สภาผู้บริโภค เสนอแนวทางจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ย้ำต้องปรับข้อมูลให้เข้าใจง่าย ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค เข้าประชุมร่วมกับ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอแนวทางจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ให้ประชาชนมากสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
สารี แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า ก่อนการเปิดรับฟังความคิดเห็น สำนักการวางผังเมืองฯ ควรให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างครบถ้วนและชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าใจ ตั้งคำถาม และการนำเสนอแลกเปลี่ยนได้ โดยสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบคือ ผังเมืองฉบับใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มีผลดีและผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร รวมถึงแนวทางการเยียวยาที่ชัดเจน
“หากทำข้อมูลให้เข้าใจง่ายและชัดเจน ในเชิงการรับฟังความคิดเห็นจะทำให้คนที่เข้าร่วมเห็นภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผังเมืองนี้ เห็นคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้เขาอยากมีส่วนร่วมและมาร่วมให้ความคิดเห็นกับ กทม.” สารีระบุ
สารี กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคจะติดตามการเปิดรับฟังความเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครต่อไป ว่าทางสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จะมีการปรับปรุงตามข้อเสนอที่ได้จากสภาผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคและความเห็นที่ได้จากการรับฟังประชาชนที่มีการจัดประชุมไปแล้วหรือไม่
ด้าน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า เนื่องจากการรับฟังความเห็นครั้งถัดไป มีการกำหนดวันประชุมใน วันที่ 23 – 24 ธันวาคม 66 และ 6 มกราคม 67 ซึ่งใกล้ช่วงหยุดยาว และมีโอกาสที่ประชาชนบางส่วนอาจเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด จึงขอให้มีช่องทางการรับฟังความเห็นที่หลากหลายเพื่อรองรับประชาชนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ณ เวลาที่จัดรับฟังความเห็น นอกจากนี้ สำหรับเนื้อหาที่นำไปชี้แจงต่อประชาชนควรเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย ไม่วิชาการจนเกินไป เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมเห็นถึงผลดีและผลกระทบ และสามารถให้ความเห็นได้
ในทำนองเดียวกัน ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ปรับปรุงเรื่องการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากที่ผ่านถือเป็น “การประชาสัมพันธ์ล้มเหลว” เพราะมีเพียงการรับฟังความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งอาจมีประชาชนบางส่วนที่เข้าไม่ถึงการรับฟังความเห็นดังกล่าวและไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้เลย ส่วนประเด็นเรื่องการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้น ต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาและขั้นตอนการรับฟังความเห็นด้วยเช่นกัน
“กระบวนการรับฟังความเห็นควรเริ่มจากการลงพื้นที่ซักถาม รับฟังปัญหาจากผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เพื่อนำไปร่างเป็นผังเมืองใหม่ ไม่ใช่การร่างแล้วมาเล่าให้ฟัง และเกณฑ์คนมารับฟัง โดยไม่รู้ว่าคนที่มารับฟังเข้าใจในเนื้อหาหรือไม่” ก้องศักดิ์ระบุ
ขณะที่ วีระพันธ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ด้านนโยบายและวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานการจัดทำผังเมืองรวมปรับปรุงที่ 4 นั้น ขอให้ กทม. ทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้จัดเก็บไว้เดิมให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2580 เนื่องจากวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้จัดทำไว้ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยอ้างอิงตัวเลข สถิติประชากรต่าง ๆ ซึ่งตัวเลขเหล่านั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงขอให้ไปทบทวนเอกสารที่เคยให้ไว้ เรื่องผังเมืองรวม กทม.เพื่อคุณภาพของชีวิตประชาชน
ฐาปนีย์ สุขสำราญ ผู้แทน สส. กทม. เขต 11 จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในกรณีที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างที่ก่อผลกระทบในวงกว้าง เช่น การตั้งโรงขยะหรือโรงงานที่อาจเป็นอันตราย ควรมีการสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่อยู่อาศัยหรือชุมชนอื่น ๆ โดยรอบ ไม่ใช่เฉพาะชุมชนที่เป็นจุดตั้งเท่านั้น เนื่องจากบางชุมชนอาจไม่ทราบถึงแผนการปรับเปลี่ยนผังเมือง และไม่มีโอกาสที่จะสะท้อนปัญหาหรือแสดงความคิดเห็น แต่กลับเป็นผู้ที่ต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างทั่วถึง
ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ชี้แจงว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กำลังจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 66 และ 6 มกราคม 67 มีการแบ่งทำรายละเอียดของแต่ละกลุ่มเขต มี 6 กลุ่มเขตของกรุงเทพฯ ได้แก่ กลุ่มกรุงเทพกลาง กลุ่มกรุงเทพใต้ กลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก กลุ่มกรุงธนเหนือ และกลุ่มกรุงธนใต้ โดยข้อมูลจะแยกเป็นเฉพาะกลุ่มเขต เนื่องจากละเขตจะมีการเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบที่ต่างกัน และจะเริ่มติดประกาศหน้าเว็บไซต์ วันที่ 8 – 22 ธันวาคม 66 ซึ่งในประกาศจะมีลิงก์ให้สามารถเข้าไปดูข้อมูลของแต่ละพื้นที่โดยจะมีข้อมูลแสดงรายละเอียดเปรียบเทียบผังเมืองเดิมและใหม่ มีการเปรียบเทียบเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ ช่องทางสื่อออนไลน์ และแจกแผ่นพับ ใบปลิว ตามสถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ หรือศูนย์การค้าตามชุมชน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกช่องทาง ทั้งนี้ อาจจะขอความร่วมมือจากสภาผู้บริโภคช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อีกช่องทาง
ชูขวัญ กล่าวอีกว่า ยินดีรับข้อเสนอแนะทั้งหมดเพื่อปรับปรุงการจัดทำผังเมืองในส่วนที่ดำเนินการได้ และจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ สำนักการวางผังเมืองจะจัดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนการประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชนที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมอีกครั้ง
ด้าน รศ. ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า ด้านข้อมูลที่จะให้ประชาชนรับฟังนั้น จะมีการปรับให้เนื้อหาให้เข้าใจง่ายเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการสื่อสารโดยใช้แผนผังที่เข้าใจยาก แต่จะสื่อสารด้วยภาพและข้อความที่เข้าใจง่าย ให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้