สภาผู้บริโภคเสนอยกเลิกกองทุนน้ำมัน

สภาผู้บริโภคเสนอยกเลิกกองทุนน้ำมัน

สภาผู้บริโภคเสนอยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชี้ดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร และกลายเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย นำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ได้เข้าร่วมการสัมมนารับฟังความเห็น “การประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562” จัดโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รสนา กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่งเท่ากับการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินการของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทั้งยังมีการดำเนินการที่สร้างภาระต่อประชาชนเกินสมควร กล่าวคือ กองทุนน้ำมันฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาผันผวนจนกระทบต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ แต่ในความเป็นจริงกองทุนน้ำมันฯ กลับกลายเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศของรัฐบาลทุกยุค ด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลที่มีราคาแพงจากการเก็บภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลและการผสมน้ำมันชีวภาพที่มีราคาแพง

รสนา อธิบายว่า น้ำมันชีวภาพที่ใช้ผสมในน้ำมันดีเซลนั้นมีราคาต่อลิตรแพงกว่าน้ำมันดีเซลพื้นฐานถึงร้อยละ 60 – 70 ต่อลิตร ส่วนเอทานอลที่ผสมในเบนซินมีราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซินพื้นฐานถึงร้อยละ 50 ต่อลิตร อย่างไรก็ตาม กำหนดเพดานราคาน้ำมันชีวภาพว่าควรมีเพดานราคาเท่าใด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนเพื่อการลดจำนวนเงินจากกองทุนน้ำมันที่ต้องนำไปอุดหนุน แต่กลับไม่เคยเห็นการดำเนินการดังกล่าวจาก สกนช. เลย

รสนา โตสิตระกูล

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 6 บาทเมื่อรวมภาษีทุกชนิดแล้วเกินลิตรละ 8 บาท โดยที่รัฐบาลไม่ยอมลดภาษีลง ทำให้น้ำมันดีเซลมีราคาสูงและต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยเพื่อตรึงให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท

รสนากล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินถูกปล่อยลอยตัวตามราคาตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนเอทานอลที่แพงกว่าเบนซินพื้นฐานกว่าร้อยละ 50 ต่อลิตร ทำให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นอยู่แล้ว การที่รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้เบนซินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อชดเชยราคาดีเซลที่แพงเพราะภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลและราคาน้ำมันชีวภาพ จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซิน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้เบนซินกลับไม่มีโอกาสได้ใช้เงินที่ตัวเองสะสมไว้ในกองทุนน้ำมันมาลดราคาช่วงที่ราคาตลาดโลกปรับขึ้นอีกด้วย จึงถือว่ากองทุนน้ำมันฯ เป็นการก่อภาระให้ประชาชนที่ใช้เบนซินเกินสมควร

“ปัญหาต่าง ๆ ด้านราคาพลังงานที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเกือบทั้งสิ้น แม้บางปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมาย แต่มีอีกหลายสิ่งต้องแก้ไขด้วยการกำหนดเป็นนโยบาย รัฐบาลสามารถกำหนดให้น้ำมันเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับภาคการผลิตและบริการ ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการเก็บภาษีในอัตราสูง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงเกินสมควรได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อปัญหาราคาน้ำมัน และยังสร้างภาระด้านราคาไว้บนบ่าของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ ก็อาจถูกมองว่าเป็นตัวการก่อวิกฤติที่สร้างปัญหาและความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน” รสนาระบุ


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานศึกษาการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการศึกษา โดยสรุปผลจากการศึกษาได้ดังนี้

(1) การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เนื่องจากมีการดำเนินงานในลักษณะการอุดหนุนราคา (Subsidy) มากกว่าการรักษาเสถียรภาพ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่มีลักษณะเป็นการอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง กองทุนน้ำมันจึงน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นกองทุนเพื่อรักษากำไรให้กับผู้ประกอบการ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีน้ำมันได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่การรักษาเสถียรภาพตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติในพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมัน

(2) แผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดทำโดย สกนช. ไม่เป็นไปตามสถานการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการตราพระราชกฤษฎีกาให้สามารถขยายกรอบวงเงินกู้ให้สามารถกู้เงินได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเพดานไว้ที่ 40,000 ล้านบาท แต่ไม่มีการกำหนดนิยาม “ภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง” ให้ชัดเจน ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลสามารถกำกับให้ไม่ถึง 30 บาทต่อลิตรได้ หากรัฐบาลมีการยืดหยุ่นลดการเก็บภาษีลง และยุติการเติมน้ำมันชีวภาพเมื่อราคาสูงเกินเพดานที่ควรมีการกำหนดไว้ แต่ สกนช. ก็ไม่มีการกำหนดไว้แต่อย่างใด

(3) การเก็บเงินจากกลุ่มผู้ใช้เบนซินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล ส่งผลให้กลไกราคาน้ำมันถูกบิดเบือน ไม่ได้เป็นไปตามกลไกราคาที่แท้จริง และเป็นการเพิ่มภาระที่เกินสมควรให้ประชาชนที่ใช้เบนซิน ทั้งนี้รัฐบาลสามารถใช้กลไกทางภาษีเพื่อควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต แต่ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตจะถูกลดลงได้ในกรณีเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การยกเลิกกองทุนน้ำมันจะลดภาระให้ผู้ใช้น้ำมัน และทำให้กรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

(4) พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันบัญญัติให้มีการวางแผนเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ที่ผ่านมา สกนช. ไม่เคยมีแผนปรับลดการสนับสนุนน้ำมันชีวภาพลง ทำให้แม้ในสภาวะที่ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพสูงกว่าราคาน้ำมันพื้นฐานมากเพียงใด กองทุนน้ำมันฯ ก็ยังคงต้องชดเชยต่อไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศสูงกว่าที่ควรเป็น

(5) พบปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้การดำเนินงานของกองทุนฯ ถูกแทรกแซงจากการเมืองได้ง่าย และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง