อนุกรรมการด้านขนส่งฯ สภาผู้บริโภค เกาะติดนโยบายส่งเสริมสนับสนุนประชาชนทุกภูมิภาคให้เข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม
การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 5/2567 ซึ่งมีนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการรับฟังและติตตามการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านการขนส่งใน 2 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรก คือการดำเนินการขับเคลื่อนด้านขนส่งและยานพาหนะภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในพื้นที่เป้าหมายโครงการ 6 ภูมิภาครวมกรุงเทพมาหนคร ที่ดำเนินการร่วมระหว่างสภาผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีการดำเนินงานใน 7 จังหวัด โดยแบ่งเป็นพื้นที่เมืองหลัก คือ สงขลา ภูเก็ต และพื้นที่เมืองรอง คือ ปัตตานี นราธิวาส สตูล สุราษฎร์ธานี กระบี่ เพื่อให้มีรูปแบบตัวอย่างการจัดการระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่สู่การขยายผลและเป็นต้นแบบไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาทิ
สำหรับอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองของการท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายหลัก คือ การทำให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของเมือง โดยการสนับสนุนให้มีการแสดงป้ายข้อมูลการเดินทางและราคาที่เป็นธรรมในนครหาดใหญ่ โดยมีพื้นที่นําร่องที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ รวมถึงการจะทดลองลากเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะที่สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ ส่วนที่ภูเก็ตจะเป็นการยกระดับความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และภาคเอกชนคือ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ในการพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะที่ไร้รอยต่อในจังหวัดภูเก็ตโดยใช้รถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (EV bus) ที่ภาคเอกชนมีแผนให้บริการฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายระยะเวลาหนึ่งปี และ อบจ. จะดำเนินการเปลี่ยนรถโพถ้องที่เป็นรถดั้งเดิมที่ให้บริการในเส้นทางของ อบจ. ให้เป็นรถ EV bus ทั้งหมด
ในส่วนของเมืองรอง คือ ปัตตานี นราธิวาส สตูล สุราษฎร์ธานี จะมีนโยบายที่สำคัญ อาทิ นโยบายขยายเส้นทางสัมปทานเดินรถระหว่างอําเภอด้วยรถสองแถวเชื่อมการเดินทางไร้รอยต่อ ในจังหวัดนราธิวาส นโยบายการพัฒนาข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด (App-surat) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นโยบายจุดจอดรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยเข้าถึงง่าย ในจังหวัดปัตตานี นโยบายปรับปรุงค่าโดยสาร รถตู้ มินิบัส ตามระยะทาง ด้วยราคาที่เป็นธรรม และการเพิ่มจํานวนรถตุ๊กๆ เชื่อมต่อจุดสําคัญในเขตเทศบาลเมืองสตูล ในจังหวัดสตูล และนโยบายรถมินิบัส 100 คัน รับส่งนักเรียน 10 โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ในจังหวัดกระบี่
เรื่องที่สองเป็นการติดตามสถานการณ์ปัญหาการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท ให้เริ่มตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี โดยข้อเท็จจริงพบว่าจากสัญญาสัมปทานกำหนดให้กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ 24 เดือน หรือทุก ๆ 2 ปี และได้ปรับครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 หลังจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารเมื่อปี 2566 ประชาชนได้เรียกร้องการปรับบริการ เช่น การขอให้เพิ่มจำนวนตู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 3 ตู้เป็น 4 ตู้ของแต่ละขบวนเพื่อลดความแออัด แต่มีการแก้ปัญหาด้วยการถอดเก้าอี้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถยืนเพิ่มได้มากขึ้น ปัญหาระบบรถไฟฟ้าขัดข้องในบางขบวน มีปัญหาเรื่องน้ำแอร์รั่วภายในขบวนจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นการขึ้นราคาค่าโดยสารแต่ละครั้งเป็นกลไกการขึ้นราคาตามสัญญาสัมปทานที่รัฐทำไว้กับเอกชนอยู่ก่อนแล้ว สภาผู้บริโภคควรมีวงประชุมเพื่อวิเคราะห์การจัดทำสัญญาสัมปทานที่รัฐทำกับเอกชนในแต่ละกรณีว่าเป็นการทำสัญญาที่รัฐ เอกชนหรือประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเพียงใด