สี่กระทรวงใหญ่ขานรับ มติครม. 7 พฤศจิกายน 2566 ผลักดันเรื่องความปลอดภัยรถขนส่งนักเรียนปลอดภัย ให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ เร่งเครื่องกำหนดยุทธศาสตร์รถรับส่งนักเรียนเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่กระทรวงคมนาคมทุ่มงบ 280 ล้านกระจายให้ผู้ว่าฯ 77 จังหวัด สร้างระบบความปลอดภัยรถนักเรียน
ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รับวันเปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ในที่สุดประเด็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถนักเรียนจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หลังจากที่หน่วยงานจากกระทรวงใหญ่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กระทรวงศึกษาธิการ รับลูกมาดำเนินการหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม 33 จังหวัดได้ผลักดันปัญหานี้อย่างต่อเนื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อรายงานสถานการณ์ปัญหารถขนส่งนักเรียนที่มีแนวโน้มปัญหาอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น
หากพิจารณาจากสถิติอุบัตเหตุรถนักเรียน จะพบว่ายังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปี 2567 ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุรถขนส่งนักเรียนที่ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 153 คน ขณะที่ในรอบ 3 ปี ระหว่างปี 2565 – 2567 เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นกว่า 30 ครั้งและบาดเจ็บ 368 คน นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพของรถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองความปลอดภัยจากกรมขนส่งทางบก มีเพียง 3,342 คัน จากทั่วประเทศที่ได้รับการอนุญาต
ผลตอบรับการทำงานและกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างสี่กระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในร่วมกับ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา เพื่อให้จัดทำแผนการจัดการรถโรงเรียนปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ
รศ. อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานขานรับและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการรถขนส่งนักเรียนปลอดภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เข้ารับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าจะเข้ารับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้
ด้านกู้เกียรติ นิ่มเนียม ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงมหาดไทยได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมติครม. และจัดทำรายงานนำเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 เมษายน 2567 เพื่อผลักดันการจัดการรถขนส่งนักเรียนปลอดภัยให้เป็นรูปธรรมและสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ได้
สำหรับแนวทางความร่วมมือของ 4 กระทรวงหลักในการดำเนินการถขนส่งนักเรียนปลอดภัย จะสร้างกลไกในการบริหารจัดการในพื้นที่และการบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ขนส่งจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำงานบูรณาการร่วมกัน โดยจะบริหารจัดการผ่านศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการดำเนินการ
“เราสร้างกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะ โดยจะจัดระบบข้อมูลของการเดินทางของนักเรียน และจัดการงบประมาณในการจัดบริการรับส่ง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะเข้ามารับบทบาทนี้ เพราะตามกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีหน้าที่ในการจัดบริการขนส่งสาธารณะได้อยู่แล้ว” กู้เกียรติกล่าว
ความร่วมมือของสี่กระทรวงประกอบด้วย การจัดทำนโยบายระดับชาติ และแผนยุทธศาสตร์ เพื่อดำเนินการการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนของแต่ละจังหวัดเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ของจังหวัดมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัดและมีการกำหนดวาระการรายงานต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้ประกอบการ
“เราจะมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแล และให้คำแนะนำ จัดอบรมมาตรการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน และความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ สนับสนุนการออกมาตรการนโยบายระดับจังหวัด เพื่อทำให้รถขนส่งนักเรียนปลอดภัย”ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยกล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่กระทรวงคมนาคม สรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พร้อมขับเคลื่อนรถโรงเรียนเป็นวาระแห่งชาติ การมีมติ ครม. เปรียบเหมือนแสงสว่างและถือว่าเป็นรัฐบาลแรกที่กล้าขับเคลื่อนเรื่องรถโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม นายสรพงษ์ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการขอขึ้นทะเบียนรถขนส่งนักเรียนปลอดภัยไม่มากนัก พบว่านับตั้งแต่ ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานของรถโรงเรียน อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรถโรงเรียน ภายใต้การกำกับดูแลความปลอดภัยทางถนนตาม พ.ร.บ.กรมขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มีผู้นำรถยนต์ขนาดใหญ่มาจดทะเบียน เพียงแค่ 2 คัน และในส่วนของ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งอนุญาตให้มีรถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถสองแถวและรถตู้ แต่ปรากฎว่าทั้งประเทศมีเพียงแต่ 1,700 คันเท่านั้น
“ในปี2567 กระทรวงคมนาคมจะผลักดันให้เกิดรถขนส่งนักเรียนปลอดภัยให้มากที่สุดโดย ได้สนับสนุนงบประมาณ 280 ล้านบาทให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 77 จังหวัดส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และหากปีนี้สามารถดำเนินการสำเร็จ ทางกระทรวงคมนาคมก็จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในปีถัดไป” นายสรพงษ์กล่าว
เช่นเดียวกับ กระทรวงศึกษาธิการ กมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รีบขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว โดยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงได้นำมติครม. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประกาศให้ทุกหน่วยงานในสังกัดให้รับทราบและกำหนดแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับเด็กอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกโรงเรียนต้องมีแผนย่อยของตัวเอง และให้โรงเรียนต่าง ๆ ทำแผนร่วมกับรถรับส่งและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่
นอกจากนี้ยังให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องกฎวินัยจราจร ที่สำคัญได้มีการกำหนดระบบติดตามประเมินผลและเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างน้อยทุก 3 เดือนจะเห็นผลในเชิงสถิติที่ต้องลดลงร้อยละ 5 ซึ่งเป็นดัชนีชี้ว่าระบบความปลอดภัยบนท้องถนนของนักเรียนดีขึ้น
“เปิดเทอมปีนี้เราเตรียมพร้อมกำหนดมาตรการความปลอดภัยรับเปิดภาคเรียนที่ 1 โดยมีเรื่องความปลอดภัยของเด็กในการเดินทาง มีการจัดให้มีครูดูแลความปลอดภัยหน้าโรงเรียน บริเวณทางม้าลาย มีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเครือข่ายระดับอำเภอและจังหวัดเข้ามาดูแล มีจิตอาสาเข้ามาดูแลและอำนวยความสะดวก รวมทั้งกำกับรถที่มารับส่งที่โรงเรียน เป็นต้น” กมลกล่าว
กมล ย้ำอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยพัฒนางานรถขนส่งความปลอดภันเพิ่มมากขึ้นใน 2 เรื่องคือ เรื่องแอปพลิเคชันติดตามรถนักเรียนโดยใช้จีพีเอสและสามารถแจ้งตำแหน่งเรียลไทม์ให้แก่ผู้ปกครอง และการใช้เครือข่ายทุกระดับให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหากมีแผนที่ชัดเจนก็จะทำให้ทุกคนขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้พร้อม ๆ กัน
ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีบทบาทในการจัดการระบบข้อมูลและเทคโนโลยี จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีแผนที่จะดำเนินงานเรื่องนี้ในหลายด้าน ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการสูญเสียให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการและการจัดทำฐานข้อมูลเส้นทางการเดินทางและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
“ปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องที่เป็นเซนเซอร์ไว้หน้ารถเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในรถและแจ้งเตือนหากมีเด็กนักเรียนตกค้างอยู่ในรถ และติดตั้งปุ่มสีแดงเพื่อให้นักเรียนที่ตกค้างภายในกดปุ่มเพื่อแจ้งเตือนขอความช่วยเหลือไปยังไลน์ของผู้ปกครองหรือโรงเรียน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ระบุตำแหน่งหรือจีพีเอสของรถ ซึ่งสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถของคนขับรถรับส่งนักเรียนได้ โดยมีรถขนส่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 3,500 คันและมีโรงเรียนเข้าร่วม 350 แห่ง”จักกนิตต์กล่าว
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคกล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้ดำเนินการในเรื่องรถขนส่งนักเรียนปลอดภัยมาอย่างน้อย 6 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนกระทั่งได้โรงเรียนต้นแบบรถขนส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้จำนวน 20 แห่งใน 15 จังหวัด ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ทำงานร่วมกับ 148 โรงเรียนและมีศูนย์เรียนรู้ 20 แห่ง แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นเอง
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคหวังว่าการสนับสนุนจากผู้ตรวจการแผ่นดินหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ดำเนินการผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติที่จะเดินหน้าเรื่องรับส่งนักเรียนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากพื้นฐานของสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญก็คือความปลอดภัย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ความปลอดภัยอยู่ในทุกอณูของผู้คนไม่ว่าจะมีความปลอดภัยจากถนน เดินบนทางม้าลาย เราไม่ควรถูกรถชน เราจะทำอย่างไรให้เกิดวัฒนธรรมที่ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยเป็นของคู่กันของผู้บริโภคทุกคน