สภาผู้บริโภค ยื่น รมว. พลังงาน ทบทวน – แก้ไขกระบวนการรับฟังความเห็นร่างแผน ‘พีดีพี’ และ ‘ก๊าซแพลน‘ ชี้กระบวนการอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย
จากกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ร่างแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 หรือแผนพีดีพี (PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 – 2580 หรือก๊าซแพลน (Gas Plan 2024) ที่จะมีกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน และมีผลกับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งโดยหน้าที่ สนพ.จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างดังกล่าวในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 23 มิถุนายน 2567 ที่ต้องครอบคลุมทุกภูมิภาค แต่กลับไม่แจ้งสถานที่และระยะเวลาการแสดงควาเห็นให้กับประชาชนทราบในเอกสารประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นตามที่ปรากฏในเว๊ปไซด์และเฟสบุ๊คของ สนพ. ที่เป็นการแสดงความเห็นออนไซด์ ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นนั้น
วันนี้ (13 มิถุนายน 2567) รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ทบทวนและแก้ไขกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อแผนพีดีพี และก๊าซแพลน ของ สนพ. นั้นไม่ถูกต้อง และอาจเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เนื่องจากไม่มีประกาศรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ไม่แสดงรายละเอียดของระยะเวลาและสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นแบบออนไซต์ รวมถึงไม่มีรายละเอียดของแผนพีดีพี – ก๊าซแพลนที่จะรับฟังความคิดเห็น
นอกจากนี้ ยังกำหนดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นที่สั้นกว่า 15 วัน ซึ่งขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 11 สภาผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขอให้พิจารณาตรวจสอบและทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ ของ สนพ. ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและให้จัดรับฟังความคิดเห็นกับสภาผู้บริโภคเป็นการเฉพาะด้วย
นางสาวรสนา กล่าวอีกว่า เนื่องจากแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) 2024 ซึ่งรวมถึงแผนพีดีพี และก๊าซแพลนที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัจจัยหลักของสภาวะโลกเดือด รวมถึงกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต จึงเข้าข่ายที่รัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 “คำถามคือกระทรวงพลังงานจะเร่งรีบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนทั้งสองฉบับนี้ไปเพื่อใคร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ปล่อยให้ล่าช้ามามากกว่า 2 ปี เราคาดหวังว่า กระทรวงพลังงานในยุครัฐมนตรี พีระพันธุ์ จะให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะมากกว่ายุคก่อน ๆ โดยตอบรับต่อความเห็นของสภาผู้บริโภคตามหนังสือที่สภาผู้บริโภคส่งไป” รสนา กล่าว