จับตา! คำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม ‘โคเรีย คิง’ โฆษณาเกินจริง 15 พ.ย.นี้ หลังยื่นฟ้องมานานกว่า 6 ปี ระบุหากผู้บริโภคชนะ จะสร้างบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นสามารถร้องทุกข์และเรียกร้องค่าเสียหายหากพบกรณีได้รับสินค้าที่ไม่เป็นไปตามโฆษณาได้
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดเผยถึงมหากาพย์คดีที่ผู้บริโภคกว่า 70 คน รวมตัวฟ้องร้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรีย คิง (Korea King) เป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) โดยเหตุผลที่ฟ้องร้อง คือ ‘กระทะไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่โฆษณา’ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจำหน่ายในราคาที่สูงเกินจริง การอ้างว่ากระทะลื่นไหลกว่าปกติ 300 เปอร์เซ็นต์และใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วยหินอ่อนเงิน หินอ่อนทอง พร้อมด้วยเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย ขณะที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาเปิดเผยผลการตรวจกระทะยี่ห้อนี้แล้วและพบว่ายังไม่มีหน่วยวัดหรือตรวจสอบได้เกี่ยวกับคำโฆษณาที่อ้างว่ากระทะลื่นไหลกว่าปกติ รวมถึงชั้นเคลือบของกระทะไม่ได้มี 8 ชั้นและยังไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะอีกด้วย นอกจากนี้การโฆษณาเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและหากมีการโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จถือว่าผิดสัญญาเช่นเดียวกัน
เมื่อพบปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคหลายรายจึงเรียกร้องให้ สคบ. หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบ จากนั้น สคบ. ได้ออกมาเปิดเผยผลการทดสอบและ สคบ. จึงสั่งระงับโฆษณากระทะยี่ห้อดังกล่าวและสั่งปรับบริษัทฯ ด้วย ขณะที่ผู้บริโภคนั้นไม่ได้รับการดูแลและไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด ผู้บริโภคจึงได้เข้าไปขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 มพบ. ได้นัดเจรจากับตัวแทนของบริษัทฯ กระทะร่วมกันกับผู้บริโภค แต่ไม่สำเร็จ
ดังนั้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 มพบ.ประกาศเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการฟ้องร้องทางแพ่งเป็นคดีแบบกลุ่มและเรียกค่าเสียหายรวม 1,650 ล้านบาท โดย มพบ. มองว่าความเสียหายดังกล่าวมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นการฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในวงกว้างและได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด และยังมีความสะดวก มีความเป็นธรรมกว่าการดำเนินคดีแบบสามัญทั่วไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และต่อมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มเช่นเดียวกัน โดยจำกัดขอบเขตของกลุ่มเฉพาะรุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ซื้อก่อนวันที่ 17 พฤษภาคม 2560
โสภณ เปิดเผยอีกว่า ระหว่างที่รอคำพิพากษาของการฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่มในคดีโคเรีย คิง โฆษณาเกินจริงนั้น บริษัทฯ กลับแจ้งความดำเนินคดีกับนางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะยี่ห้อโคเรีย คิง ข้อหาเบิกความเท็จ เพื่อปิดปาก (SLAPP Law) และทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัว โดยบริษัทฯ ระบุว่านางกัลยทรรศน์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายในการซื้อกระทะโคเรียคิง จึงไม่มีสิทธิ์ในการฟ้องร้อง แต่เมื่อ 14 กันยายน 2566 ศาลอาญา (รัชดา) ได้พิพากษายกฟ้องผู้บริโภครายนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่านางกัลยทรรศน์ก็ยังเป็นสมาชิกกลุ่ม มีสิทธิ์ฟ้องและร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งการเบิกความของผู้บริโภคไม่ใช่ประเด็นแพ้ชนะในคดี รวมทั้งยังเป็นการเบิกความตามข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือด้านทนายความในการต่อสู้คดี เนื่องจากเป็นกรณีการถูกฟ้องจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค
“คดีดังกล่าวนับว่าเป็นคดีแบบกลุ่มที่มีกระบวนการยาวนานกว่าคดีแบบกลุ่มคดีอื่น ๆ หรือใช้เวลารอคำพิพากษากว่า 6 ปีที่ผู้บริโภคเข้ามาฟ้องร้องและพึ่งพิงศาล บางรายถอดใจ เพราะอาจมองว่ากระบวนการมีระยะเวลาที่ยาวนาน เกิดคำถามว่าคุ้มค่าและเป็นธรรมหรือไม่กับการรอคอย ขณะที่บางรายถูกผู้ประกอบการฟ้องกลับ” โสภณ ระบุ
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้สืบพยานเรียบร้อยแล้ว และในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ศาลได้นัดตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิงและทนายความที่รับผิดชอบคดี ฟังคำพิพากษาที่ศาลแพ่งรัชดา เวลา
09.00 น. เป็นต้นไป จึงขอฝากให้ผู้บริโภคทุกคนติดตามคำพิพากษาของศาลว่าจะมีคำตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ มองว่าสุดท้ายหากคำพิพากษาออกมาให้ผู้บริโภคชนะ คดีการโฆษณาสินค้าที่เกินจริงนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นและผู้ประกอบการได้เห็นว่าในอนาคตหากผู้บริโภคพบความเสียหายจากการซื้อสินค้ามาแล้วแต่คุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องทุกข์และเรียกร้องค่าเสียหายได้ ส่วนผู้ประกอบการจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น รวมทั้งต้องชดเชยหรือเยียวยาให้ผู้บริโภคอย่างเหมาะสมด้วย นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลควรต้องพิจารณาและกำกับดูแลการโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากการโฆษณา
โดยผู้บริโภคสามารถติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของคำพิพากษาของคดีดังกล่าวได้ในช่องทางของสภาผู้บริโภคและช่องทางของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค