ช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน 2566 ปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยังคงเป็นปัญหาอันดับต้นในกลุ่มปัญหาด้านสินค้าและบริการที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 คณะอนุกรรมการฯ จึงได้เห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภคจัดทำแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์
โดยร่วมมือกับหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่และองค์กรสมาชิกของสภา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้ทันต่อสถานการณ์ ลดปัญหาหลอกลวงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริโภค ในการให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์จากร้านค้าบนแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือต่อไป
สำหรับประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่
1) เร่งให้มีการจัดระเบียบร้านค้าบนแพลตฟอร์มอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นต่อระบบ E-Commerce ของประเทศไทย และมีมาตรการทางกฎหมายกำกับการค้าขายสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดียโดยตรง (Social commerce) เช่น มาตรการควบคุมผู้ขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ให้แสดงเลขทะเบียนพาณิชย์ ชื่อร้านค้า ที่อยู่ เงื่อนไขการรับประกันสินค้าอย่างชัดเจน
2) การติดตาม เฝ้าระวัง ภัยออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการแจ้งเบาะแสการจัดการแพลตฟอร์มที่ปล่อยให้มีการโฆษณาขายสินค้าบริการด้วยข้อมูลเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง หลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ
3) ผลักดันให้บริษัทขนส่งสินค้าแบบจัดเก็บปลายทาง (COD) ทุกบริษัท มีมาตรฐานในการเก็บเงินชั่วคราวอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคสมารถติดตามรับเงินคืนได้กรณีที่พบปัญหาซื้อสินค้าไม่ตรงปก