ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ประจำเดือนพฤษภาคม 2567

ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ประจำเดือนพฤษภาคม 2567

อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ เตรียมเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปนิกและด้านสังคมวิทยา และมนุษยวิทยา ต่อคณะกรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ แทนอนุกรรมการฯ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเสียชีวิตเพิ่มเติม

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งมี ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม  ได้พิจารณาเรื่องที่อนุกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเสียชีวิต จำนวน 2 คน คือ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และ น.ส.กชนุช แสงแถลง (ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) จึงทำให้มีอนุกรรมการฯ ปฏิบัติหน้าที่เหลืออยู่ 6 คน

จึงเห็นชอบให้เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คน ให้คณะกรรมนโยบาย สภาผู้บริโกคพิจารณาแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการฯ เพิ่มเติม คือ 1. นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง เป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ/ก่อสร้างอาคาร บ้าน คอนโด เป็นผู้ที่ติดตามและขับเคลื่อนประเด็นด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย หลายประเด็น และ 2. รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์ท่าพระจันทร์) สนใจประเด็นวิชาการด้านมานุษยวิทยาเมือง คนชายขอบ การเคลื่อนไหวทางสังคม ความรุนแรงและความทุกข์ทนทางสังคม (social suffering)

นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้ติดตามการให้ความเห็นต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งกรุงเทพมหานครและสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง อยู่ระหว่างลงพื้นที่ 50 เขต เพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งพบปัญหาที่สำคัญคือ กรุงเทพมหานคร ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นแบบเดิม รูปแบบและเนื้อหาเอกสารการจัดประชุมเหมือนเดิม ทำให้ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการจัดประชุมเพื่อบรรยายทางเดียวโดยประชาชนเป็นเพียงผู้รับฟัง

คณะอนุกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นควรให้สภาผู้บริโภคออกหนังสือคัดค้าน ไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อให้หยุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากหากจัดประชุมต่อไปในลักษณะเดิม จะเป็นการสิ้นเปลือง เวลา และงบประมาณ

รวมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดประชุมเชิงวิชาการ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความสามารถด้านผังเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ภูมินิเวศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง และจัดทำข้อมูล ข้อเสนอ เสนอต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อให้พิจารณายุติกระบวนการ และเริ่มขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ใหม่ ตั้งแต่กระบวนการแรก