ผลวิจัยชี้ การจ่ายรัฐสวัสดิการบำนาญประชาชน 3,000 บาทอย่างถ้วนหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้จีดีพีโตร้อยละ 4.17 ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 7 แสนล้านบาท ใน 5 ปี
ปัจจุบันมีประชากรอายุ 60 – 69 ปีที่ยังมีหนี้สิน และต้องทำงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ แม้แต่ผู้สูงอายุที่มีบำนาญก็ยังมีหนี้สิน จึงทำให้มีเงินเหลือใช้ไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงอยู่ในสถานะยากจน ไม่มีเงินออม และเป็นหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ การจัดสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือนให้กับผู้สูงอายุจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 7 แสนล้านบาท ใน 5 ปี
นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานวิจัยเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในงานเสวนา “เปิดงานวิจัยโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และการวิเคราะห์ผลกระทบของการจัดสรรเงินบำนาญประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (complete aged society) ตั้งแต่ปี 2565 โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แต่กลับไม่มีรัฐสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบที่เรียกว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นการให้แบบไม่ถ้วนหน้า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนดเท่านั้น ทั้งยังแบ่งการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 4 ช่วงซึ่งจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ
รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ใช้ฐานข้อมูลจาก 3 แหล่ง คือข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่องความเหลื่อมล้ำในปี 2565 และข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยนำเอาข้อมูลทั้ง 3 รายการไปขยายความและทำงานภาคสนาม รวมทั้งสำรวจการทำวิจัยเพื่อตอบคำถามว่าจะนำงบประมาณมาจากที่ใด และวิธีการจัดสวัสดิการควรจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเปราะบางหรือการแจกแบบถ้วนหน้า
ทั้งนี้ทีมวิจัยพบว่าการจัดรัฐสวัสดิการแบบคัดกรองเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่มีความเปราะบาง มีปัญหาและความยากลำบากในการคัดกรองหาผู้สูงอายุที่ยากจน จนทำให้เกิดปัญหาตกหล่น โดยจะเห็นว่าในปัจจุบันได้จัดสวัสดิการจ่ายเบี้ยยังชีพด้วยวิธีการดังกล่าว แม้จะครอบคลุมประมาณร้อยละ 86 ของผู้สูงอายุ แต่ยังมีคนตกหล่นไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นว่าการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการคัดกรองและไม่ทำให้ผู้สูงอายุตกหล่นจนไม่ได้รับสวัสดิการ
ส่วนประเด็นของการจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินสวัสดิการ 3,000 บาทส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคจนซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้
“พฤติกรรมการบริโภคผู้สูงอายุจะนำไปสู่การเพิ่มระดับการบริโภคที่มีผลต่อตัวคูณในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุยังหมายถึงการกระตุ้นผ่านลูกหลานของผู้สูงอายุ ดังนั้นการจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุเพียงคนเดียวเท่ากับช่วยคน 3.3 คนในวัยทำงาน” รศ.นพนันท์กล่าว
รศ.นพนันท์ กล่าวต่อไปว่า การจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุมีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าให้กลุ่มอื่น นอกจากนี้เห็นว่างบประมาณการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนบำนาญ และสวัสดิการเบี้ยยังชีพของไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ถือว่ายังต่ำกว่าหลายประเทศที่มีฐานะใกล้เคียงกัน จึงเห็นว่ารัฐควรจัดสวัสดิการบำนาญให้กับประชาชน
สำหรับรูปแบบการจัดสวัสดิการบำนาญและที่มาของแหล่งงบประมาณ ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การวิจัยได้ค้นหารูปแบบการตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติซึ่งมีหลายรูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 คือ การจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุทุกคนเท่ากัน รูปแบบที่ 2 คือ การจัดสรรให้กับผู้สูงอายุทุกคนแต่เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบาง และรูปแบบที่ 3 คือ การจัดสรรให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีความยากจนและให้ผู้สูงอายุเฉพาะที่ไม่มีระบบสวัสดิการอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำและไม่ส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามหากพิจารณารูปแบบการจัดสรรสวัสดิการให้ผู้สูงอายุทุกคน 3,000 บาทต่อเดือน จะมีผู้สูงอายุที่จะได้รับเงิน 12.7 ล้านคนใช้เงินงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ส่วนที่มาของงบประมาณ เสนอให้มีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 โดยใช้ระยะเวลาขยับขึ้นภาษี 1 – 3 ปี จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 700,000 – 100,000 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบการจัดสรรโดยเลือกเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวน 4.2 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่แนวทางนี้จะมีปัญหาเรื่องของการคัดกรองหาผู้สูงอายุที่ยากจนทำให้การจัดสวัสดิการตกหล่นไม่ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ดร.กติกา ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ พบว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นทันทีในปีแรก แต่จะเห็นชัดเจนในปีถัดมา เพราะผู้สูงอายุจะนำเงินไปใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคมากกว่าการจัดสรรให้กับประชาชนกลุ่มอื่น ซึ่งหากจัดสรรงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท รัฐจะได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในปีที่ 2 หลังการจัดสรรประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและเกิดการทวีคูณทางการคลังมากขึ้น
“สรุปว่าหากรัฐจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุทุกคนด้วยเงิน 4.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 7 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีเพิ่มประมาณ 4.17 เปอร์เซ็นต์ จึงชัดเจนว่าการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการให้ผู้สูงอายุมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจถึง 5 รอบ” ดร.กติกากล่าว
ดร.กติกา กล่าวอีกว่า การจัดสรรงบสวัสดิการมีความคุ้มค่า และมีผลต่อการกระตุ้นทางเศรษฐกิจแน่นอน ทั้งนี้แนะนำให้ ดำเนินการคู่ไปกับการส่งเสริมนโยบายการออมของประชาชน
ส่วนผลกระทบทางด้านสังคม ปัญจพล สัตยานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ผลการวิจัยผลกระทบทางด้านสังคม จากตัวอย่างผู้สูงอายุทั้งหมด 800 คนทั่วประเทศ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและตอบแบบสอบถาม พบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นที่อยู่กลุ่มนอกระบบ มีรายได้น้อย และไม่มีสวัสดิการ อีกทั้งบางกลุ่มมีหนี้สิน
“สิ่งที่พบคือมีผู้สูงอายุ 60 – 69 ปีที่ยังมีหนี้สิน และต้องไปทำงานเพื่อหาเงินไปใช้หนี้ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่มีบำนาญก็ยังมีหนี้สิน จึงทำให้มีเงินเหลือใช้ไม่เพียงพอ เราจึงพบผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 9,000 บาทต่อเดือนและไม่มีหนี้มีจำนวนน้อย ขณะที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินออม และเป็นหนี้นอกระบบ” ปัญจพลกล่าว
เมื่อสอบถามผู้สูงอายุถึงแนวทางการใช้จ่ายหากได้รับเงินสวัสดิการ 3,000 บาท คำตอบส่วนใหญ่คือใช้เงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และกว่าครึ่งของผู้สูงอายุนำเงินไปดูแลลูกหลาน ดังนั้น การจ่ายสวัสดิการ 3,000 บาทจึงช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งทำให้ผู้สูงอายุมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินอีกด้วย
“ระดับสวัสดิการที่ธนาคารโลกระบุไว้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต้องอยู่ที่ 3,500 บาท แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่าการให้สวัสดิการ 3,000 บาท จะเพิ่มระดับความสุขของผู้สูงอายุ มีความสัมพันธ์กับลูกหลานดีขึ้น ช่วยเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมในครอบครัว รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำได้” ปัญจพลกล่าว