ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แนะผู้บริโภคร้องเรียนออนไลน์ทันที มีโอกาสได้เงินคืนสูง
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอบ.จัดเวทีอบรมเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญรองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง ‘การเเจ้งความออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงออนไลน์’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) สอบ. กล่าวว่า ในเวทีดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในกรณีที่ถูกหลอก ถูกโกงออนไลน์ คือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) ได้เปิดช่องทางแจ้งความผ่านระบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะมีอำนาจในการยับยั้งการทำธุรกรรมบัญชีได้เป็นการชั่วคราว ดังนั้น หากผู้เสียหายแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก จึงต้องการแนะนำให้ผู้บริโภคใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้เท่าทันสถานการณ์
จากการเดินทางไปศูนย์บริหารการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ศปอส. เพิ่มเติมทำให้ทราบว่า คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ สอท.ดูแล สามารถแบ่งได้เป็น 5 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1) หลอกลวงผ่านการซื้อขายออนไลน์ 2) การเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ 3) การโจมตีระบบ 4) การล่วงละเมิดทางเพศโดยใช้สื่อออนไลน์ และ 5) การพนันออนไลน์ โดยปัจจุบัน ศปอส. เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ร้องเรียนที่ศูนย์บริหารการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2.ร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ โทร 1441 และ 3.ร้องเรียนทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ข้อมูลจากทั้ง 3 ช่องทางจะถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์ของศูนย์ฯ เพื่อวิเคราะห์และส่งต่อให้หน่วยงาน หรือสถานีตำรวจท้องที่ดำเนินการต่อ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละหน่วยสามารถเข้าไปดูเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยตัวเองได้
เจ้าหน้าที่ ศปอส. แนะนำว่า เมื่อผู้บริโภครู้ตัวว่าถูกหลอกหรือถูกฉ้อโกงออนไลน์ ให้รีบแจ้งไปยัง ศปอส. โดยเร็วที่สุด เพราะในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 77/2565 เรื่อง การรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ให้อำนาจตำรวจ สอท. ในการยับยั้งการทำธุรกรรมบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ได้เป็นการชั่วคราว
“โดยส่วนใหญ่กระบวนการโอนย้ายถ่ายเทเงินของคนร้ายจะอยู่ในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก ถูกโกงออนไลน์ก็ควรรีบติดต่อ สอท. ทันที เพราะหากสามารถยับยั้งการทำธุรกรรมบัญชีได้ทันก่อนที่การถ่ายเทเงินจะเสร็จสิ้น ก็มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก แต่ถ้ายิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง” เจ้าหน้าที่ ศปอส.ระบุ
สำหรับขั้นตอนในการแจ้งความออนไลน์นั้น ผู้เสียหายสามารถเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ได้เลย หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปหาผู้เสียหายและแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะต้องทำต่อไป ทั้งนี้ หลังจากแจ้งความออนไลน์เรียบร้อยแล้ว สอท. จะประสานกับสถานีตำรวจท้องที่ และผู้เสียหายต้องไปยื่นหลักฐานและลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อประกอบการจัดการเรื่องธุรกรรมและการดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความสะดวก หรือไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา สามารถติดต่อ สอบ.ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081 134 9216, เฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือไลน์ ออฟฟิเชียล (Line OA) @tccthailand หรือติดต่อหน่วยงานประจำจังหวัดของ สอบ.ทั้ง 12 จังหวัดได้ ตามข้อมูลด้านล่าง
ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ (หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่)
โทรศัพท์ : 089 633 1638 - สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา (หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงราย)
โทรศัพท์ : 053 600 416 และ 063 418 4665 - ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา (หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา)
โทรศัพท์ : 084 804 6444 - ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำปาง (หน่วยงานจังหวัดลำปาง)
โทรศัพท์ : 054 222 539 และ 094 878 4139 - ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน (หน่วยงานประจำจังหวัดลำพูน)
โทรศัพท์ : 053 561 137 และ 082 870 3454 - ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดร้อยเอ็ด (หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด)
โทรศัพท์ : 080 015 9440 - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร)
โทรศัพท์ : 02 248 3734 ถึง 37 - หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) (หน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา)
โทรศัพท์ : 080 098 1472 - ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
โทรศัพท์ : 081 875 7299 - สมาคมผู้บริโภคสงขลา (หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา)
โทรศัพท์ : 081 543 5899 - เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล (หน่วยงานประจำจังหวัดสตูล)
โทรศัพท์ : 089 658 7344 - โครงการบริโภคสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี (สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี)
โทรศัพท์ : 080 569 8848