ศาลยกฟ้อง กรณีบริษัทปล่อยเงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ ฟ้องผู้บริโภคเรียกเงินกว่า 500,000 บาท หลังพยาน หลักฐาน และผลพิสูจน์ชี้ชัดว่าบริษัทฯ ใช้เอกสารปลอม
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาถูกบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด ฟ้องร้องเรื่องผิดสัญญาเงินกู้สินเชื่อจำนำโฉนด แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าเอกสารสัญญาที่บริษัทฯ นำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลมีความผิดปกติหลายประการ ดังนี้ 1) วันที่ไม่ตรงกับวันที่กู้ 2) บริษัทที่ยื่นฟ้องเป็นคนละบริษัทที่ผู้เสียหายยื่นจดจำนอง กล่าวคือ ผู้เสียหายขอกู้เงินกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด แต่กลับถูกบริษัท เงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องร้อง 3) ลายเซ็นในเอกสารสัญญาเป็นลายเซ็นปลอม และ 4) ดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาไม่ตรงกับเอกสารจดจำนอง
ภัทรกรกล่าวต่ออีกว่า สภาผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหาย ให้คำปรึกษา แนะนำเรื่องการดำเนินคดี ไปเป็นพยานและช่วยนำสืบคดีในชั้นศาล รวมทั้งให้ข้อมูลต่อศาลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของบริษัทที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ถูกฉ้อโกงด้วยพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน เช่น การทำสัญญาโดยไม่ส่งมอบคู่ฉบับ ส่งมอบเงินกู้ไม่ครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ผู้บริโภคเซ็นสัญญาเปล่า และ เรียกเก็บดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยท้ายที่สุดศาลมีคำวินิจฉัยว่าเอกสารที่บริษัทฯ นำมาฟ้องผู้บริโภคเป็นเอกสารปลอม และพิพากษายกฟ้อง
“สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน อยากให้เข้ามาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้ประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบสำนวนส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ หากคดีดังกล่าวถูกรับเป็นคดีพิเศษก็จะสามารถใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนที่มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นในชั้นศาล สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่ 1) ใบเสร็จรับเงินที่ชำระดอกเบี้ย 2) เอกสารสัญญาการกู้ยืมเงิน (ถ้ามี) และ3) ภาพบทสนทนากับพนักงานของบริษัทฯ” ภัทรกรระบุ
ด้าน ธรรมณัฐ แก้วบุญส่ง ผู้บริโภคที่เป็นผู้ชนะคดีดังกล่าว เล่าถึงพฤติการณ์ของบริษัทว่า เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2563 ตัวเองได้ไปขอสินเชื่อกับบริษัทแห่งหนึ่ง สาขาพระประแดง โดยพนักงานนำแบบฟอร์มเปล่าที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดใด ๆ มาให้เซ็น จากนั้นได้เดินทางไปสำนักงานที่ดิน เพื่อทำสัญญาจดจำนอง ยอดเงิน 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ระยะเวลาตามสัญญา 1 ปี ซึ่งพนักงานได้เก็บคู่สัญญาและหนังสือจดจำนองกลับไปทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าต้องส่งเอกสารเข้าสำนักงานใหญ่ หากสำนักงานใหญ่ดำเนินการเรียบร้อยจะส่งคืนให้ ตกเย็นของวันเดียวกันมีเงินโอนเข้าบัญชีจากบริษัทดังกล่าว จำนวน 358,733 บาท ซึ่งไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในสัญญา โดยพนักงานแจ้งว่าเงินส่วนที่หายไปเป็นค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ
ธรรมณัฐ กล่าวอีกว่า หลังจากวันที่เซ็นสัญญาพยายามทวงถามสัญญาคู่ฉบับมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับเอกสาร จนกระทั่งปี 2565 ได้รับคำฟ้องจากศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยโจทก์ที่ฟ้องไม่ใช่บริษัทที่ไปขอสินเชื่อ แต่กลับเป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน โดยหลักฐานที่ใช้ในการฟ้องได้แก่ สัญญาเงินกู้ยอดเงิน 450,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 22 ต่อปี ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือสัญญาจดจำนอง และมียอดตามคำฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 587,361 บาท โดยสัญญาดังกล่าวลงวันที่ 21 กันยายน 2564
“หลังจากได้รับหมายศาล ผมตัดสินใจว่าจะสู้คดีจึงปรึกษาทนาย ได้รับคำตอบว่าเราเสียเปรียบ เพราะว่าไม่มีเอกสารอะไรเป็นหลักฐานเลย ตอนนั้นรู้สึกมืดแปดด้านไปหมดและคิดว่าเราสู้เขาไม่ได้แน่ ๆ ตอนนั้นที่ยอมเซ็นสัญญาเปล่าไปเพราะจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ ประกอบกับเห็นว่าเป็นบริษัทใหญ่ ไม่น่าโกง แต่ตอนโดนฟ้องคือบริษัทฯ ฟ้องเราด้วยจำนวนเงินที่มากกว่ายอดที่ระบุในสัญญา ทั้งที่เราส่งไปจำนวนหนึ่งแล้ว อีกทั้งบริษัทที่เป็นโจทก์ฟ้องก็ไม่ใช่บริษัทที่ทำสัญญาด้วย” ธรรมณัฐกล่าว
ผู้เสียหายเล่าต่ออีกว่า หลังจากโดนฟ้องระยะหนึ่ง เห็นข่าวที่สภาผู้บริโภคออกมากลโกงของบริษัทจดจำนองบ้าน ซึ่งตรงกับสิ่งที่กำลังเผชิญทั้งหมด จึงเข้าไปปรึกษาและเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี รวมทั้งเข้าไปเป็นพยานในชั้นศาลและนำข้อมูลเองร้องเรียนต่าง ๆ มาช่วยยืนยัน สำหรับเรื่องเอกสารปลอม ได้มีการส่งเอกสารไปตรวจสอบที่หน่วยพิสูจน์หลักฐาน ทำให้ท้ายที่สุดศาลวินิจฉัยว่าบริษัทฯ ใช้เอกสารปลอม และพิพากษายกฟ้อง
ธรรมณัฐกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หากพบว่าหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแลทำผิด ควรมีบทลงโทษอย่างถึงที่สุด เช่น กรณีบริษัทศรีสวัสดิ์ ควรยกเลิกใบอนญาตประกอบธุรกิจ เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต ประกอบธุรกิจอย่างไม่ซื่อสัตย์ และเอาเปรียบประชาชน หากหน่วยงานที่มีอำนาจไม่จัดการขั้นเด็ดขาดก็จะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ