ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2567 วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมี ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม ได้ติดตามความคืบหน้าผลการประชุมงานงานขับเคลื่อนระบบการเฝ้าระวัง Post Marketing ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แบบมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 – 23 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครือข่ายสภาผู้บริโภค เครือข่ายมูลนิธิชีววิถี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดได้จัดทำแผนการดำเนินงานการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน สรุปได้ดังนี้
- จังหวัดเชียงใหม่ มีแผนติดตามเฝ้าระวังเรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยที่จำหน่ายในชุมชน โดยสำรวจการแสดงฉลากที่ไม่ถูกต้อง ตัวชี้วัดคือ มีพื้นที่ต้นแบบนำร่องในระดับตำบล เพื่อจัดการปัญหาการแสดงฉลากไม่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
- จังหวัดนครสวรรค์ มีแผนติดตามตรวจสอบการใช้ยาฆ่าแมลงในผัก 5 ชนิด โดยให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ตัวชี้วัดคือ มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงไม่เกินร้อยละ 20 ของผักที่ติดตามทดสอบ
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีแผนติดตาม การจำหน่ายยาอันตรายในร้านชำ มีเป้าหมายเพื่อให้ร้านชำในจังหวัดปลอดยาอันตราย โดยมีตัวชี้วัด ระยะแรก ร้านชำปลอดยาอันตรายร้อยละ 80 ภายในเวลา 6 เดือน และระยะต่อไป ร้านชำต้องปลอดยาอันตราย ร้อยละ 95 ของร้านชำทั้งหมด
- จังหวัดมหาสารคาม มีแผนติดตามเฝ้าระวัง ร้านชำขายยาผิดกฎหมายและ การใช้สารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลีนในเนื้อสัตว์ และการใช้สารเคมีทางเการเกษตร โดยกำหนดตัวชี้วัดคือ ร้อยละ 80 ของร้านชำไม่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย และมีระดับความสำเร็จในการจัดการปัญหาที่พบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
- จังหวัดยโสธร มีแผนเฝ้าระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัว และติดตามเรื่องการใช้ยาอันตรายกลุ่มสเตียรอยด์กับผู้สูงอายุ มีตัวชี้วัดคือ มีระบบฐานข้อมูลการจำหน่ายเนื้อวัวปลอดสารเร่งเนื้อแดง และมีการจัดการการขายยายาอันตรายผสมสเตียรอยด์ ในชุมชนนำร่อง 3 ตำบล
- จังหวัดร้อยเอ็ด ติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยในร้านชำชุมชน การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และปัญหาอาการสุขภาพไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีตัวชี้วัดคือ หนึ่งอำเภอ หนึ่งตำบล หนึ่งร้านชำสีขาว การไม่พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในพื้นที่ และมีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ