นักวิชาการวิพากษ์ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ ไม่ตอบโจทย์จิตนาการการศึกษาในอนาคต แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่กระจายอำนาจ ขาดการศึกษาภาคประชาชน ขาดการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และสถานศึกษา
ทุกวันนี้ประเทศไทยยังคงใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 25 ปี ในปี 2564 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. มีการเปิดรับฟังความเห็นและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว และในท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีการยุบสภาฯ ไปก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ได้ถูกปัดฝุ่นนำมาทบทวน และทำประชาพิจารณ์อีกครั้งเพื่อเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฏรพิจารณา
แต่ ในการเวทีเปิดพื้นที่สาธารณะของสภาผู้บริโภคเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีเสียงสะท้อนมากมายจากทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักการศึกษา รวมถึงเยาวชน ที่ตั้งคำถามว่า 7 ปีร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับใหม่ : ของใคร เพื่อใคร เมื่อไหร่เสร็จ ?
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ยาก ไม่สามารถสื่อสารกับคนอ่านได้เลย ขณะที่มีมาตราที่เป็นเรื่องของกลไกการบริหารมากถึง 110 มาตรา
“ส่วนตัวแล้วเป็นอาจารย์ที่ทัน พ.ร.บ.การศึกษา ปี2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คนทั่วไปอ่านรู้เรื่อง แตกต่างจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ที่อ่านได้ไม่เกิน 4 บรรทัดจะเริ่มงง กับภาษากฎหมาย เป็นกฎหมายที่ใช้งานยาก ไม่สื่อสารกับคน และเต็มไปด้วยรายละเอียด” ผศ.อรรถพลกล่าว
นอกจากนี้ในเนื้อหาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในหลายประเด็นยังเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในอดีต และปัจจุบัน แต่ไม่ได้พูดถึงอนาคต ทำให้ หาก พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ประกาศ และใช้ไปอีก 20 – 30 ปีจะทำให้ไม่เท่าทันโลกในอนาคต ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาต้องมีจินตนาการถึงอนาคตอยู่ในนั้นด้วย
“ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติมีรายละเอียดในการแก้ปัญหาไปทุกอย่าง เช่น สถานะบทบาทผู้บริหารการศึกษา ครูจะทำอย่างไร ทุกคนหวังว่า พ.ร.บ.จะแก้ปัญหาได้ ทำให้ประเด็นต่างๆไปผูกไว้ใน พ.ร.บ.หมดเลย ขณะที่ ผมลองไปอ่าน พ.ร.บ.การศึกษาของประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นมีแค่ 6 หน้ากระดาษ มีแต่เรื่องหลัก ๆ นิยามว่าการศึกษาคืออะไร การศึกษาแต่ละแบบมีอะไรบ้าง จะเป็นแม่บทการศึกษาใหญ่ ๆ ส่วนตัวรายละเอียดไปออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทีหลัง” ผศ.อรรถพล ระบุ
ผศ.อรรถพล ยังกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ไม่ได้เป็นแม่บทของการศึกษาของชาติ เพราะไม่ได้สะท้อนปรัชญาการศึกษาของประเทศซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 มีบางมาตราที่บอกถึงหลักการและเป้าหมาย แต่ร่าง พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ละเลยการเขียนเรื่องเหล่านี้ แต่มีรายละเอียดเรื่องของการตั้งคณะทำงาน เช่น จะมีซูเปอร์บอร์ดการศึกษา จะมีการตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเป็นรายละเอียดในเชิงเทคนิกมากกว่า
“หลังจาก ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ไปไม่สุดเพราะยุบสภาฯ ก่อน ผมก็คิดว่าเรามีเวลา 3 ปีที่จะตั้งหลักคุยกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการเอา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 มาเสนอใหม่ ขณะที่ปัญหาสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และที่น่าตกใจ คือในระหว่างที่ พ.ร.บ. การศึกษาชาติยังไม่บังคับใช้ แต่เรามี พ.ร.บ.ปฐมวัย พ.ร.บ.การส่งเสริมการเรียนตลอดชีวิต ออกมาบังคับใช้แล้ว คำถามคือ จะยึดโยงกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กำลังจะออกมาอย่างไร” ผศ.อรรถพลตั้งคำถาม
เช่นเดียวกับ นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวถึงประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 คือการตัดมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ออกไป โดยมาตร 12 ได้ให้สิทธิ รัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน ครอบครัว เอกชน และสถาบันศาสนา มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและมี 6 กฎกระทรวงฯ ออกมารองรับ ทำให้มีการศึกษามาทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
“ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย นี่คือหัวใจสำคัญที่หายไป สมาคมฯ ของเราทำงานด้านการศึกษากับชุมชนกับสถานประกอบการมานาน มีศูนย์การเรียนประเภทนี้ 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เราหางบประมาณจ้างครูกันเอง นี้คือความเจ็บปวดของภาคประชาสังคมและในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย ประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกัน แต่การศึกษาของเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงยังอยู่ในจิตนาการเดิมเราจะไปสู่จิตนาการใหม่ได้อย่างไร” เทวินฏฐ์กล่าว
เทวินฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมามีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาของไทยจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีเด็กอายุ 3 – 18 ปีที่ไม่มีฐานข้อมูลในระบบการศึกษา 1.2 ล้านคนนอกจากนี้มีข้อมูลขององค์การยูนิเซฟที่วิจัยเชิงลึกเรื่องเด็ก 4 ไม่ คือ ไม่เรียน ไม่รู้ ไม่ทำ ไม่เอา โดยมี อายุ 15 – 24 ปี มีประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มกลุ่มดังกล่าว 7 ใน 10 เป็นเด็กผู้หญิง และอีกข้อมูลของสภาเด็กและเยาวชน อายุประมาณ 10 – 15 ปี จำนวน 5 .8 หมื่นคน กว่าร้อยละ 60 บอกว่า ระบบการศึกษาไม่มีความพร้อมสู่ตลาดแรงงานซึ่งทั้ง 3 ข้อมูลสะท้อนว่าการจัดการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์
เทวินฏฐ์ ยังบอกอีกว่า การจัดการศึกษาต้องหลากหลายและต้องมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาสังคม เพราะภาคประชาสังคมคือ จุดแข็งของการศึกษาที่หลากหลายและยืดหยุ่นแต่ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาปี2564 ไปเน้นในเชิงกลไก เน้นไปที่แก้ปัญหาครู แต่ในโลกปัจจุบันความรู้อยู่ในอินเทอร์เนต ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนเพราะฉะนั้น ครูที่เก่งคือ ครูที่สร้างแรงบันดาลใจที่เด็กจะเรียน
“อยากฝากทำอย่างไรให้ร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษาตอบโจทย์จินตนาการของผู้เรียนและอนาคต และภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร เพระาการศึกษาคือเป้าหมายประเทศ และเป้าหมายของโลก”เทวินฏฐ์กล่าว
ขณะที่ เสถียร พันธ์งาม เครือข่ายครูอีสาน กล่าวว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติต้องปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ โดยจะต้องมีการกระจายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ลดอำนาจกระทรวง ฯ ทบวง ฯ กรม หรือกระทั่งเขตพื้นที่การศึกษา แต่ควรจะให้อำนาจกับสถานศึกษา และพื้นที่ในการจัดการศึกษามากขึ้น
“เราบอกว่า ให้อำนาจการจัดการหลักสูตร กับสถานศึกษาในการทำหลักสูตร แต่ความจริงแล้วคำว่าหลักสูตรสถานศึกษาไม่ได้มีอยู่จริง เพราะสถานศึกษาก็ไปลอกเลียนแบบมาจากส่วนกลาง จึงอยากให้เขียนให้ชัดว่าหลักสูตรสถานศึกษา ต้องให้โรงเรียน ผู้มีส่วนได้เสีย ในบริบทชุมชนเหล่านั้นเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรเป็นฐานทุนของตัวเอง หรือชุมชนตัวเองว่าเขาต้องการให้ลูกหลานที่ไปเรียนออกมาเป็นแบบไหน” เสถียรกล่าว
เสถียร กล่าวว่า หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา จึงไม่อยากให้เป็น “หลักสูตรเสื้อโหล” ที่ใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่เหมาะกับผู้เรียนและบริบทของพื้นที่ส่วนเรื่องของการเรียนรู้ต้องให้ผู้เรียนเป็นความสำคัญ โดยเสนอกระบวนการเรียนรู้ในเชิงรุก และการประเมินผลแบบบูรณาการ คือ เอเอสเคเอ (ASKA) อย่างสมดุล โดย A ตัวแรกคือ Attitube หรือ ทัศนคติ S คือ Skill หรือ กระบวนการ ทักษะ K คือ Knowledge หรือ ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ และ A คือ Attribute หรือคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งใน พ.ร.บ. การศึกษาต้องมีสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน
สำหรับ ความคืบหน้าของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาชาติ ขณะนี้ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและเสนอคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฏีกาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้ารับการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฏร โดยพบว่า นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการแบ้วยังมีอีก 6 ร่างฯ ที่เตรียมเสนอเข้ารับการพิจารณา ซึ่งคงจะนำมาปรับแก้ไขจุดอ่อน จุดแข็งร่วมกันต่อในในรัฐสภา
#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #การศึกษา #นักเรียน