ปัจจุบันการพัฒนาของโลกดิจิทัลเปลี่ยนวิถีชีวิตคนยุคใหม่ทั่วโลก ให้สร้างความร่ำรวยจากการลงทุนสกุลเงินที่จับต้องไม่ได้ ซื้อของด้วยการใช้ปลายนิ้วสัมผัส ทำงานจากบ้าน และเข้าแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่สร้างความสนุกสนานและสะดวกสบายในโลกออนไลน์ แต่ในภาพโลกดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัยนี้ มีมุมมืดที่อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์เช่นกัน ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัลอย่างมหาศาล
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ระดมเหล่านักวิชาการและนักธุรกิจการเงินออนไลน์ ร่วมหาทางออก หลังผู้บริโภคไทยต้องเผชิญหน้าภัยคุกคามทางการเงินในโลกออนไลน์แบบรายวัน ในเวทีวันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล 15 มีนาคม ซึ่งสอดคล้องกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่ได้หยิบยกประเด็นหลักในการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ภายใต้หัวข้อ “การเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม” (Fair Digital Finance) เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยใกล้ตัว ที่อาจทำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายหรือกลายเป็นหนี้สินในชั่วพริบตา
ในการเสวนานี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอภาพรวมด้านเทคโนโลยีทางการเงินในโลกดิจิทัล โดยมี สุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด เปิดมุมมองด้านนวัตกรรมทางการเงิน ส่วน ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงสิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบถึงสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางการเงินในปัจจุบัน ปิดท้ายด้วยความรู้เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางการเงินโดย สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างให้ผู้บริโภคชาวไทยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ไปจนถึงภัยคุกคามที่แฝงมาในรูปแบบดิจิทัล รู้เท่าทันต่อภัยคุกคามการเงินออนไลน์ ดำเนินรายการโดยพิธีกรผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เริ่มจาก ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงภาพรวมเทคโนโลยีทางการเงินในโลกดิจิทัลในปัจจุบันว่า เทคโนโลยีทางการเงินเกิดขึ้นในโลกมานานและมีวิวัฒนาการทางรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (IoT) มาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยมากยิ่งขึ้น เปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางธุรกิจได้มากมาย
ดร.สมเกียรติ อธิบายว่าปัจจุบันเกิดแอปพลิเคชันทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้นมาก และสิ่งที่สร้างความสนใจและได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ คือ สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคริปโตเคอเรนซีที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือบิทคอยน์ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่าบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงิน โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของผู้บริโภค และดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้าไปถือครองในวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปกติแล้วเงินที่ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ต้องมีหน้าที่ 3 ประการ คือ 1. สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในตลาด 2. ใช้เป็นมาตรวัดด้านราคาได้ และ 3. สามารถเก็บมูลค่าได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงบิทคอยน์จะพบว่า ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี มีศักยภาพการชำระเงินค่อนข้างช้า มีต้นทุนและความผันผวนสูง มูลค่าเปลี่ยนไปตลอดแบบวันต่อวัน
ประธาน TDRI ระบุอีกว่า หากพิจารณาด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะพบว่า บิทคอยน์ใช้พลังงานมาก เกิดการบริโภคไฟฟ้าสูงขึ้น เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันการพูดคุยถึงผลกระทบดังกล่าวในไทยยังมีอยู่น้อยมาก และหากเปรียบเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่น เช่น การซื้อบ้านหรือทองคำที่เป็นการผสมผสานระหว่างส่วนเก็งกำไรและการเพิ่มมูลค่า การซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีก็จะได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 3 การลงทุนจึงไม่ใช่การเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ บิทคอยน์จะชัดเจนแค่ด้านเก็งกำไร แต่ขาดความชัดเจนด้านมูลค่าพื้นฐาน
“บิทคอยน์มีความผันผวนมากกว่าหุ้นของบริษัทชั้นนำกว่า 10 เท่า ทั้งยังหาปัจจัยที่ส่งผลได้ยาก ทำให้บิทคอยน์ไม่สามารถใช้แทนเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ และถือเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงประเภทหนึ่ง ดังนั้น การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเป็นฟองสบู่ที่มีราคาเพิ่มจากการเก็งกำไร เปรียบเสมือนแชร์ลูกโซ่ที่เมื่อมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้าเล่นทำให้ราคาวิ่งขึ้นจนถึงจุดหนึ่งก็จะแตกเหมือนฟองสบู่ และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกว่า 8 ท่านทั่วโลก ซึ่งมองว่าเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก หากผู้ลงทุนขาดความเชี่ยวชาญและลงทุนโดยเงินกู้หรือเงินสะสมในบั้นปลายชีวิตก็เสี่ยงต่อการขาดเสถียรภาพทางการเงิน” ดร.สมเกียรติ กล่าว
สุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด
ในขณะที่ สุกฤษฏิ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินพร้อมมองต่างมุมว่า สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้มีเฉพาะแง่ลบหากผู้ลงทุนมีความเข้าใจพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีเพิ่มมากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านธุรกรรมทางการเงินรูปแบบออนไลน์ ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเริ่มเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจและบริการให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น และคริปโตเคอร์เรนซีก็ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรมยุคใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยมีระบบบล็อกเชนเข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคาร แค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วโลก ทั้งยังมีความโปร่งใสที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งอยู่ในบล็อกเชนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถควบคุมได้บางส่วน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน
“บิทคอยน์ถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นหรือทองคำ แต่บิทคอยน์ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกิดปัญหาด้านอาชญากรรมด้วยการเปลี่ยนไปถือเงินผ่านระบบออนไลน์แทน สามารถใช้แลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ทั่วโลก โดยเริ่มนำบิทคอยน์ไปใช้ซื้อสินค้าในประเทศต่าง ๆ แพร่หลายยิ่งขึ้น
ทั้งยังช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อ และช่วยบริหารจัดการด้านการกระจายเงินได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญเมื่อเกิดภาวะไม่มั่นคงหรือเกิดสงคราม คนก็จะหันมาถือสินทรัพย์ต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินสด และหนึ่งในสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมก็คือบิทคอยน์” สุกฤษฏิ์ กล่าว
สุกฤษฏิ์ ระบุอีกว่า การลงทุนด้านคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเรื่องใหม่ของนักลงทุนไทย หลายรายลงทุนโดยไม่มีความรู้พื้นฐานที่มากพอทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นข้อควรระวังอย่างมาก นอกจากนี้ การใช้แพลตฟอร์มก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีความยุ่งยาก เช่น เวลาการโอนเหรียญที่โอนผิดเน็ตเวิร์กหรือโอนผิดกระเป๋าจะทำให้เงินในส่วนที่โอนผิดพลาดนั้นสูญหายไปทันที ซึ่งต้องการฝากนักลงทุนให้ศึกษาวิธีการต่าง ๆ ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน นอกจากนี้ การศึกษาด้านการป้องกันบัญชีของตนเอง เพราะข้อมูลทุกอย่างเก็บบนโลกออนไลน์ทั้งหมด แนะนำให้กำหนดรหัสเข้าบัญชีไว้ 2 ขั้น เพราะนักลงทุนจำนวนมากมักไม่ได้ทำขั้นตอนดังกล่าว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโจรกรรมผ่านระบบออนไลน์ และปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดแชร์ลูกโซ่คริปโตเคอร์เรนซีนั้น หากนักลงทุนมีข้อมูลที่แม่นยำและถูกต้องเพียงพอก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อพวกอาชญากรไซเบอร์
ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
แน่นอนว่าเมื่อเกิดผลประโยชน์ด้านการลงทุน ภัยคุกคามก็มักจะเกิดขึ้นเช่นกัน ดร.ปริญญา ชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า ด้วยความรวดเร็วด้านธุรกรรมการลงทุนออนไลน์ทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดสูง และเป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์ใช้หลอกลวงผู้บริโภค
ดร.ปริญญา แนะนำว่า ต้องรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความพร้อมและตื่นตัวในการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้บริโภคจะต้องเจอกับรูปแบบกลโกงที่เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ โดยมักจะใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อและมีทีมจัดตั้งที่คอยหลอกให้หลงเชื่อทำให้เสียทรัพย์ในที่สุด ซึ่งมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถแจ้งความได้ผ่าน thaipoliceonline.com ภายใต้การดำเนินงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
“ปฎิเสธไม่ได้ว่าความสะดวกรวดเร็วของการใช้สกุลเงินดิจิทัลย่อมมาพร้อมความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา เพราะหลายครั้งหากผู้บริโภคไม่ระวังรักษารหัสรักษาความปลอดภัยของตนก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ หากเป็นไปได้อยากขอให้สภาองค์กรของผู้บริโภคประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการสร้างข้อกำหนดในการหยุดระบบการเคลื่อนไหวทางบัญชี เพื่อตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้เงินคืนเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเหลือคนได้จำนวนมาก” ดร.ปริญญากล่าว
ดร.ปริญญา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญต้องการให้ผู้บริโภคเปลี่ยนความคิดเพื่อให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น โดยคิดว่าหากตนต้องตกเป็นเหยื่อ จะต้องดำเนินการจัดการและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะทุกวันนี้อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ผู้บริโภคเอง การจัดสรรเรื่องกำหนดวงเงินในบัญชีที่ต้องการทำธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรใส่เงินไว้จำนวนมากในบัญชีที่ใช้ประจำ เพราะเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมด้านความเป็นธรรมทางการเงิน
ด้านความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสของโลกการเงินออนไลน์ สฤณี เปิดเผยข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่องแฟร์ไฟแนนซ์ (Fair finance) ว่า โครงการดังกล่าว ผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International หรือแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ.2562 เป็นปีแรก ซึ่งปัจจุบันได้ประเมินธนาคารไทยรวม 11 แห่ง ซึ่งโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 5 สถาบัน ประกอบด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด International Rivers มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เพื่อสร้างแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยได้ติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร
“ปัจจุบันโลกของธุรกรรมการเงินออนไลน์นั้นเป็นโลกที่กว้างใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทุกคนอาจจะอยู่ใน 2 สถานะ คือ นักลงทุนและผู้บริโภคทางการเงิน โดยต่างคาดหวังว่าจะได้ใช้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ แบบไม่ผ่านตัวกลางอีกต่อไป นับเป็นโอกาสดีที่ในปีนี้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากลและสภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการรณรงค์ด้าน Fair Digital Finance โดยต้องการให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงการเงินได้มากขึ้น ปลอดภัยเมื่อทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ทั้งยังได้ความคุ้มครองด้านข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อทำธุรกรรมด้านการเงินอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านธุรกรรมการเงินใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน” สฤณี กล่าว
หัวหน้าทีมด้านความเป็นธรรมทางการเงิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน เงินคริปโตเคอร์เรนซี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สกุลเงินที่ต้องการสร้างบทบาทให้เหมือนเงิน สกุลเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย และสกุลเงินในแบบกระจายศูนย์แบบไม่มีผู้ควบคุม ซึ่งทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยง จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการเปิดการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (Digital token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชนจะล้มเหลวภายใน 4 เดือน ซึ่งพิสูจน์ได้ยากว่าตั้งใจหลอกหรือดำเนินธุรกิจผิดพลาดไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอัตราเสี่ยงที่สูงมาก
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรจะได้รับข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการลงทุน เช่น มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นโดยวิธีใด จึงต้องการเรียกร้องให้สร้างกระบวนการและมาตรฐานในเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการคุ้มครองเมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนแล้ว เพราะหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ ผู้ลงทุนจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เงินคืน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นักลงทุนต้องการ แม้จะทำได้ไม่ง่ายนักก็ตาม ทั้งยังมีข้อแตกต่างในการกำกับดูแลในแต่ละประเทศ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ละเอียดรอบคอบ
หากพิจารณาในบทบาทผู้ใช้บริการทางการเงิน ในมุมของการโอนเงินโดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมีข้อดีคือมีความโปร่งใสสูงเพราะสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ว่า ที่ผ่านมาทำธุรกรรมอย่างไร ลดต้นทุน และเวลาในการทำธุรกรรมลงอย่างมาก ทำให้เริ่มมีการกระจายรูปแบบดังกล่าวไปสู่ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร นอกจากจะทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลางแล้ว ยังสร้างประวัติหรือฐานข้อมูลทางการเงินได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการขอสินเชื่อ หากสามารถใช้ประวัติดังกล่าวได้ก็จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้บริโภคได้อีกมาก การเริ่มใช้สมาร์ทคอนแทรก หรือกระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เช่นเดียวกันกับแอปพลิเคชันทางการเงินรูปแบบใหม่ดีไฟ (DeFi) ที่ไม่จําเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ถูกต่อยอดมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งทำหน้าที่คอยจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม มีเป้าหมายเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
“เรื่องของความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในการกำกับดูแลจึงเป็นประเด็นที่ต้องคิดให้ครบ เนื่องจากมีทั้งผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะทำอย่างไรที่จะกำกับให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ โดยส่วนตัวมองว่าบล็อคเชนและสมาร์ทคอนแทรกก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลได้เช่นกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างเงื่อนไขสินเชื่อที่เป็นธรรมไว้ในระบบ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ แต่ต้องไม่ละเลยเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย” สฤณี กล่าวเสริม
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
สารี แนะนำว่า เงินที่จะลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีต้องเป็นเงินเก็บในส่วนที่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ควรใช้เงินกู้เพื่อลงทุน และผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้หากตัดสินใจลงทุน เพราะหากเข้าลงทุนในจังหวะที่ดีอาจมีกำไร แต่หากเข้าไปในจังหวะที่ไม่ดีก็ต้องขาดทุน ซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคต้องระวัง และฝากไปยังผู้ประกอบการสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ให้พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้บริโภคเมื่อเกิดการโอนผิด ให้สามารถตรวจสอบและนำเงินกลับคืนผู้บริโภคได้ หรือกรณีถูกหลอกลวงผ่านออนไลน์ ส่วนนี้ผู้ประกอบการก็ควรต้องช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องการผลักดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพราะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงในระดับสากลแล้ว โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากลได้เดินหน้าขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก
“ปัจจุบันพบว่าระบบคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีการกระจายตัวสูง ทำให้เกิดความล่าช้า หากผู้บริโภคร้องเรียนผิดหน่วยงานหรือผิดขั้นตอน จุดรับแจ้งเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ควรเป็นแบบให้บริการจบในที่เดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศฮอตไลน์ 1441 ขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค” สารีกล่าว
เลขาธิการ สอบ. กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่สามารถปิดบัญชีของผู้ใช้บริการได้ ก็ทำให้อาชญากรโลกไซเบอร์สามารถโอนเงินของผู้เสียหายไปใช้ได้โดยง่าย หากดำเนินการได้ไม่รวดเร็วพอ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารนั้นเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ สอบ.ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 – 2560 และต้องถือว่าไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคขึ้น โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภครวมตัวกันกว่า 150 องค์กร เพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ จนทำให้สามารถจัดตั้งสำเร็จได้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 และออกกฎหมายเฉพาะว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และกำหนดให้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้านครอบคลุม 8 ด้าน ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิสามารถเข้าขอความช่วยเหลือจากองค์กรเครือข่ายได้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังปัญหาที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมหาทางออกให้ผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงคุ้มครองสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 271 องค์กรใน 33 จังหวัด
สำหรับผู้บริโภค สามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยติดต่อ สอบ.ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02 239 1839 เฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล [email protected] หรือ ไลน์ @tccthailand
วันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล (World Consumer Rights Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก สิทธิผู้บริโภค ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2505 โดยได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ 2.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย 3.สิทธิที่จะเลือก และ 4.สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงผู้บริโภคที่หมายถึงทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลบวกและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งตัวแทน ดังนั้น ความเห็นของพวกเขาจึงไม่ถูกรับฟัง
สิทธิผู้บริโภค ได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี พ.ศ.2525 โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) การรณรงค์ในการสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค ส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคสำคัญไว้ 8 ประการ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติ กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี พ.ศ.2528 โดยการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2558 และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก