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในทั้งสิ้น หมายความว่าวัตถุดิบเหล่านี้จะไม่มีการขึ้นราคา
แต่หากมีการขึ้นราคาจริงที่ทำให้กระทบต้นทุนการผลิต บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดรายการสินค้าควบคุมจึงราคาขึ้นได้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะสะท้อนประสิทธิภาพของการกำกับดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศและประชาชน กำลังเผชิญหน้าวิกฤติค่าครองชีพสูงอย่างฉับพลัน
และหากพิจารณาความในมาตรา 24 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จะพบได้ว่า ประเทศไทยมีระบบการควบคุมราคาสินค้าที่ชัดเจน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ที่สามารถกำหนดว่าสินค้าและบริการใดเป็นสินค้าควบคุม โดยออกเป็น “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม”
ซึ่งปัจจุบันนี้ อยู่ระหว่างการประกาศใช้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมราคาทั้งสิ้น 51 รายการ และเพิ่มเติม 5 รายการ เป็น 56 รายการในปี พ.ศ. 2565
ฉะนั้น “ดัชนีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่เป็นตัวชี้วัดค่าครองชีพของประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดถึงความมีหรือไม่มีประสิทธิภาพของกรมการค้าภายใน และคณะกรรมการชุดนี้ เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน สังคมก็ถามหาความชอบธรรมของการขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากผู้ผลิตเช่นกัน เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัทผลิตสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปทั้ง 5 บริษัทที่ออกวางขายในตลาด (อ้างอิงจาก : 5 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บุก “พาณิชย์” ทนไม่ไหวขอปรับขึ้นราคา) จะพบว่า ในปี พ.ศ. 2564 ทุกบริษัทมีผลกำไรต่อเนื่อง ที่มากน้อยต่างกันไป
เช่น บริษัท ไทยเพซิเดนท์ฟู้ด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีกำไรถึง 3,547 ล้านบาท, บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทยผู้ผลิตไวไว มีกำไร 306 ล้านบาท, บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตบะหมี่ซื่อสัตย์ มีกำไร 1,745 ล้านบาท บริษัท วันไทยอุตสาหกรรม ผู้ผลิตบะหมี่ยำยำ มีกำไร 267 ล้านบาท และบริษัทนิชชิน ฟูด(ไทยแลนด์) มีกำไร 197 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปทุกบริษัทไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน หรือภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนถึงขั้นกระทบต่อกิจการ หากไม่ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในยามที่ผู้บริโภคกำลังตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง
ด้วยเหตุนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคขอเสนอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยึดหลักการเรื่องการขอขึ้นราคาสินค้าและบริการ ที่ผู้ประกอบการต้องแสดงวิธีการคำนวณต้นทุนอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นราคาสินค้า ต้องไม่ทำด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ
เพื่อยึดมั่นในหลักการความโปร่งใส และตรวจสอบได้ กรมการค้าภายในควรเปิดโอกาสให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการพิจารณาการขึ้นราคาสินค้าทุกประเภทในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคทั้งประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่ขึ้นหรือขึ้นราคาสินค้า ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
บทวิเคราะห์โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค