หลังจากควบรวมกิจการโทรคมนาคมของค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค ผู้บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตช้าลง เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซ้ำร้ายบริษัทที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมยังไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข 20 ข้อของ กสทช. ในขณะที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. เตรียมตรวจสอบปัญหาลดเสาสัญญาณลง โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคสะท้อนปัญหา หลังควบรวมผู้บริโภคจ่ายค่าโทรศัพท์แพงขึ้น 100 บาท
จากกรณีที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงปัญหาความเร็วของอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือที่ช้าลงและมีความหน่วง รวมถึงสัญญาณติดขัด จนส่งผลกระทบต่อปัญหาการใช้งานนั้น
วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอุนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ข้อมูลว่า จากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมก่อนที่สอง บริษัท ทรู มูฟ เอช คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN ควบรวมกันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัททั้งสองมีเรื่องร้องเรียนรวมกันประมาณ 570 เรื่อง แต่ในช่วง 4 เดือนหลังการควบรวม เดือนระหว่างสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน บริษัทใหม่ที่เกิดหลังควบรวม มีเรื่องร้องเรียน 659 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าประมาณ 2 เท่า
ซึ่งปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ดีกับค่าบริการ เช่น บางรายร้องเรียนว่าได้ซื้อโปรชันประมาณ 200 บาทหรือ 290 บาทได้สัญญาณอินเทอร์เน็ตประมาณ 10 กิกะไบต์ แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่าโปรโมชันหมดแล้ว ต้องจ่ายเพิ่มเป็นราคา 300 บาทหรือ 400 บาท และขยับเรตให้เป็น 20 กิกะไบต์ทั้งที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 10 กิกะไบต์ แต่บริษัทชี้แจงว่าโปรโมชันเดิมไม่มีแล้ว ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกจึงจำเป็นต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ได้รับร้องเรียนมาโดยตลอด เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยผู้บริโภคได้สมัครใช้บริการ 5G ที่จังหวัดสุพรรณบุรีและส่งพิกัดบ้านไปถามศูนย์บริการของค่ายมือถือว่ามีสัญญาณ 5G หรือไม่ ทางศูนย์บริการตอบว่ามีสัญญาณทำให้ผู้ใช้บริการก็เลยตัดสินใจสมัครและซื้อโทรศัพท์มือถือราคาประมาณ 30,000 – 40,000 บาทเพื่อใช้สัญญาณ 5G แต่เมื่อทดลองใช้งานจริงกลับไม่สามารถใช้บริการได้ เป็นต้น
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าหลังการควบรวมบริษัทมีการลดจำนวนเสาสัญญาณลงหรือไม่นั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ต้องรอตรวจสอบปริมาณเสาสัญญาณ ปริมาณการลงทุนว่าจะขยายตามแผนหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยปัจจุบันมีข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ระบุว่าสองบริษัทลดจำนวนเสาสัญญาณลงเพื่อบริหารต้นทุนไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและประหยัดต้นทุน
ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมพิกัดของเสาของทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ต้นเดียวกัน เพราะเป็นคนละบริษัท ดังนั้น การลดจำนวนเสาสัญญาณจะส่งผลให้พื้นที่บริการเดิมหายไปบางส่วน และทำให้ผู้บริโภคในบางพื้นที่อาจพบเจอปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ซึ่ง กสทช.จะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้
สำหรับการตรวจสอบคุณภาพและความครอบคลุมของสัญญาณ ซึ่งกสทช.กำหนดเงื่อนไขก่อนควบรวมกิจการ 20 ข้อ รวมถึงห้ามลดจำนวนเสาสัญญาณลงภายใน 3 ปีนั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้กำหนดให้ให้บริษัทค่ายมือรายงานการดำเนินการเข้ามาให้ กสทช. พิจารณาแต่พบว่าบริษัทค่ายมือถือรายงานข้อมูลเพียง 5 ข้อ ส่วนอีก 15 ข้อยังไม่มีรายงานการดำเนินการ
“เงื่อนไขหนึ่งของการควบรวมธุรกิจ คือ ควบรวมแล้วราคาเฉลี่ยต้องลดลงร้อยละ 12 แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าค่าบริการแพงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่บริษัทต้องทำคือรายงานเปรียบเทียบราคาก่อนควบรวม และหลังการควบรวม 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งรายงานเข้ามาแล้วแต่ขอแก้ไขข้อมูลเรื่องโปรมชันเพิ่มเติม รวมถึงการมีโปรโมชันลับ จน กสทช. ไม่สามารถคำนวณได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้จึงมีมติว่ารับทราบแต่ไม่ยืนยันว่ามีการลดลงร้อยละ 12 จริงหรือไม่” ประธานอุนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ระบุ
นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการควบรวมธุรกิจได้จัดทำรายงาน 6 เดือน เรื่องปัญหาการควบคุมตั้งแต่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยขณะนี้ทราบว่ารายงานฉบับดังกล่าวทำเสร็จเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการกสทช.พิจารณา จึงอยากให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ได้สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พบว่า บริษัทใหม่ที่เกิดหลังการควบรวมได้เปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาทต่อเดือน สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตช้าลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แอปพลิเคชันไลน์ส่งข้อความและข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติด ๆ ดับ ๆ เป็นต้น