แค่เริ่ม! ก็ร้าวแล้ว ผลกระทบเพื่อนบ้านตึกสูง ที่ชุมชนไม่อยากได้

“กรุงเทพมหานคร” เมืองที่ครบครันทั้งย่านธุรกิจ การค้า การลงทุน วัฒนธรรม อาหารและสังคมเมือง รวมถึงวิถีชุมชนเอกลักษณ์ไทยที่เสริมเสน่ห์ดึงดูดนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวและคนต่างชาติต้องการเข้ามาอยู่ในมหานครแห่งนี้ และยังติดอันดับ 9 เมืองน่าอยู่อาศัย และน่าทำงานของโลกตามผลการสำรวจของสื่อชุมชนออนไลน์ InterNations เมื่อปลายปี 2566 ในขณะเดียวกันคนกรุงรุ่นใหม่และคนต่างจังหวัดที่เห็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวก็มุ่งความต้องการที่อยู่อาศัยกลางกรุงเทพ ทำให้ที่ดินกลางกรุงถีบตัวสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัวในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินในย่านธุรกิจและที่ดินสองข้างทางรถไฟฟ้าที่ทำให้การเดินทางในกรุงก้าวข้ามการจราจรที่คับคั่ง ด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ที่มีจำกัดนี้เอง ที่ทำให้กรุงเทพมหานครวันนี้เต็มไปด้วยอาคารขนาดใหญ่และตึกสูงมากมายไม่น้อยหน้ามหานครใหญ่ระดับโลกอื่น

การก่อสร้างตึกสูงระฟ้าในเขตเมืองย่านใจกลางกรุงจึงขยับรุกคืบเข้าไปในซอยเล็กซอยน้อยที่กระจายอยู่เป็นเส้นเลือดฝอยในกรุงเทพ แต่อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาที่ดินด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการก่อสร้างอาคารสูงบนพื้นที่เล็กๆ เหล่านั้นกลับสร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีทั้งตลาด วัด โรงเรียน และบ้านพักอาศัยที่อยู่สืบทอดกันมาแบบรุ่นต่อรุ่นตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมแบบครอบครัวใหญ่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

เมื่ออาคารที่อยู่อาศัยรุกคืบที่เข้าถึงซอยบ้านและลานวัดหลายชุมชนแม้ไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่พบว่าการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในซอยต่างๆ มักจะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีข้อกำหนดเรื่องขนาดของตึกในซอยแคบ การกำหนดให้มีการรับฟังเสียงของชุมชน และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ที่จะต้องวิเคราะห์โดยรอบโครงการ ทั้งผลกระทบต่อสภาพ ดิน น้ำ อากาศ เสียง ผู้คน ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงามที่ต้องทำอย่างโปร่งใสและเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งละเมิดขั้นตอนตามกฏหมายเหล่านี้ จะส่งผลกระทบจะตกสู่ประชาชนทั้ง สุขภาพ ความปลอดภัยของคุณภาพชาวชุมชนเก่าแก่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปรากฎการณ์การรวมตัวคัดค้านกับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ตึกสูงในซอยแคบขนาบชุมชนไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว หลายชุมชน หลายโครงการ ทั้งเขตพญาไท อโศก สุขุมวิท แต่การคัดค้านมักจะไม่เป็นผล หลายโครงการเดินหน้าก่อสร้างไปพร้อมกับการร้องเรียนและการฟ้องร้อง บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สุดท้ายก็สร้างความเสียหายให้ทั้งผู้ประกอบการ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินสั่งให้รื้อหรือแก้ไขตึกที่ก่อสร้างอย่างผิดกฏหมายเช่นที่เกิดขึ้นกับอาคารเอทัส ซอยร่วมฤดี และต่อมา มีคำพิพากษาถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง แอชตัน อโศก ที่สร้างความเสียหายที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ แต่ยังเห็นได้ชัดว่า การลงโทษไม่สามารถหยุดยั้งการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบที่ส่อว่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย และละเมิดสิทธิชาวชุมชนดั้งเดิมและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม ฝุ่นละอองฟุ้งเต็มบ้าน

ทวิวัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ หนึ่งในผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมและได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยประดิพัทธ์ 23 สูง 8 ชั้น 219 ยูนิต ระบุว่าเคยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอให้ยกเลิกการก่อสร้างเพราะอาจกระทำผิดกฎหมายที่กำหนดความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 6 เมตร หากจะก่อสร้างอาคารที่มีขนาดความสูง 8 ชั้น จากสภาพถนนซอยที่เล็กและแคบแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเดินหน้าโครงการได้ ทวิวัฒน์ ระบุว่า เพียงแค่เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึงวันนี้ ชาวชุมชนเพื่อนบ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนในการตอกเสาเข็มอาคารที่มีขนาดใหญ่ ทั้งอาคารที่พักใกล้เคียงเริ่มเกิดรอยร้าว โครงสร้างสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งเริ่มบิด ประตูหน้าต่างเริ่มปิดเปิดไม่สนิทเหมือนเดิม เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงดินเริ่มทรุดตัว จากการตอกเสาเข็ม ขุดเปิดหน้าดิน

ขณะที่ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทำให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน บ้านที่พักอาศัยก็ต้องปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง จากการที่บริษัทก่อสร้างไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเสียง และฝุ่นที่เป็นมาตรฐานตามที่ระบุไว้ใน EIA มาปิดกั้นเขตก่อสร้าง ทำให้บ้านที่พักและชุมชนเต็มไปด้วยฝุ่น ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเปิดใช้เครื่องฟอกอากาศช่วย และหลายครั้งไม่สามารถนั่งทำงานในบ้านได้เหมือนเก่า ทุกวันนี้ต้องล้างตา ล้างจมูกเป็นประจำ และเกิดอาการคันที่ผิวหนังในบางครั้ง รวมถึงการเกิดมลภาวะทางเสียงที่ดังรบกวนผู้อยู่อาศัยที่ในช่วงกลางวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและต้องการการพักผ่อน

เช่นเดียวกับผู้เสียหายอีกหนึ่งรายร่วมแสดงความคิดเห็น ย้ำถึงความเดือดร้อนจากปัญหาก่อสร้างอาคารสูงในซอยประดิพัทธ์ 23 ว่ายังกังวลกับการการก่อสร้างอาคารสูง นอกจากปัญหาเสียงแล้วมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 จากการก่อสร้างอาคารสูงจะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป จากกระแสลมที่เคยพัดผ่านและแสงแดดส่องตลอดทั้งวัน กลับกลายเป็นว่าอาคารสูงบดบังแสงรวมทั้งทิศทางลมและแสงสะท้อนจากตัวอาคารตึกสูงยังมีผลทำให้บ้านเรือนชุมชนดั่งเดิมมีอุณหภูมิสูงขึ้นร้อนขึ้น ความสุขที่เคยได้ออกมาเดินเล่น รับลมและแสงแดดอ่อนยามเช้าก็น้อยลง เสื้อผ้าที่เคยซักตากผึ่งแดดผึ่งลมก็ทำไม่ได้ ไม่มีแดดสาดส่องเข้ามาได้ ซึ่งในทุกปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ระยะยาวอาจทำให้ ผู้สูงอายุและผู้อยู่ในชุมชนตกอยู่ในภาวะสะสมเป็นความเครียด มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตในที่สุด

อุปสรรคดับเพลิง ซ้ำเติมปัญหาจราจร ต้องเพิ่มความปลอดภัยให้ชุมชน

ขณะที่นักดับเพลิงอย่าง จักรกฤษ คงคำ ยอมรับว่า อุปสรรคสำคัญในการเข้าดับเพลิงในชุมชน คือ ความคับแคบของซอยที่ไม่สามารถนำรถดับเพลิงขนาดใหญ่เข้าไปได้ ต้องปรับแผนใช้รถเล็กและรถมอเตอร์ไซค์และเครื่องสูบน้ำดับเพลิงหูหิ้วเข้าแทน ยิ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่แออัด มีตรอก ซอก ซอย มีการต่อเติมเพิ่มเติม และอาคารสูงอยู่ภายใน ยิ่งจำเป็นต้องมีแผนในการปฏิบัติงาน มีวางแผนอพยพประชาชนในอาคารสูงและในชุมชนอย่างปลอดภัย

ชาวชุมชนในซอยประดิพัทธ์ 23 บอกว่าถนนในซอยแคบถึงแคบมาก หน้าซอยเป็นตลาดสด ในซอยมีทั้งชุมชน อพาร์ตเมนต์ผู้คนพักอาศัยจำนวนมาก ท้ายซอยมีชุมชนดั้งเดิมมีวัด และโรงเรียน ถนนภายในซอยกว้างไม่ถึง 6 เมตร ตลอดสาย นอกจากนี้ยังมีรถสัญจรกเข้าออกอยู่ตลอดโดยต้องหลบเลี่ยงกัน หากอนาคตมีคนเข้าอาศัยในซอยเพิ่มขึ้นปัญหาจราจรที่เคยติดหนักก็จะยิ่งติดหนักเพิ่มขึ้น นำไปสู่คำถามว่าจะหาทางสร้างความปลอดภัยให้ชุมชนดั้งเดิมนี้อย่างไร เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในซอยที่รถดับเพลิง รถพยาบาล เข้าออกลำบากหรือไม่สามารถเข้าได้ การช่วยเหลืออพยพคนในชุมชนจะทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และต้องมีการแก้ไขเป็นรูปธรรม

ปิ่นปัก อัชกุล ผู้อยู่อาศัยในซอยพหลโยธิน 37 ที่มีการก่อสร้างตึกสูง 230 ยูนิต บนเนื้อที่เพียง 1 ไร่ครึ่ง ระบุว่าเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างอาคารสูง เนื่องจากการจราจรให้ซอยดังกล่าวค่อนข้างหนาแน่น และในชั่วโมงเร่งด่วนจะยิ่งติดขัดมากขึ้น เพราะชุมชนที่อาศัยอยู่ในซอยนี้ มีทั้งโรงเรียนและบ้านพักอาศัย นักเรียน คนแก่ ผู้ปกครองทางเดินในซอยก็ยากลำบากต้องคอยเดินหลบหลีกรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ อีกทั้งถนนก็ยังมีสิ่งกีดขวาง ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้า กระบะต้นไม้ ที่ก็ต้องหลบเลี่ยงอยู่แล้วหากเพิ่มปริมาณอีก 230 ครอบครัว อาจประสบกับปัญหาที่จอดรถกีดขวางการจราจรหนักขึ้นไปอีก

ปิ่นปัก ยังสะท้อนถึงปัญหาที่เป็นผลพวงจากผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูงว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิวิถีชีวิตชาวชุมชนเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ชุมชนบ้านเดี่ยวก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด นับเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่ควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสิทธิจะพักอาศัยอยู่ภายในบ้านของตัวเองอย่างมีความสุข ตามสิทธิผู้บริโภคสากลได้รับรองว่าเราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Rights to Healthy Environment) อย่างเท่าเทียมกัน

ความเดือดร้อนที่ไร้คนรับผิดชอบ

ผู้อยู่อาศัยในชุมชนประดิพัทธ์อีกรายหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนเล่าว่า การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่เพิ่งเริ่มลงมือก่อสร้างทำให้บ้านสั่นผนังแตกร้าว และส่งผลให้ตนรู้สึกเครียดจนนอนไม่หลับ แม้จะร้องเรียนไปยังเจ้าของโครงการก็ได้รับเพียงคำตอบว่าจะมาแก้ไขและสุดท้ายก็เงียบหายไป หรือมีเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่น ให้ช่างมาโป๊วผนังที่แตก มีรอยร้าว ให้ผ้าคลุมรถเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งของที่กระเด็นลงมา หรือนำเสาอากาศมาติดให้ในกรณีที่บางบ้านไม่สามารถรับสัญญาณจากจานดาวเทียมเพื่อดูโทรทัศน์ได้ เป็นต้น ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นลึกลงไปถึงระดับโครงสร้างของบ้าน จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแลแก้ไข และรับผิดชอบต่อชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากกว่าการตามแก้ปัญหาทีละจุดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ชาวชุมชนดั้งเดิมเก่าแก่ที่อยู่อย่างสุขสงบไม่ได้ปฏิเสธ “การพัฒนาเมือง” ที่สร้างทั้ง ”ความสุขและความเจริญ” ไปด้วยกัน แต่สิ่งก่อสร้างใหม่ไม่ควรทำลายชุมชนดั้งเดิมที่เป็นรากเหง้าสังคมไทย การสร้างตึกสูงในซอยแคบจะไม่เป็นปัญหา หากคำนึงถึงสังคมชุมชนส่วนรวมมากกว่าคำนวณเฉพาะผลกำไรขาดทุน และดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างการรับรู้ ร่วมรับฟังปัญหา ศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินธุรกิจ ตรงไปตรงมา เพราะนอกจากจะร่วมสร้างความเจริญแล้ว ยังร่วมสร้างสังคมให้น่าอยู่ควบคู่กันไประหว่างวิถีชีวิตใหม่ และวิถีสังคมไทยดั้งเดิมเสน่ห์ที่หาได้จากกรุงเทพมหานคร

ติดตามสกู๊ปวิดีโอได้ที่นี่ “แค่เริ่ม! ก็ร้าวแล้ว ผลกระทบเพื่อนบ้านตึกสูง ที่ชุมชนไม่อยากได้”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค