
สภาผู้บริโภค ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กับ รร.ถาวรวิทยา จ.กาญจนบุรี และหารือร่วมกับ อบจ. กาญจนบุรี มุ่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองกาญจน์ฯ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ สนับสนุนงานขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งสาธารณะในจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี

บุญยืน ศิริธรรมประธานสภาผู้บริโภค สุนทร สุริโย หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี และคณะทำงานขับเคลื่อนแผนงานร่วมทุนฯ ได้เข้าร่วมประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โรงเรียนถาวรวิทยา จังหวัดกาญจนบุรี นำโดย ผอ.จรรญา พลายเพ็ชรผู้อำนวยการโรงเรียนถาวรวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยใช้ 9 องค์ประกอบคือ 1. มีระบบข้อมูลนักเรียน รถ คนขับ เส้นทาง พฤติกรรมคนขับ 2. ระบบเฝ้าระวัง ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยรายงานปัญหาได้ 3. มีระบบการดูแลนักเรียนในรถที่ถูกต้อง ทั่วถึง
4. มีการรวมกลุ่มคนขับ สร้างข้อปฏิบัติหรือวางแผนร่วมกันในการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัย 5. ต้องมีมาตรฐาน มีขั้นตอนตรวจสอบสภาพรถ และขึ้นทะเบียนกับขนส่ง 6. มีจุดจอดรถที่ปลอดภัย และระบบความปลอดภัยหน้าโรงเรียน 7. มีระบบคณะทำงาน และหลักเกณฑ์เพื่อติดตามประเมินผลทั้งระบบ 8. มีกลไกจัดการโดย ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง 9. มีคณะทำงานระดับอำเภอหรือจังหวัด
นอกจากนี้ในช่วงบ่าย คณะทำงานขับเคลื่อนแผนงานร่วมทุนฯ ได้เข้าพบ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อปรึกษาหารือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดกาญจนบุรี
นพ.ประวัติ กล่าวว่า อบจ.กาญจนบุรี มีนโยบายการจัดระบบบริการขนส่งสาธารณะด้วยรถรถโดยสารสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV-Bus) และตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นบริการแบบ City Bus พัฒนาจุดจอดอัจฉริยะ มีจุดจอดรับที่ถี่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการขนส่งมวลชน เดินไม่ไกล รอไม่นาน

“ความคาดหวังของผม คือ ประชาชนเดินออกจากบ้าน 200 เมตร ต้องได้ขึ้นรถ ซึ่งจะมีการเปิดเส้นทางใหม่ ตลาดท่าม่วง ถึงตลาดลาดหญ้า ระยะทางรวม 30 กิโลเมตร โดยมีจุดจอดรถตลอดสองฝั่งรวม 112 ป้าย ค่าบริการไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย” นายก อบจ.กาญจนบุรี ระบุ
นพ.ประวัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผ่านกระบวนการเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมขนส่งจังหวัด และอยู่ระหว่างรอประกาศราชกิจจานุเบกษา หากประกาศแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเสนอขอจัดบริการ โดย อบจ.จะทำหน้าที่กำกับในฐานะเจ้าของสัมปทานใบอนุญาตนี้
สิ่งที่ อบจ.ต้องการสนับสนุน คือ ข้อมูลวิชาการที่จะมารับรองการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี จะดำเนินการประสานความร่วมมือกับ อบจ. ต่อไป ทั้งนี้ อบจ. จะเปิดให้ทดลองวิ่ง EV-Bus ในวันที่ 15 มกราคม 2568 จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคในพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมทดลองการให้บริการด้วย