สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ ‘ผลกระทบ CPTPP ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร’ ด้านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP
จากการที่รัฐบาลไทย มีความพยายามจะนำประเทศไทยเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) โดยอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าว ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเสียนั้น
วันนี้ (17 มิถุนายน 2564) สอบ.จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ‘ผลกระทบ CPTPP ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร’ เพื่อทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร และเพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘CPTPP’ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.
ในเวทีเสวนามีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ที่เข้าร่วมการเสวนาแสดงจุดยืนร่วมกันว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP และพร้อมที่จะรวมพลังกันคัดค้านเรื่องดังกล่าว
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในเวทีเสวนา กรรณิการ์ ให้ข้อมูลว่า CPTPP แตกต่างจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อื่น ๆ ที่ประเทศไทยเคยทำ เนื่องจากการร่างข้อตกลงเขตการค้าเสรีโดยปกติจะมีการตกลง เจรจา และแก้ไขเนื้อหาจนได้ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน แต่ CPTPP คือ ความตกลงที่มีอยู่แล้ว และเนื้อหาของความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้ว หากไทยแสดงเจตจำนงเข้าร่วม จะทำได้เพียงแค่ตั้งข้อสงวน และระยะเวลาปรับตัว ที่ไม่เกินไปกว่าประเทศสมาชิกเก่า แต่ไม่สามารถเจรจาแก้เนื้อหาได้
“การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพ เช่น ยาจะราคาแพงขึ้น 14,000 ล้านบาท/ปี ราคาอาหารจะแพงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป รวมไปถึงเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศไทยต้องเป็นที่รับขยะนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องมือแพทย์มือสอง และยังมีประเด็นอื่น ๆ เช่น การไม่ต้องขึ้นทะเบียนเครื่องสำอาง ไม่ต้องขึ้นทะเบียนสินค้าออนไลน์ และการนำเข้าหมู ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง พืช GMOs ต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” กรรณิการ์ กล่าว
ด้านวิฑูรย์ กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง เนื่องจากนายทุนจะสามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ส่งผลให้ราคาอาหารแพงขึ้น แต่ความหลากหลายของอาหารน้อยลง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่เลี้ยงหมู 150,000 ครัวเรือน และเกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ 5.4 ล้านครัวเรือน
ขณะที่ สารี กล่าวว่า สอบ.ทำข้อเสนอถึงคณะรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ชะลอการเข้าร่วม CPTPP โดยมีข้อเสนอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวก และด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป
สารี กล่าวอีกว่า หากยืนยันจะพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางหรือมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเข้าถึงยา ความปลอดภัยของเครื่องสำอาง การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMOs ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่าใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ว่าจะปริมาณเท่าไหร่ก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน
ส่วน อนันต์ เมืองมูลไชย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดลำปาง เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบว่า เรื่องการลงทุนเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญและควรจับตามอง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคจะได้ใช้ การเข้าร่วม CPTPP อาจทำให้การกำกับดูแลการลงทุนเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะหากรัฐออกกฎหมายหรือมาตรการที่กระทบต่อนักลงทุนก็อาจถูกฟ้องร้องได้
“ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 แล้วถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องร้อง เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดว่าการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมจริงหรือไม่ หรือจะส่งผลดีต่อกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น” อนันต์ กล่าว