กมธ. ไอซีที เปิดรายงานผลตรวจสอบสถานะ นพ. สรณ ประธานกสทช. พบขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย กสทช. จริง ด้านสภาผู้บริโภคกดดันวุฒิสภาปลด นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งกรรมการและประธาน กสทช.
จากกรณีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาและเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ ศ. คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น
ล่าสุด เว็บไซต์วุฒิสภา ได้เผยแพร่ “บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ครั้งที่ 17/2567” โดยในเนื้อหาบันทึกสรุปได้ว่า ศ.คลินิก นพ. สรณ มีลักษณะต้องห้ามจริง ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 และมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 20
ทั้งนี้ เป็นการสรุปรายงานจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้รับฟังในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งในรายละเอียดของรายงานได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบและการรวบรวมข้อมูล พบว่า ก่อนที่ ศ.คลินิก นพ.สรณะ สมัครเข้ารับการสรรหากรรมการ กสทช. ยังมีตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ โดย ศ.คลินิก นพ. สรณ เพิ่งลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. ในวันที่ 8 มกราคม 2565
การที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่อง รามาชาแนล (Rama Channel) ก่อนเข้ารับสมัครเป็นกรรมการ กสทช. จึงมีผลให้มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 ข. (12) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องลาออกจากการเป็นผู้บริหาร หรือพนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนสมัครเข้ารับการสรรหา ซึ่งหากรวมถึงมาตรา 8 และมาตรา 26 ประกอบมาตรา 18 และ มาตรา 20 ได้กำหนดว่า การมีคุณสมบัติต้องห้ามต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการโดยให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง และให้วุฒิสภาเลือกกรรมการใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้เคยวินิจฉัยแล้วว่า ศ. คลินิก นพ. สรณ ไม่มีลักษณะต้องห้ามและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเป็นที่สุดก็ตาม แต่รายงานชิ้นนี้ได้ชี้ว่า ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้สิทธิทางศาลโดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสรรหาหรือฟ้องคดี ต่อศาลปกครองได้ภายในเวลาที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้วุฒิสภาดำเนินการตามข้อพิจารณาและความเห็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย กสทช. ย่อมจะส่งผลให้ ศ.คลินิก นพ.สรณฯ ต้องพันจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งประธาน กสทช. ในคราวเดียวกันด้วย