ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ทั่วโลกต้องประสบกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ก็ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ แพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องบริหารจัดการแก้ไขปัญหา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลใช้วิธีตรึงราคาน้ำมันด้วยการนำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่าไรนัก เพราะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 8,700 ล้านบาท แม้ว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค จะเคยมีข้อเสนอถึงรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน 2 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG ที่ผลิตในประเทศแต่ไปอิงราคาตลาดโลก ทั้งยังบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเสมือนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศ และ 2.ปรับลดภาษีน้ำมันให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน และราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้น (อ่านข่าวข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/37pabKQ)
สำหรับสาเหตุที่เสนอให้ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในประเทศไทยนั้นอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ และบวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศได้พอเพียง จนปัจจุบันถึงขั้นเหลือพอส่งออกด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องการปรับลดภาษีน้ำมันให้เป็นธรรมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน และราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราสูง แต่กลับไม่เห็นว่ารัฐบาลนำภาษีส่วนดังกล่าวไปอุดหนุนหรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่น ๆ แต่อย่างใด อีกทั้งในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาสูง รัฐบาลเลือกที่จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคา แทนที่จะลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่ม 2-3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และอาจกลายเป็นการกู้เงินต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น
ทั้งนี้ มาตรการปรับลดภาษีน้ำมันนั้นเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงเช่นกัน จากข้อมูลของ The Matter เรื่อง ‘สำรวจมาตรการ 4 ประเทศ เมื่อน้ำมันแพง รัฐบาลช่วยยังไงบ้าง?’ ระบุถึงมาตรการตรึงราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤตน้ำมันแพงของ 4 ประเทศ โดยการปรับลดภาษีน้ำมัน เป็นมาตรการที่ 2 ประเทศจาก 4 ประเทศใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยประเทศไอร์แลนด์ประกาศลดภาษีน้ำมันจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 และประเทศนิวซีแลนด์ประกาศลดค่าเดินทางสาธารณะ 50% รวมถึงลดภาษีน้ำมัน โดยจะใช้มาตรการดังกล่าวไปอีก 3 เดือน และพิจารณาสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง (อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3tcJmCc)