เตือนภัย : เพจหลอกขายกล่องสุ่ม จ่ายเงินหลักร้อย ได้ของหลักล้าน (อาจ) ไม่มีจริง
‘กล่องสุ่ม’ เป็นกลยุทธ์การขายที่ได้รับความนิยมมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการได้โฆษณาร้านและสินค้าไปในตัว ส่วนผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าที่มูลค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ไม่หวังดีที่สร้างเพจขายกล่องสุ่มปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเงินจากผู้บริโภค โดยใช้สินค้าที่มีมูลค่าสูง ๆ มาจูงใจ
ดังเช่น กรณีที่มีผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อของจากเพจ ‘พิมรี่พาย แม่ค้าใจบุญ’ ซึ่งเป็นเพจหลอกขายกล่องสุ่ม โดยจะโพสต์เนื้อหาในลักษณะที่ให้ผู้บริโภคจ่ายเงินหลักร้อยหรือหลักพัน และโฆษณาว่าผู้บริโภคจะได้รับของที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายไป เช่น จ่ายเงิน 999 บาท แต่ของที่จะได้รับในกล่องสุ่ม มีตั้งแต่เงินสด ทองคำ โทรศัพท์ iPhone จักรยานยนต์ ที่มูลค่าตั้งแต่ 10,000 – 1,000,000 บาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงต้องการชวนผู้บริโภคมาดูว่า ‘สิ่งที่ต้องตรวจสอบเบื้องต้นก่อนซื้อกล่องสุ่ม’ มีอะไรบ้าง
1) ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า
เลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เช่น ร้านค้าต่าง ๆ ที่มีหน้าร้านบนห้างสรรพสินค้า มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง หรือร้านอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าอย่างกว้างขวาง ว่าสินค้าดี มีคุณภาพจริง เป็นของแท้ และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
สำหรับลักษณะของร้านที่สามารถตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นเพจหลอกขายกล่องสุ่มปลอม คือ ร้านค้าที่ขายกล่องสุ่มในราคาถูกกว่าราคาจริง โดยส่วนมากจะขายในราคา 999 บาท และเป็นเพจหรือร้านค้าที่เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน
2) มีการระบุราคาและแบรนด์ของสินค้าที่จะใส่ในกล่องสุ่มไหม
ผู้บริโภคควรเลือกร้านค้าที่ระบุราคาจริง หรือราคาโดยประมาณ ของสินค้า รวมถึงแบรนด์ของสินค้าที่ใส่รวมมาให้ในกล่องสุ่ม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ว่า คุ้มค่ากับการตัดสินใจซื้อหรือไม่ เช่น กล่องสุ่มราคากล่องละ 500 บาท ส่วนสินค้าที่ผู้บริโภคจะได้รับมีมูลค่ารวม 4,000 – 7,000 บาท เป็นต้น โดยเป็นสินค้าของแบรนด์ A, B ,C และ D เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจจะต้องเปรียบเทียบความสมเหตุสมผลของราคากล่องสุ่มกับสินค้าที่ร้านโฆษณาว่าเราจะได้รับด้วย เพราะมิจฉาชีพมักใช้ของรางวัลมูลค่าสูง มาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เช่น กล่องสุ่มมูลค่า 1,000 บาท แต่ของในกล่องสุ่ม คือเงินสด 1 ล้านบาท โทรศัพท์มือถือ iPhone หรือทองคำหนัก 1 บาท เป็นต้น
3) เลือกร้านค้าที่รับประกันสินค้าของแท้ และมีช่องทางให้ตรวจสอบสินค้าได้
4) ร้านค้าแจ้งวันหมดอายุของสินค้าไหม
ถ้าเป็นกล่องสุ่มสินค้าที่มีวันหมดอายุ เช่น ของกิน เครื่องสำอาง น้ำหอม ฯลฯ ร้านค้าควรแจ้งวันหมดอายุของสินค้าด้วย และต้องมีการรับประกันว่า หากสินค้าหมดอายุ ผู้บริโภคจะสามารถนำไปเปลี่ยนหรือคืนได้
5) ตรวจสอบชื่อบัญชีก่อนโอนเงิน
ถ้าเป็นร้านที่มีชื่อเสียง หรือร้านค้าที่เป็นบริษัท ชื่อบัญชีจะต้องเป็นบัญชีของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเพื่อความชัวร์ ก่อนโอนเงินเพื่อซื้อขายสินค้าใด ๆ ผู้บริโภคควรตรวจสอบเลขบัญชีให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นบัญชีที่น่าสงสัยหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ www.ฉลาดโอน.com
ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อกล่องสุ่มหรือซื้อขายออนไลน์ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งไปยังระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ได้ หรือสามารถแจ้งเบาะแสกลโกง ภัยออนไลน์ต่าง ๆ มายัง สอบ.ได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สอบ.จะทำการรวบรวมข้อมูลในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยต่อไป
แจ้งเบาะแส เตือนภัยผู้บริโภค : ระบบแจ้งเบาะแส สภาองค์กรของผู้บริโภค
ร้องเรียนออนไลน์ : แบบฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ สภาองค์กรของผู้บริโภค
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : 02 239 1839
เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ : สภาองค์กรของผู้บริโภค
ไลน์ ออฟฟิศเชียล (Line Official) : @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U