เปิดโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” แก้ปัญหาอุบัติเหตุ-นักเรียนเสียชีวิต

สภาองค์กรผู้บริโภคพบตัวอย่าง โรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 4 ภาค ที่ได้มาจากการพัฒนาเกณฑ์ 9 ข้อสร้างระบบตรวจ เช็คข้อมูลเดินทาง ป้องกันลืมเด็กในรถ และลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์

ด้วยสถิติอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาระหว่าง 2565 – 2567 ได้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นกว่า 30 ครั้งทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ 368 คน นอกจากนั้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปี 2567 พบอุบัติเหตุรถนักเรียนมีแนวโน้มสูงและรุนแรงมากขึ้น ที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 153 คน

การผลักดันที่จะทำให้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญของโรงเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมได้ทำงานร่วมกับเครือข่าย 33 จังหวัดมากกว่า 6 ปีเพื่อพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 20 โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อสร้างระบบความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กนักเรียนด้วยรถโรงเรียน

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เล่าว่า ก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคได้พัฒนาโรงเรียนต้นแบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยซแต่พบว่าอาจจะไม่ทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเห็นว่าควรต้องยกระดับให้เป็นโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพื่อเป็นโมเดลการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนที่ใกล้เคียงหรือโรงเรียนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ สำหรับกรอบการพัฒนาโรงเรียนศูนย์ 5 เกณฑ์ คือ 1. มีพื้นที่เรียนรู้ทางกายภาพ มีรถรับส่งนักเรียน มีพื้นที่จุดจอด 2. มีองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียน 3. มีบุคลากรจัดการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ 4. มีรูปแบบการจัดการศูนย์เรียนรู้ 5. มีแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ขณะที่กรอบการพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบคือ 1. มีระบบข้อมูลนักเรียน รถ คนขับ เส้นทาง พฤติกรรมคนขับ 2. ระบบเฝ้าระวัง ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยรายงานปัญหาได้ 3. มีระบบการดูแลนักเรียนในรถที่ถูกต้อง ทั่วถึง 4. มีการรวมกลุ่มคนขับ สร้างข้อปฏิบัติหรือวางแผนร่วมกันในการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัย 5. ต้องมีมาตรฐาน มีขั้นตอนตรวจสอบสภาพรถ และขึ้นทะเบียนกับขนส่ง 6. มีจุดจอดรถที่ปลอดภัย และระบบความปลอดภัยหน้าโรงเรียน 7. มีระบบคณะทำงาน และหลักเกณฑ์เพื่อติดตามประเมินผลทั้งระบบ 8. มีกลไกจัดการโดย ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง 9. มีคณะทำงานระดับอำเภอหรือจังหวัด

 “สภาผู้บริโภค และเครือข่ายได้เปิดตัวโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยจำนวน 20 โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 5 ด้านและมีกรอบการทำงาน 9 ด้าน เพื่อให้เป็นโรงเรียนศูนย์เรียนรู้ในการสร้างระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพราะความปลอดภัยคือสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคทุกคน” คงศักดิ์กล่าว

ขณะที่ มงคล แพ่งประสิทธิ์ ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทั่วไป โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มาร่วมถอดบทเรียนการพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้ เล่าว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้การพัฒนาระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย หรือ “แม่ใจโมเดล” ประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือกันของผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ซึ่งจุดเล็ก ๆ ของการเริ่มต้นแม่ใจโมเดล มาจากความตระหนักของครูที่เป็นห่วงนักเรียน ต้องการให้นักเรียนที่มาโรงเรียนและกลับบ้านอย่างปลอดภัยทุกคน เนื่องจากที่ตั้งของโรงเรียนติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ทำให้เกรงว่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

“เริ่มจากครูเสียสละพื้นที่จอดรถครู มาเป็นพื้นที่จอดรถโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าพร้อมกับเครือข่าย นายอำเภอ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองทุกคนให้มามีส่วนร่วม หารือและจัดการเรื่องนี้และได้ชวนขนส่งจังหวัดเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้รถรับส่งนักเรียนมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ได้รับการต่อใบอนุญาตครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ทุกคัน”

มงคล บอกว่า การทำงานประสานองค์กรเครือข่าย หารือจนได้รูปแบบการจัดการเป็นแม่ใจโมเดลในการจัดการรถโรงเรียนได้ ซึ่งเรามีการจัดระเบียบจุดจอดรถ มีการสำรวจุดเสี่ยงบนท้องถนน มีไฟกระพริบเพื่อให้รถชะลอความเร็ว ส่วนพนักงานขับรถได้ร่วมกับสาธารณสุขเข้ามาเพื่อตรวจสุขภาพคนขับรถรับส่งนักเรียนเป็นประจำและพัฒนานักเรียนให้เป็นเด็กท้ายรถ ตรวจสอบ ความเรียบร้อย เช็คจำนวนเพื่อนนักเรียนพร้อมส่งรายงานทุกวันให้เป็นฐานข้อมูล โดยโรงเรียนมีฐานข้อมูลทั้งคนขับรถ ถนนที่มีความเสี่ยง ในแต่ละเส้นทางของรถโรงเรียน

ส่วนบทเรียนความสำเร็จของ” แม่ใจโมเดล” นอกจากความร่วมมือจากเครือข่ายแล้ว กุญแจสำคัญคือผู้บริหารโรงเรียนต้องให้ความสำคัญและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการต้องออกนโยบายเพื่อให้ดำเนินการได้ด้วยถึงจะสามารถผลักดันให้เกิดได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยในภาคอีสาน นงเยาว์ ผาสุก รองผู้อำนวยการโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า กุญแจสำคัญของความสำเร็จ คือผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ใช่ระดับนโยบาย ครูก็จะทำงานเรื่องนี้ลำบาก และเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ

ส่วนจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเกิดขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุนักเรียนตกรถโดยสารระหว่างเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่โรงเรียนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงมีเหตุการณ์นักเรียนกลับบ้านช้าเป็นประจำจนทำให้หน่วยงานขนส่งได้ตรวจสอบรถรับส่งนักเรียนแล้วพบว่ารถรับส่งไม่ปลอดภัยจึงไม่อนุญาตให้รับนักเรียน ทำให้คณะครูเริ่มหารือกันว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

“เราได้เริ่มหารือเพื่อออกแบบระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จนได้รับการเป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยสิ่งที่เราทำยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง ทั้งผู้ประกอบการและนักเรียน ผู้ปกครอง และ โรงเรียน แล้วมาร่วมกันพัฒนาระบบ”

นงเยาว์ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนยังมีการทำงานและหารือร่วมกับผู้ประกอบการ นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน ซึ่งโรงเรียนมีฐานข้อมูลทั้งคนขับ เส้นทาง และจุดจอดนอกจากนี้ยังมีระบบดูแลช่วยเหลือและสิ่งที่สำคัญมีเครือข่ายไลน์ที่เวลาเกิดอุบัติเหตุสามารถช่วยเหลือกันและกันได้ทันที

 “ระบบดูแลของเราเข้มงวดเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ได้ คือ ครูหนึ่งคน ต่อรถรับส่งหนึ่งคันและได้ให้สภานักเรียน หนึ่งคนเข้ามาร่วมดูแลเรื่องนี้เพื่อให้นักเรียนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการมีส่วนร่วม”

ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดย บุญสร้าง เปรมยกย่อง โรงเรียนหาดใหญ่ 2 จังหวัดสงขลา บอกว่า ด้วยที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียนกว่า 2,000 คน มีนักเรียนมาเรียนจาก 8 อำเภอทำให้โรงเรียนต้องจัดรถบริการรับส่งให้ทั่วถึง ซึ่งนักเรียนประมาณร้อยละ 80 ใช้บริการรถรับส่ง โดยมีรถรับส่งของนักเรียน 103 คัน เป็นรถบัส 2 คันมีบริการ 16 สายของการเดินรถ

โรงเรียนหาดใหญ่ 2 มีการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยโดยออกแบบระบบการจัดการให้มีฝ่ายงานรับผิดชอบรถรับส่งนักเรียนที่ชัดเจนและทำงานร่วมกับชมรมรถรับส่งนักเรียน ผู้ปกครอง และมีการประชุมร่วมกัน

การพัฒนาระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน จากเดิมที่พัฒนาฐานข้อมูลจากการบันทึกเอกสาร เป็นแฟ้มเอกสารบันทึกข้อมูล ต่อมาได้พัฒนาระบบข้อมูลโดยใช้ ระบบดูแลนักเรียนที่ชื่อสติวเด้นท์แคร์ (Student Care) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลของเด็กนักเรียน และเพิ่มฐานข้อมูลผู้ประกอบการรถรับส่งรวมถึงข้อมูลเรื่องเส้นทางรถรับส่งนักเรียน การรายงานผู้ปกครอง

“ข้อมูลที่เราบันทึกจะค่อนข้างละเอียด โดยข้อมูลของคนขับรถรับส่ง คือ ใครเป็นเจ้าของรถ มีใบอนุญาติหรือไม่ และแยกสายรับส่ง และมีข้อมูลใครนั่งในรถบ้าง และใครรับผิดชอบดูแล และมีการสื่อสารด้วยไลน์กลุ่มที่สามารถแจ้งเตือนได้ตลอด”

สำหรับสิ่งที่อยากพัฒนาเพิ่มมากขึ้น อาจารย์บุญสร้างกล่าวว่า โรงเรียนกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ชื่อว่า “เซฟดี้ ไชด์” (Safety Child) และเชื่อมข้อมูลกับแอปฯ สติวเด้นท์ แคร์ เพื่อให้ทุกคนเข้ามาดูข้อมูลรถรับส่งนักเรียนแบบเรียลไทม์ ผู้ปกครองจะเช็คได้ว่าลูกหลานของตัวเองนั่งรถคันไหน ใครเป็นคนขับ และเดินทางถึงเมื่อไรเพื่อให้รอรับลูกหลานได้เลย

ขณะที่โรงเรียนต้นแบบภาคกลาง พัฒนพงศ์ มีสมยุทธ หัวหน้างานรถรับส่งนักเรียน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บอกว่า ได้พัฒนารูปแบบรับส่งนักเรียนแบบภาคีเครือข่ายเพื่อการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยทำงานร่วมกับทุกส่วนขณะที่โรงเรียนได้บรรจุในโครงสร้างกลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียนโดยมีงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเพื่อให้มีคนรับผิดชอบอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

“เราจัดตั้งชมรมรถรับส่งนักเรียนโดยมีรถรับส่งนักเรียน 85 คันและมีนักเรียน 1,350 คน มีนักเรียน 3,000 คน ซึ่งมีนักเรียนที่ไม่ได้ใช้บริการถรับส่งนักเรียนซี่งเราจะพัฒนาระบบในส่วนนี้มากขึ้น”

พัฒนพงศ์ บอกว่าระบบการจัดการข้อมูลโรงเรียนได้พัฒนาจากการบันทึกข้อมูลเอกสารมาเป็นการบันทึกข้อมูลลงเว็บไซต์เพื่อเป็นฐานข้อมูลการให้บริการโดยผู้ประกอบการสามารถขอดำเนินการขอ

ใบรับรอง และออกใบรับรองในระบบได้เลย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเส้นทางการตรวจสอบเส้นทาง  ตรวจสอบจุดจอดรถ ตรวจสอบข้อมูลรถ และมีการร้องเรียนเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง

ส่วนกุญแจความสำเร็จของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยอยู่ที่ผู้บริหารที่ให้ความสำคัญ และการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ เพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ขณะที่โรงเรียนที่กำลังจะเริ่มพัฒนาระบบอย่างโรงเรียนประจวบวิทยาลัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดชา ศิริพิบูลย์ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย บอกว่า โรงเรียนอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนโดยยึดหลัก ความร่วมมือ และหาองค์ความรู้ และผ่านกระบวนการทำงานและการวางแผน ไปจนถึงการประเมินและการปรับปรุงพัฒนา

การพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนจึงพัฒนาจากการมีส่วนร่วม และมีระบบจัดการแบบ PS school หรือการใช้ระบบสื่อสารของโรงเรียนเพื่อให้ครูสามารถไปเยี่ยมบ้านนักเรียนได้ ซึ่งพบว่าร้อยละ 60 ของนักเรียนในจังหวัดประจวบฯเป็นนักเรียนบ้านไกล โดยร้อยละ 30 เดินทางมาด้วยรถรับส่ง ส่วนที่เหลือใช้บริการสาธารณะ และมีผู้ปกครองมาส่ง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

สิ่งที่โรงเรียนประจวบวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะเดินไปให้ถึงระบบตามเกณฑ์เป้าหมาย 9 ข้อภายในปี 2568 ทั้งการพัฒนาจุดจอดรถ มีลานจอดรถได้ 100 คันและพัฒนาความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ

 อย่างไรก็ตาม เดชา เห็นว่าบทเรียนจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จคือเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆที่เราจะเริ่มดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #รถโรงเรียน #รถรับส่งนักเรียน #ความปลอดภัย