เปิดแผนลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม สะเทือนถึงรากหญ้า

การปรับราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี (LPG : Liquefied Petroleum Gas) ขึ้นอีก 1 บาท/กิโลกรัม (กก.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ส่งผลให้ก๊าซหุงต้มประเภทถังขนาด 15 กิโลกรัม จะปรับราคาขึ้นอีกถังละ 15 บาท ไปอยู่ที่ 408 บาท/ถัง จาก 393 บาท/ถัง

การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในลักษณะเดือนละ 1 บาท/กิโลกรัมนี้ นับเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งที่ 6 จากเดิมที่รัฐบาลเคยตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท/ถัง นับตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2565

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในภาวะการณ์ของการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มอย่างเต็มกำลังของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากแขวนเรื่องนี้ไว้ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา

ราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม 1 ถัง เราต้องจ่ายอะไรบ้าง

ก่อนจะไปถึงแผนลอยตัวราคาของรัฐบาล ต้องอธิบายก่อนว่าราคาก๊าซหุงต้ม 1 ถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ที่เราใช้กันในครัวเรือนนั้น ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายหลาย ๆ ส่วน ดังนี้

  1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ต้นทาง (โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและอะโรเมติก และนำเข้า)
  2. ค่าการตลาด
  3. ภาษีสรรพสามิต
  4. ภาษีเทศบาล
  5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

โดยราคาก๊าซธรรมชาติที่ต้นทางเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด คือประมาณร้อยละ 70 ของราคาที่เราต้องจ่าย ดังนั้น หากก๊าซธรรมชาติที่ต้นทางปรับราคาขึ้น ก็จะส่งผลให้ก๊าซหุงต้มแบบถังที่เราใช้ในครัวเรือนมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ราคาที่แท้จริง เนื่องจากมีการนำเงินภาษีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนประมาณร้อยละ 20 ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ราคาถังละ 408 บาท โดยราคาที่แท้จริงอยู่ที่ 509* บาท และใช้ภาษีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน 101 บาท

*ตัวเลขประมาณการจากข้อมูลโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 2 กันยายน 2565 | เว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน

นโยบายเปิดเสรีแอลพีจี ฉากบังของการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีนโยบายควบคุมราคาก๊าซธรรมชาติที่ต้นทาง ทั้งจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติจาก โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและอะโรเมติก และจากการนำเข้า โดยกำหนดให้ราคาอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม จนกระทั่งเมื่อปี 2560 รัฐบาลได้มีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจี โดยอ้างว่าการเปิดเสรีทั้งระบบ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาดธุรกิจแอลพีจีและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการหยิบยกวิกฤตสงครามรัสเซีย – ยูเครน และความผันผวนของราคาแอลพีจีในตลาดโลก ขึ้นมาเป็นสาเหตุที่ดูเหมือนเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในประเทศ และเพื่อปิดบังความต้องการให้มีการลอยตัวราคาแอลพีจีของกลุ่มทุนพลังงาน โดยอาศัยนโยบายของรัฐบาลภายใต้คำว่า “เปิดเสรีแอลพีจี” มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด – 19 ที่ผ่านมาจะมีการคุมราคาแอลพีจีแต่ก็เป็นเพียงการคุมราคาขายปลีกที่ปลายทางเท่านั้น เมื่อไม่ได้คุมราคาที่ต้นทางทั้งจากโรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน รวมไปถึงราคาจากการนำเข้า และเมื่อราคาต้นทางใช้สูตรอิงราคานำเข้าจากตลาดโลกและมีการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมโหฬารต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาเพื่อให้ได้ราคาขายปลีกตามที่รัฐประกาศคุมราคา

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันในส่วนบัญชีแอลพีจี ติดลบถึง 42,067 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการติดลบของกองทุนน้ำมันอีก 82,534 ล้านบาท จึงทำให้สถานะของกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 11 กันยายนต้องติดลบมากถึง 124,601 ล้านบาท จนต้องเร่งปรับขึ้นราคาแอลพีจีทุกๆ เดือนๆ ละ 1 บาท/กิโลกรัม มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อลดการนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยราคา LPG ที่ถูกปล่อยลอยตัวราคาที่ต้นทางจากนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง

เขียนโดย : อิฐบูรณ์ อ้นวงษา
รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค