สภาผู้บริโภค ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคครอบคลุม 8 จังหวัดภาคตะวันออก ด้าน สปน. ชี้วันนี้มีจำนวนจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรของผู้บริโภค 356 องค์กร ใน 52 จังหวัด เหลือ 25 จังหวัดที่ยังไม่มี ย้ำการเกิดองค์กรของผู้บริโภคครบทั้ง 77 จังหวัด จะช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาผู้บริโภค จัดเวที “พลังผู้บริโภค ขับเคลื่อนภาคตะวันออกสู่การเปลี่ยนแปลง” โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และถอดบทเรียนการทำงานเพื่อนำไปปรับใช้และเป็นแนวทางในการขยายฐานงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออก
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หากดูจากสถิติเรื่องร้องเรียนจะพบว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – เดือนสิงหาคม 2567 ภาคตะวันออกมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 1,042 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 98 ล้านบาท โดยอันดับ 1 เป็นเรื่อง ปัญหาด้านสินค้าและบริการจำนวน 579 เรื่อง อันดับ 2 เป็นปัญหาด้านการเงินและการธนาคาร จำนวน 296 เรื่อง และอันดับ 3 เป็นปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ 42 เรื่อง
บุญยืน กล่าวอีกว่า แม้ภาคตะวันออกมีเครือข่ายที่เข้มแข็งมากมาย แต่ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกในภาคตะวันออกเพียง 5 จังหวัด จากทั้งหมด 8 จังหวัด และยังไม่มีองค์กรใดที่ขึ้นมาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด หากสามารถพัฒนาองค์กรเป็นหน่วยประจำจังหวัดหรือเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นได้ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออกก็จะได้รับความคุ้มครองที่ทั่วถึงมากขึ้นและทันท่วงทีมากขึ้น
อีก 25 จังหวัด สู่การมีองค์กรของผู้บริโภค ‘ทุกจังหวัดในประเทศไทย’
วีราภรณ์ ชินวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่า หน้าที่หลักของ สปน. คือการเป็นนายทะเบียน รับจดแจ้งขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค อีกหน้าที่หนึ่งคือเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของสภาผู้บริโภค ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่เป็นการทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเข้าถึงหน่วยงานราชการได้ยากได้รับการคุ้มครอง การมีองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับจึงทำให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ครอบคลุม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วีราภรณ์ยกตัวอย่างกรณีร้องเรียนของสภาผู้บริโภคที่น่าสนใจ คือกรณีการฟ้องคดีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมากที่อัปเดตซอฟต์แวร์แล้วหน้าจอขึ้นเป็นเส้นสีเขียว สีฟ้า หากเป็นผู้บริโภคเพียงรายเดียวทำนำโทรศัพท์ไปเข้าศูนย์ซ่อมอาจจะโดนบอกว่า ทำหล่น หรือตกน้ำ และต้องยอมเสียเงินคนละ 4,000 – 6,000 บาท เพื่อเปลี่ยนหน้าจอโทรศัพท์ แต่การที่ผู้บริโภครวมตัวกันพูดคุยถึงปัญหา ทำให้ทราบว่า ปัญหาเกิดจากซอฟต์แวร์ของบริษัทผู้ประกอบการ ซึ่งสะท้อนเห็นว่าการรวมตัวกันของผู้บริโภค ทำให้เกิดพลัง สามารถเรียกร้องจากผู้ประกอบการและสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้
“ตอนนี้มีจำนวนจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรของผู้บริโภค 356 องค์กร ใน 52 จังหวัด เหลืออีกเพียง 25 จังหวัดที่ยังไม่มีองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งหวังว่าหากเกิดองค์กรของผู้บริโภคครบทั้ง 77 จังหวัด ก็จะถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยไปอีกระดับหนึ่ง และทำให้ผู้บริโภคไทยได้รับความคุ้มครองมากขึ้น” วีราภรณ์ ระบุ
แพลตฟอร์มกลางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คือ คำตอบ
ชนะวัชย์ ธรรมะปิยวงศ์ สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เล่าถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่พัทยา โดยระบุว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งดูเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับสาธารณสุขโดยเฉพาะ ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านอื่น ๆ เช่น สัญญา จะมีหน่วยงานกลุ่มกฎหมายที่ขึ้นตรงกับปลัดเมืองพัทยาดูแล นอกจากนี้ยังมีการตั้งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเมืองพัทยา ตามการถ่ายโอนภารกิจกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีผู้บริโภคเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้วย รวมทั้งมีการตั้งระเบียบเรื่องการไกล่เกลี่ย การรับเรื่องราวร้องทุกข์
ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล ยังอยู่ระหว่างการทดลอง โดยเริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่พัทยาและกรุงเทพมหานครก่อนเพื่อเป็นต้นแบบ ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อจะทำให้องค์กรของรัฐมีความเข้มแข็งขึ้นในการคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบันคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเมืองพัทยา เริ่มดำเนินงานได้ประมาณ 1 – 2 ปี ได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมการฯ เน้นเรื่องการไกล่เกลี่ยและพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข
สำหรับข้อเสนอแนะในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น นายชนะวัชย์ เห็นว่า ทุกวันนี้มีองค์กรที่ทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ จึงเสนอหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงสภาผู้บริโภค ควรมีช่องทางหรือแพลตฟอร์มกลางสำหรับดำเนินงานผู้บริโภคร่วมกัน เช่น มีแอปพลิเคชันกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานผู้บริโภคด้วย
เมื่อผู้บริโภคอยากรู้เรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถเข้าไปในแอปฯ ดังกล่าวได้ มีข้อมูลสำหรับติดต่อหน่วยงาน หาความรู้ โดยวิธีการผลิตแอปฯ ดังกล่าวอาจทำเป็นลักษณะการประกวดแข่งขัน (Hackathon) ให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจร่วมประกวด ซึ่งจะเป็นการขยายฐานความรู้เรื่องผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ทั้งยังได้แพลตฟอร์มสำหรับสนับสนุนงานผู้บริโภคอีกด้วย
หาปัญหาร่วมของพื้นที่และขับเคลื่อนร่วมกัน
วิศิษฎ์ ยี่สุ่นทอง ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช. เขต 6 ระยอง กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรมากมายที่ทำเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานและทำงานร่วมกันระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ ยกตัวอย่าง การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ มีหน่วยงานที่เป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบ หรือสภาวิชาชีพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น และหน่วยงานที่ดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมถึงกรมสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ดูแล และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วิศิษฎ์ แนะนำว่า การขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ คนในชุมชนต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหาประเด็นปัญหาเร่งด่วนของพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงแนวทางการแก้ไข และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พลังของผู้บริโภค” หากต่างคนต่างทำ หรือแต่ละองค์กรขับเคลื่อนคนละประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรเล็ก ๆ ก็ยากที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานคือ ‘รู้เขา รู้เรา’ ถ้าไม่รู้เขาไม่รู้เรารบ 100 ครั้งแพ้ 100 ครั้ง การคุ้มครองผู้บริโภค จำเป็นต้องรู้เขา คือ รู้จักองค์กรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค คนทำงานด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ควรรู้ให้ครบ และต้องรู้เรา คือรู้ว่าศักยภาพที่จำเป็นคืออะไร เป้าหมาย ภารกิจ มาตรฐานของเราคืออะไร และจะดำเนินการอย่างไรทั้งเชิงรุกและเชิงรับเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะรวมกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ารวมกันได้ และเห็นเป้าหมายเดียวกัน และผลักดันงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดพลังและนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน” วิศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย
แนะขยายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสู่ระดับตำบล
สุธีรา ผ่องใส ชมรมธีราธรเพื่อคนพิการ ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวันและอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น เช่น กรณีการหลอกลวงทางโทรศัพท์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีโอกาสพูดคุยกับตำรวจทำให้ทราบว่า มีผู้บริโภคไปแจ้งความทุกวัน และในฐานะคนทำงานในพื้นที่ก็รับทราบปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค และตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถใช้และปกป้องสิทธิของตัวเองได้
นอกจากนี้ สุธีรายังสะท้อนปัญหาในเรื่องการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผู้บริโภคของหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยากทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างกรณี ‘เปิดก่อนจ่าย’ ซึ่งมีข่าวตามสื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจว่า สามารถเปิดได้ทันทีตั้งแต่วันที่ได้เห็นข่าว แต่เมื่อขอใช้สิทธิกลับถูกปฏิเสธและได้ทราบว่า กฎหมายจะบังคับใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2567 การทำงานภาคประชาชน สิ่งสำคัญคือทำอย่าไรให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง การทำงานในพื้นที่ ใครมีปัญหาเรารู้กันหมด แต่ไม่เกิดการแก้ไข
ทั้งนี้ สุธีรา ได้เสนอแนวทางการทำงานสำหรับสภาผู้บริโภค ทั้งในทางปฏิบัติและระดับนโยบาย โดยระบุว่า หากจะขยายการคุ้มครองผู้บริโภคลงในพื้นที่จำเป็นต้องขับเคลื่อน 3 เรื่อง ได้แก่ คน กลไก กระบวนการ โดยต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้ไปถึงคนที่อยู่ข้างล่างมากที่สุด อาจสื่อสารผ่านกระบวนการอบรมหรืออื่น ๆ และหากเป็นไปได้ควรขยายให้มีองค์กรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ในทุกตำบล อีกทั้งต้องมีการหนุนเสริมองค์ความรู้ มีกลไกการทำงาน และการติดตามงาน เชื่อมโยงไปถึงข้อเสนอระดับนโยบาย สภาผู้บริโภคควรจะเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เนื่องจาก พอช. กระจายอยู่ในตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภค