สภาผู้บริโภคแนะผู้กู้สินเชื่อรถยนต์ที่ “หนี้มีปัญหา” ให้รีบ รีไฟแนนซ์ – นำรถยนต์ไปคืน ก่อนถูกยึด
จากกรณีที่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ออกมาเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้น โดยช่วงไตรมาสแรก (เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม) 2566 มีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด ประมาณ 450,000 บัญชี และบัญชีหนี้เสียอีกประมาณ 550,000 บัญชี จึงมีความเสี่ยงว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2566 อาจจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน นั้น (อ่านข่าวได้ที่ : เครดิต บูโร เตือนหนี้เสียรถยนต์พุ่ง เสี่ยงถูกยึดรถ 1 ล้านคัน)
วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) โชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขกรณีหนี้มีปัญหาว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำอันดับแรกคือประเมินความสามารถในการจ่ายหนี้ของตัวเองโดยแบ่งเป็นสองกรณี คือ กรณีที่หนึ่ง ผู้บริโภคมั่นใจว่าในอนาคตเราสามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไหวแน่นอน โดยไม่ต้องค้างชำระค่างวด เพราะประเมินแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะ “หนี้มีปัญหา” ในปัจจุบันเกิดขึ้นเพียงเพียงชั่วคราว หรือระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หรือกรณีที่สอง ผู้บริโภคประเมินแล้วว่าผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไม่ไหว
โชติวิทย์ อธิบายว่า สำหรับกรณีแรก คือผู้บริโภคที่มั่นใจว่าในอนาคตเราสามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไหวแน่นอน โดยไม่ต้องค้างชำระค่างวด แนะนำให้แจ้งความต้องการ “ปรับโครงสร้างหนี้” หรือ “รีไฟแนนซ์” กับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้คือ จะช่วยยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนเงินค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลดลง แต่มีข้อเสียคือ ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการผ่อนที่มากขึ้น อีกทั้งหากผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจถูกยึดรถและต้องเสียปรับเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรณีที่สอง คือ ผู้บริโภคที่ประเมินแล้วว่าผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไม่ไหว แนะนำให้นำรถไปคืนไฟแนนซ์ โดยตอนส่งมอบให้ถ่ายรูปรถยนต์และประเมินสภาพรถไว้ รวมทั้งต้องมีหลักฐานการคืนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ข้อดีของการนำรถยนต์ไปคืนคือ ในกรณีที่ผู้บริโภคเอารถไปคืนโดยไม่ผิดสัญญา (ไม่ได้ค้างชำระหนี้เกิน 3 งวดติดต่อกัน) ไฟแนนซ์จะเรียกค่าส่วนต่างไม่ได้
โชติวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับผู้บริโภคที่กำลัง “เลี้ยงงวด” หรือใช้วิธีค้างชำระหนี้ 1 – 3 งวดอยู่เป็นระยะ แนะนำให้รีบแก้ไขปัญหาตามคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเมื่อมีการค้างชำระหนี้ 1 ครั้ง ไฟแนนซ์จะคิดค่าทวงถามหนี้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ด้วย นั่นแปลว่า เมื่อผ่อนชำระค่ารถยนต์จนหมด ไฟแนนซ์จะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากผู้บริโภค ก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่มากกว่าดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์แน่นอน นอกจากนี้หากเกิดกรณีการค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน ถือว่าผู้บริโภคผิดสัญญา ไฟแนนซ์สามารถบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ได้ รวมทั้งสามารถเรียกค่าส่วนต่าง ค่าธรรมเนียม และค่าทวงถามหนี้ได้อีกด้วย
#ภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค
เงินค่าส่วนต่างจากการขายทอดตลาด คิดยังไง?
หลายคนอาจสงสัยว่าหากรถตนเองโดนยึดและมีการขายทอดตลาด การคิดเงินค่าส่วนต่างจากการขายทอดตลาดเขาคิดกันอย่างไร? โดยพื้นฐานการคำนวนเงินค่าส่วนต่าง เป็นดังนี้
เงินค่าส่วนต่าง = (ราคารถยนต์รวมดอกเบี้ย – จำนวนเงินที่ผ่อน) – จำนวนเงินที่ไฟแนนซ์เอารถเราไปขายทอดตลาด
ยกตัวอย่าง เช่น จำนวนเงินทั้งหมดที่เราต้องจ่ายให้ไฟแนนซ์ (ราคารถยนต์ + ดอกเบี้ย) คือ 700,000 บาท ผ่อนชำระ 60 งวด งวดละ 11,667 บาท เราผ่อนไปแล้ว 10 งวด คิดเป็นเงิน 116,670 บาท เหลือจำนวนเงินที่ต้องผ่อนอีก 583,330 บาท เมื่อไฟแนนซ์ยึดรถเรา และนำไปขายทอดตลาดได้ในราคา 350,000 บาท นั่นแปลว่าค่าส่วนต่างอีก 233,330 ผู้บริโภคต้องเป็นคนจ่าย และอาจมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆซึ่งผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับผิดชอบเช่นกัน