เจาะเบื้องลึกธุรกิจเงินด่วนชื่อดัง กับปัญหาที่ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ

สภาผู้บริโภค เจาะลึกเครือธุรกิจ “ศรีสวัสดิ์ เงินสด ทันใจ” ใช้แบรนด์เดียวแต่แบ่งงานให้บริษัทลูกหลายหน้า มีทั้งถูกกำกับและไม่อยู่ในกำกับของแบงก์ชาติ สร้างปัญหาการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกินกฎหมายกำหนด  เอาเปรียบผู้บริโภค

จากปัญหาภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และซ้ำเติมด้วยภาวะโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ล่าสุดจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร) ในไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่า หนี้ครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 13.683 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.7 หากเทียบกับปีก่อน สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังมีทิศทางเติบโตได้ต่อเนื่อง

ด้วยสภาพที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยจมอยู่ในภาวะหนี้สิน การเข้าไปขอกู้ยืมเงินกับธนาคารพาณิชย์ดูจะเป็นหนทางที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อประวัติทางการเงินไม่ดีก็ไม่มีธนาคารไหนให้กู้ ครั้นอยากจะเอารถยนต์ บ้าน ที่ดินไปจำนำกับโรงรับจำนำก็ไม่ได้เพราะกฎหมายโรงรับจำนำไม่อนุญาต ‘บริการสินเชื่อส่วนบุคคล’ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ผู้บริโภคหลายคนเลือกใช้ เพราะเป็นนิติบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง ทั้งยังดูปลอดภัยกว่าการไปกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าวมีหลายบริษัทที่คุ้นหูกันดี อาทิ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน), บริษัทสบาย สบาย ลีสซิ่ง จำกัด บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2565 ของ 3 บริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า มูลหนี้สินเชื่อหลักประกันโฉนดที่ดิน บ้าน และคอนโด ของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 16,026.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.90 ของธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ที่ปลอยสินเชื่อ ต่อมาคือ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) 13,253 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.99 และอันดับ 3 คือบริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) 182.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.5 นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ยังชี้ให้เห็นว่าสินเชื่อหลักประกันโฉนดที่ดิน บ้าน และคอนโดของทั้ง 3 บริษัทมูลค่าสูงถึง 29,461.64 ล้านบาท นั่นแปลว่าธุรกิจดังกล่าวเติบโตและสามารถทำกำไรได้มหาศาล

‘ศรีสวัสดิ์’ กับพฤติการณ์เอาเปรียบผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับมีเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประเภทดังกล่าว เพราะนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 – เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ประสบปัญหาจากการกู้ยืมเงินจากกลุ่มบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มากถึง 98 กรณี รวมมูลค่าความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับประมาณ 498 ล้านบาท โดยลักษณะปัญหาหรือข้อพิพาทที่พบ ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดพฤติการณ์การประกอบธุรกิจของ บริษัทกลุ่มศรีสวัสดิ์ จะพบการกระทำผิดในหลายลักษณะ ดังนี้

● ไม่ส่งมอบคู่สัญญาให้แก่ผู้กู้ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำสัญญาขึ้นสองฉบับซึ่งมีข้อความถูกต้องตรงกันโดย ผู้ให้กู้ส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคและเอกสารแนบท้ายสัญญาหนึ่งฉบับให้แก่ผู้กู้ทันทีที่ได้ลงนามในสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2522

● เสนอขายพ่วงประกันภัยหรือประกันชีวิตในระหว่างการขอสินเชื่อ หากไม่ทำประกันจะไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งการทำประกันไม่ควรถูกใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการให้สินเชื่อ เพราะผิดหลักการอิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย

● คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่อปีจะสูงถึงร้อยละ 24 ซึ่งเกินกฎหมายกำหนด โดยที่บริษัทที่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ บริษัทจึงต้องคิดอัตราดอก เบี้ยเงินกู้ได้เพียงร้อยละ 15 ต่อปีตาม หรือไม่เกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ตามมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์เท่านั้น หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตราสี่แห่ง พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560

● เก็บค่าธรรมเนียม ขณะที่มีการโฆษณาว่าไม่เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตาม มาตรา 10 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 บริษัทจึงต้องดำเนินการตามที่โฆษณาไว้ คือต้องไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม

● จำกัดการชำระและกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน หากไม่สามารถ ชำระหนี้จนครบ จะต้องทำสัญญาใหม่เรื่อย ๆ และเรียกเก็บค่าไถ่โฉนด อาจเข้าข่ายลักษณะเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ตามมาตราสี่แห่งพระราชบัญญัติข้อสัญญาไม่เป็นธรรมพ.ศ. 2540 ได้

ไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินให้เมื่อชำระเงินกู้ครบตามจำนวน โดยอ้างว่า ต้องจ่ายค่าไถ่ถอนก่อน จึงจะคืนให้ได้

ด้วยวิธีการและเงื่อนไขต่าง ๆ ของบริษัทฯ ทำให้ผู้บริโภคบางรายไม่สามารถส่งเงินคืนได้ครบตามจำนวนจึงถูกฟ้องร้อง ขณะที่ผู้บริโภคบางรายพบปัญหาส่งเงินครบตามสัญญาทุกประการแต่กลับถูกบริษัทในเครือศรีสวัสดิ์ฟ้องร้องว่ากระทำผิดสัญญาการกู้ยืมเงิน นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่พบความผิดปกติ กล่าวคือกู้ยืมเงินจากอีกบริษัทหนึ่ง แต่ถูกฟ้องร้องจากอีกบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในเครือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เหมือนกัน

ศรีสวัสดิ์ฟ้องผู้บริโภค

ความซับซ้อนของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank ซึ่งมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัท โดยดำเนินภายใต้เครื่องหมายบริการ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” มีการเปิดสาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดกว่า 5,500 สาขาทั่วประเทศ เป็นเหตุให้คนที่ไปขอกู้เงินเข้าใจว่ากำลังกู้เงินกับบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพียงเจ้าเดียว ทั้งที่จริงแล้วบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ป หรือกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ มีบริษัทลูกอีกหลายบริษัท โดยประกอบกิจการใน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่

1) สินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันประเภททะเบียนรถเก่าทุกประเภท บ้านและโฉนดที่ดิน  ประกอบด้วย บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด, บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด(มหาชน) , บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2022 จำกัด และบริษัท ศรีสวัสดิ์ ดิจิตอล จำกัด บริษัทเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ดังนั้นตามกฎหมายแล้วการทำสัญญากู้ยืมเงินกับตัวบริษัทเหล่านี้ จึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยเกินกฎหมายแพ่งพาณิชย์กำหนดที่ร้อยละ 15 ต่อปีหรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือนได้

2) สินเชื่อรายย่อยแบบไม่มีหลักประกันภายใต้การกำกับ ซึ่งมี บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ให้บริการ ซึ่งภายหลังบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน)

3) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หรือเรียกว่า “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” ได้แก่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พิโก้ นราธิวาส จำกัด บริษัท ศรีสวัสดิ์ พิโก้ ยะลา จำกัด และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พิโก้ ปัตตานี จำกัด

4) ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ ประกอบการโดยบริษัท เอส ลิสซิ่ง จำกัด และบริษัท คาเธ่ย์ ลิสซิ่ง จากัด เป็นบริษัทในเครือ

5) ธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้สิน โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอสดับบลิวพี จำกัด และบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด มุ่งเน้นการติดตามหนี้ที่มีหลักประกัน ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอสดับบลิวพี จำกัด จะรับติดตามหนี้ของสถาบันการเงิน ส่วนบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด จะรับติดตามหนี้ของกลุ่มบริษัทลิสซิ่งและบริษัทรถยนต์

นอกจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนระดับกลางและระดับล่างดังกล่าวแล้ว กลุ่มบริษัทศรีสวสัดิ์ยังมี ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต บริหารสินทรัพย์ บริการที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจสินเชื่อรวมอยู่ด้วย

การที่มีหน้าร้านและใช้แบรนด์ให้บริการเดียวกัน ไม่ได้มีโต๊ะ เคาน์เตอร์ตั้งบริการแยกเป็นบริษัทให้ผู้บริโภคได้รับทราบเห็นเด่นชัด จึงเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้เลยว่าผู้บริโภคจะรู้ว่าตนทำสัญญาอยู่กับบริษัทอะไร บริษัทนั้นอยู่ภายใต้กำกับของแบงก์ชาติที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ได้หรือไม่ เพราะทุกคนก็ล้วนเข้าใจว่ามาขอกู้เงินกับ ‘ศรีสวัสดิ์’ เท่านั้น นี่คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา อาศัยความสับสนและรู้ไม่เท่าทันของผู้บริโภคเป็นช่องทางในการเอาเปรียบ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมักใช้การร้องศาลฟ้องลูกหนี้ เพื่อฟอกสัญญา ทวงถามหนี้ โดยใช้อำนาจศาลสั่งให้ชำระเงิน หากลูกหนี้ไม่มาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี ศาลก็จะพิพากษาไปตามคำฟ้องของผู้ประกอบการ หรือบางรายอาจจะเข้าไปที่ศาลเพื่อหวังไกล่เกลี่ยประนีประนอมหนี้ โดยที่ผู้บริโภคบางรายอาจอยู่ในภาวะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้จริง สัญญาประนอมหนี้ดังกล่าวก็จะเป็นสัญญาหนี้ที่ผูกพันกันต่อไป

ผู้บริโภคจึงมักตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ และด้วยความรู้ในการต่อสู้คดีด้วยตนเองก็จะเป็นจุดอ่อน ทำให้ผู้บริโภคต้องแพ้คดี ซึ่งพฤติการณ์ลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมจากการฟ้องร้องคดีเป็นเครื่องมือฟอกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้มีความชอบธรรมขึ้น แล้วใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคให้ติดอยู่กับดักหนี้ไม่ให้หลุดพ้นออกจากวงจรการเป็นหนี้ไปได้

สภาผู้บริโภคเดินหน้าแก้ปัญหา ‘สัญญาไม่เป็นธรรม’

สภาผู้บริโภค ได้พยายามหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า การมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่มีการจดจำนอง เช่นเดียวกับการกำกับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันนั้น มีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ คือ การกำกับดูแลธุรกิจของกระทรวงการคลังจะพิจารณาจากมูลค่าทางการตลาด จำนวนผู้ใช้บริการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้างหรือไม่ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจกำกับดูแลธุรกิจให้สินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันโดยไม่จดจำนอง จะกำกับดูแลได้เฉพาะธุรกิจที่ขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าการควบคุม สัญญา หรือดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเกินกำหนดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งแต่ปี 2565 ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษบริษัทที่ทำสัญญาไม่เป็นธรรม และส่งมอบเอกสารคู่สัญญาให้แก่ผู้บริโภคซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และประกาศธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. 2565 ที่ผู้บริโภคต้องได้รับคู่สัญญา เพื่อทราบรายละเอียดการผ่อนชำระดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่าง ๆ ลดโอกาสกระทำผิดสัญญา แต่สภาผู้บริโภคยังไม่ได้รับความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ จาก สคบ. แม้ว่าจะมีหนังสือทวงถามถึง 5 ครั้งแล้วก็ตาม รวมถึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะกำกับดูแลบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ให้ดำเนินการพิจารณาจัดการกรณีที่พบว่ามีกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

และท้ายที่สุด สภาผู้บริโภคได้ตั้งโต๊ะประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำสัญญาและยกระดับแนวทางการปฏิบัติที่ดีของบริษัทเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ดังนี้

  1. ให้บริษัทส่งมอบคู่สัญญากู้ยืมเงินให้กับผู้บริโภคทันทีเมื่อลงนามในสัญญาตามประกาศของ สคบ. และหากเป็นลูกค้าโดยทั่วไปไม่ควรส่งมอบสัญญาเกิน 15-30 วัน
  2. ให้ติดป้ายแสดงข้อมูลทั้งในศูนย์ให้บริการสินเชื่อและช่องทางการสื่อสารอื่นๆ เพื่อแจ้งสิทธิของผู้ใช้บริการในการได้รับคู่สัญญา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบได้ว่าได้ทำสัญญากับบริษัทใด มีมูลหนี้เงินต้นเป็นเท่าไหร่ มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไร
  3. ประกาศประชาสัมพันธ์ทั้งที่ศูนย์บริการและช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ของบริษัท ให้ชัดแจ้งถึงอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ที่แต่ละบริการของแต่ละบริษัทในเครือที่จะเรียกเก็บกับผู้ใช้บริการ รวมถึงข้อระมัดระวังคำเตือนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ
  4. เมื่อผู้ใช้บริการขอสินเชื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายครบถ้วนแล้ว จะต้องคืนสมุดทะเบียนรถ หรือโฉนดที่ดินให้กับผู้ขอสินเชื่อโดยไม่ชักช้า
  5. ให้บริษัทให้ความร่วมมือกับสภาผู้บริโภคในการจัดพนักงานและช่องทางประสานงานเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนหรือความเดือดร้อนของผู้บริโภคโดยเร็ว

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภสองค์กรของผู้บริโภค